แมลงหรือมนุษย์ที่จะครองโลก


            ถ้าพูดถึงคำว่าแมลงนั้นทุกคนต้องบอกเป็นคำเดียวกันว่ารู้จัก  
หลายคนร้องยี้แมลงน่าขยะแขยง น่าเกลียดน่ากลัวไม่ชอบเอาเสียเลยก็ว่าได้  และอีกหลายคนจะบอกว่าแมลงนั้นสวยงามน่ารัก น่าเอ็นดูเมื่อพบเห็นแมลงคราวใดจะต้องจับต้อง ชมความงามทุกครั้งไป ตัวอย่างเช่น ตั๊กแตน ตั๊กแตนตำข้าว  ทับทิมทอง หรือหนอนผีเสื้อ และอื่นๆอีกมากมาย นั่นก็หมายความว่าชอบแมลงเป็นชีวิตจิตใจนั่นอง  ท่านรู้มั้ยว่ามนุษย์กับแมลงนั้นมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาช้านาน ตัวอย่างคือนำแมลงมาปรุงเป็นอาหาร เช่นแมลงดานา แมลงเหนี่ยง  อาศัยแมลงผสมเกสรพืชพรรณที่ปลูกไว้ให้ติดผลและเป็นอาหารมนุษย์ต่อไป
            โดยส่วนลึกท่านรู้จักแมลงดีแล้วหรือยัง มันดำรงชีวิตที่ต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่ การแพร่พันธุ์ การปรับตัวให้อยู่รอดในสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกัน  ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์โดยสิ้นเชิงที่ต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากมายในการดำรงชีวิต  ในอนาคตถ้าหากทรัพยากรธรรมชาติถูกมนุษย์ที่คิดว่าตัวเองนั้นเป็นผู้เจริญใช้ไปจนหมดสิ้นแล้วมนุษย์จะดำรงชีวิตในโลกนี้ด้วยวิธีใด
            ถึงตอนนี้พอจะทราบแล้วว่าแมลงหรือมนุษย์ที่จะสามารถอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ได้อย่างฉลาดตลอดกาล  ลองมาดูสิว่าแมลงนั้นมันมีวิธีการดำรงชีวิตอย่างไรที่มนุษย์ไม่สามารถเลียนแบบได้เลย              




กีฏวิทยา(Entomology)


ชมแมลงสวยๆน่ารักๆ คลิกดูครับ


     กีฏวิทยา (Entomology) เป็นวิทยาศาสตร์สาขาหนึ่งของสัตววิทยา(Zoology) โดยจะศึกษาถึงเรื่องราวรายละเอียดในด้านต่างๆ ของแมลงเองโดยตรง ตลอดจนศึกษาในด้านความสัมพันธ์กับวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ดังนั้นกีฏวิทยาจึงถือว่าเป็นทั้งวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์(Pure Science) และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) การศึกษาวิชานี้จึงเป็นไปอย่างกว้างขวางนอกจากนี้กีฏวิทยายังแบ่งการศึกษาออกเป็นสาขาต่างๆอีกดังนี้



กีฏวิทยาบริสุทธิ์
เป็นสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องราวของแมลงโดยตรงแบ่งเป็นวิชาต่างๆ ดังนี้
Insect Morphology ศึกษาเกี่ยวกับรูปร่าง สัณฐานวิทยาของแมลง
Insect Physiology ศึกษาเกี่ยวกับระบบสรีรวิทยาของแมลง
Immature Insect ศึกษาเกี่ยวกับตัวอ่อนของแมลง
Insect Anatomy ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างภายในของแมลง
Insect Taxonomy ศึกษาเกี่ยวกับการจำแนกชนิดของแมลงดูตัวอย่าง







กีฏวิทยาประยุกต์
เป็นสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับแมลงที่มีประโยชน์ ในด้านมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับ การดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังนี้
Medical and Veterinary Entomology ศึกษาเกี่ยวกับแมลงที่ใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ และ   
                                                               สัตวแพทย์
Insect Pest of Horticulture ศึกษาเกี่ยวกับแมลงศัตรูพืช และแมลงที่ช่วยในการกำจัดศัตรูพืช
Forest Entomology ศึกษาเกี่ยวกับแมลงที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ ของป่า
Apiculture ศึกษาเกี่ยวกับเทคนิคการเพาะเลี้ยงผึ้งชนิดต่างๆ โรคของผึ้ง และศัตรูของผึ้ง เพื่อนำไป           
                   พัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ
Insect Transmission of Plant Disease ศึกษาเกี่ยวกับแมลงที่เป็นพาหะ ทำให้เกิดโรคต่างๆ ในพืช




ลักษณะทั่วไป

ลักษณะทั่วไปของแมลงคือมีลำตัวยาวหรือค่อนข้างยาว ลำตัวทั้งสองด้านซ้ายขวามีลักษณะเหมือนกันและเท่ากัน ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายใหญ่หรือเล็กกว่า แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนหัว (head) , ส่วนอก (thorax) และส่วนท้อง (abdomen) โดยลักษณะของอวัยวะส่วนหัวประกอบไปด้วยตา หนวดและปาก กะโหลกศีรษะมีรอยต่อหรือเส้น ใช้สำหรับแบ่งเป็นพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่




หัว ประกอบไปด้วนส่วนประกอบต่าง ๆ ดังนี้
        ส่วนหัว ประกอบไปด้วยสันกะโหลก(Vertex   คือบริเวณพื้นที่ตั้งแต่ส่วนหัวของแมลง 
นับตั้งแต่พื้นที่ส่วนที่อยู่ระหว่างตาทั้งสองข้างไปจนถึงด้านหลังของตา
         ส่วนหน้า( Frons ) คือบริเวณพื้นที่ที่อยู่ทางด้านหน้าของกะโหลกศีรษะของแมลง
 อยู่ระหว่างเส้นรูปตัว Y ที่มีลักษณะเป็นตัว Y กลับหัว ในบริเวณพื้นที่ส่วนนี้เรียกว่า "เส้นทับกะโหลกศีรษะ"
         ส่วนริมฝีปากบน(Clypeus)  คือบริเวณพื้นที่ระหว่างส่วนหน้ากับริมฝีปากส่วนบน 
ในส่วนนี้จะมีเส้น frontoclypeal suture เป็นตัวแบ่งออกจากส่วนหน้า
         ส่วนแก้ม(Gena)  คือพื้นที่ทางด้านข้างของกะโหลกใต้ตารวม
         ส่วนฐานกะโหลก(Occiput)  คือบริเวณพื้นที่ทางด้านหลังของกะโหลกศีรษะของแมลง
 ซึ่งพื้นที่ตรงจุดนี้จะแยกออกจากสันกะโหลกและแก้มอย่างชัดเจน ในส่วนนี้จะมีเส้น occipital suture เป็นเส้นแบ่ง
         ส่วนฐานกะโหลกทางส่วนหลัง(Post Occiput) คือบริเวณพื้นที่ส่วนที่เชื่อมติดกับลำคอ
 และแยกออกมาจากฐานกะโหลก โดยมีเส้น post occipital suture เป็นเส้นแบ่ง
ตา ตาของแมลงมีอยู่ 2 ชนิดคือตาแบบรวมและตาเดี่ยว ตาแบบรวมของแมลงจะมี 2 ตา แต่ตาเดี่ยวจะมีจำนวนตาที่แตกต่างกันออกไปตามแมลงแต่ละชนิด และมักจะปรากฏอยู่ในแมลงทั้งในช่วงระยะฝักตัวเป็นตัวหนอน เป็นตัวอ่อนและตัวเต็มวัย แมลงแต่ละชนิดจะมีตาที่ไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่มักจะมีตาเดี่ยว 3 ตาเรียงติดต่อกันเป็นรูปสามเหลี่ยมเหนือศีรษะ อยู่ระหว่างตารวมทั้งสองข้าง แต่ในแมลงบางชนิดก็อาจจะไม่พบว่ามีตาเดี่ยวรวมอยู่ด้วย

หนวด หนวดของแมลงจะมีอยู่ 2 เส้น ใช้สำหรับสัมผัสและดมกลิ่น ส่วนมากหนวดของแมลงมักจะอยู่ระหว่างตารวมหรืออยู่ต่ำกว่าตารวมเพียงเล็กน้อย สามารถเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างอิสระ เพราะหนวดทั้ง 2 เส้นจะติดอยู่กับศีรษะของแมลงตรงช่องหนวด โดยมีแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ เป็นตัวเชื่อมติดกันเอาไว้

ปาก ปากของแมลงมีหลายรูปแบบตามแต่ชนิดของแมลง แต่ปากแบบพื้นฐานคือปากแบบกัดกินเช่น ปากของตั๊กแตน ลักษณะปากแบบกัดกินจะมีริมฝีปากบนปิดส่วนประกอบอื่น ๆ ของปากเอาไว้ มีกรามเป็นอวัยวะที่มีลักษณะแข็งแรงสำหรับบดเคี้ยวอาหาร มีเส้นที่คล้ายกับหนวดยื่นออกมาจากปากข้างละ 2 เส้น คู่แรกคือ maxillary palps ซึ่งจะยึดติดแน่นอยู่กับฟัน และคู่ที่สองคือ labial palps ซึ่งจะยึดติดแน่นอยู่ที่ริมฝีปากล่าง และมีส่วนที่เหนือริมฝีปากบนขึ้นไป ซึ่งจะมีแผ่นสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า clypeus สำหรับเป็นฐานยึดติดริมฝีปากส่วนบนเอาไว้


คอ คอของแมลงจะเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างหัวกับอก มีลักษณะอ่อนไม่แข็งเหมือนกับอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย ประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อแบบบาง ๆ และกล้ามเนื้อ ซึ่งจะทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนหัวและส่วนอกของแมลง
อก อกของแมลงจะอยู่ระหว่างส่วนหัวและส่วนท้อง สามารถมองเห็นได้จากขาและปีกของแมลง เนื่องจากอกเป็นตำแหน่งที่ตั้งของอวัยวะที่ใช้ในการเคลื่อนไหวของขาและปีก ประกอบไปด้วยปล้องจำนวน 3 ปล้องคืออกปล้องแรก, อกปล้องกลางและอกปล้องหลัง โดยปกติแล้วอกของแมลงส่วนใหญ่ในแต่ละปล้องจะมีขา 1 คู่ ตามธรรมชาติแล้วแมลงบางชนิดจะไม่มีขา เพราะขานั้นได้เสื่อมหายไป ตามปกติแล้วขาที่ยึดติดกับอกปล้องแรกคือขาคู่หน้า ส่วนขาที่ติดกับอกปล้องกลางคือขาคู่กลาง และขาที่ติดกับอกปล้องหลังคือขาคู่หลัง ในแมลงที่เจริญเติบโตเต็มที่ ส่วนใหญ่จะมีปีกติดอยู่ที่บริเวณอกปล้องกลางกับอกปล้องหลังอย่างละคู่ ปีกในส่วนอกปล้องแรกของแมลงทุกชนิดจะเรียกว่าปีกคู่หน้า และเรียกปีกของอกปล้องหลังว่าปีกคู่หลัง

ท้อง ท้องของแมลงตามปกติแล้วจะมีทั้งหมด 11 ปล้อง แต่ปล้องที่ 11 จะมีลักษณะที่เล็กมากจนมองเห็นได้ยากหรือมองแทบไม่เห็น ทำให้มองเห็นท้องของแมลงเพียงแค่ 10 ปล้องหรือไม่เกิน 10 ปล้องเท่านั้น แต่ก็ยังมีแมลงบางชนิดที่มีจำนวนปล้องท้องน้อยกว่านี้ แมลงส่วนใหญ่เมื่อเจริญเติบโตกลายเป็นตัวโตเต็มวัย จะไม่มีส่วนขาที่บริเวณท้อง ยกเว้นแต่ในตัวอ่อนของแมลงบางชนิดเช่น หนอนผีเสื้อขาเทียม ที่มีปล้องท้องลักษณะเป็นปล้องคู่ จำนวนปล้องท้องจะแตกต่างกันออกจากตามแต่ประเภทของตัวหนอน ปลายสุดของหางจะมีแพนหาง 1 คู่ ลักษณะคล้ายด้ายเส้นยาวหรือเป็นแผ่นบาง ๆ ใส ๆ พบได้ในตัวเต็มวัย ในเพศเมียจะมีอวัยวะสำหรับวางไข่ที่บริเวณปลายสุดของท้อง ลักษณะเป็นแผ่นหรือแท่งยาวปลายแหลม สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน มีรูหายใจอยู่ที่ทางด้านข้างท้องของแมลง






การแพร่พันธุ์
     แมลงส่วนใหญ่แพร่พันธุ์โดยการวางไข่ ไข่เหล่านั้นได้รับการผสมจากเชื้ออสุจิของตัวผู้ ที่ตัวผู้จะผสมกับตัวเมีย ก่อนวางไข่ มีแมลงเป็นส่วนน้อยที่วางไข่โดยไม่ต้องผสมกับตัวผู้ และไข่เหล่านั้น สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย ออกลูกหลานสืบต่อกันไปได้ เช่น ตั๊กแตนกิ่งไม้ แมลงบางพวก เช่น เพลี้ยอ่อน ออกลูกเป็นตัว โดยไม่มีการผสมกับตัวผู้ แมลงเหล่านี้จึงมีตัวผู้น้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย แมลงบางพวกจะวางไข่ โดยไม่จำกัดสถานที่ ปล่อยให้ไข่ตกไปตามยถากรรม ตั๊กแตนกิ่งไม้ โดยทั่วๆ ไปจะมีนิสัยเช่นนี้ ทำให้ตัวอ่อนที่ฟักออกมาต้องหาอาหารช่วยตัวเอง แมลงมากชนิดจะวางไข่ตามแหล่งที่เป็นอาหารของลูกอ่อน ช่วยให้ลูกอ่อน ที่ฟักออกมามีอาหารกินได้ทันที บางชนิดวางไข่ใบเดี่ยวๆ บนพืชอาหาร กระจายทั่วไป โดยปราศจากสิ่งปกปิด เช่น ผีเสื้อหนอนแก้วส้ม วางไข่ตามใบส้มทั่วๆ ไป นอกจากนี้ก็มีพวกที่วางไข่เป็นกลุ่มอย่างเปิดเผย เช่น มวนลำใย ซึ่งลูกอ่อนที่ฟักออกมา จะอยู่รวมกลุ่มกันระยะหนึ่ง ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป แมลงจำนวนมากวางไข่เป็นกลุ่ม โดยจัดให้ไข่อยู่ใต้สิ่งที่ปกปิดต่างๆ เพื่อช่วยในการอำพรางศัตรู แมลงชีปะขาว ปกปิดไข่ด้วยขนจากปลายท้องแม่ ตั๊กแตนตำข้าว ทำสารเหนียว ซึ่งแข็งตัวหุ้มรอบไข่ที่อยู่ภายใน แต่เวลาเดียวกัน ก็มีแมลงมากชนิด ที่อาศัยธรรมชาติช่วยปกปิดให้ เช่น ตั๊กแตนปาทังก้า วางไข่ซ่อนอยู่ในฝัก และฝังไว้ใต้ผิวดินอีกทีหนึ่ง ทำให้ยากแก่ศัตรูที่จะค้นหาได้พบ

ผีเสื้อหนอนแก้วส้ม

ตั๊กแตนกำลังวางไข่ในดิน
การเจริญเติบโต
      เนื่องจากแมลงมีเปลือกลำตัวแข็ง การเติบโตของร่างกายจึงมีจำกัด เมื่อร่างกายโตจนคับเปลือก แมลงจะโตต่อไปไม่ได้ ก็ จะต้องลอกเปลือกลำตัวเก่าทั้ง และสร้างเปลือกลำตัวใหม่ให้โตกว่าเดิม แมลงจึงเจริญเติบโตไปได้เราเรียกกันว่า การลอกคราบ (moulti ng, ecdysis) การลอกคราบแต่ละครั้ง ก็จะทำให้แมลงโตขึ้นไปด้วย แมลงทุกชนิดจึงมีการลอกคราบ เพื่อการเจริญเติบโต โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (metamorphosis) อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตโดยวิธีลอกคราบ และมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างนี้ก็มีแตกต่างกันไป 
แมลงบางพวกบางเหล่า เมื่อลูกฟักออกจากไข่ จะมีลักษณะเหมือนกับพ่อแม่ จนแยกแทบจะไม่ออกว่า มีส่วนไหนที่ต่างไปจากพ่อแม่เรียกได้ว่า แมลงเหล่านี้มีการเจริญเติบโตแบบไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (ametabola, non-meta-morphosis) ซึ่งจะเห็นได้จากแมลงพวกตัวสองง่าม และสามง่าม เป็นต้น 
แมลงบางพวกเมื่อลูกฟักออกจากไข่ จะมีลักษณะคล้ายพ่อแม่ มีความแตกต่างอยู่บ้าง ที่จะสังเกตเห็นได้ว่า ไม่เหมือนพ่อแม่ เช่น ปีกยังไม่เจริญออกมาให้เห็นเต็มที่เหมือนพ่อแม่ ยังคงเห็นเป็นติ่งอยู่เท่านั้น เรามักนิยมเรียกลูกแมลงประเภทนี้ว่าตัวอ่อน (nymph) แมลงพวกนี้ได้แก่ ตั๊กแตน แมลงสาบ แมลงดานา มวน เป็นต้น เรียกว่า มีการเจริญเติบโตแบบ การเปลี่ยนแปลงรูปร่างน้อย (gradual metamorp hosis, paurometabola) 
สำหรับพวกแมลงปอนั้น พวกตัวอ่อนอาศัย อยู่ในน้ำ ในขณะที่ตัวที่โตเต็มที่อาศัยอยู่บนบก ตัวอ่อนยังคงลักษณะให้เห็นว่า คล้ายแมลงที่โตเต็มที่ เช่น ร่างกายแบ่งเป็นส่วน ๓ ส่วน มีขา ๖ ขา แต่รูปร่างลักษณะแตกต่างไปจากพ่อแม่โดยสิ้นเชิง เช่น ตัวอ้ายโม่ง หรือแมลงปิดหน้า อี่นิ่ว ละงำ หน้าง้ำ ซึ่งเป็นตัวอ่อนของแมลงปอ อาศัยอยู่ ในน้ำมีรูปร่างลักษณะต่างไปจากแมลงปอซึ่งอาศัย อยู่บนบกโดยสิ้นเชิง จัดเป็นการเจริญเติบโตแบบ การเปลี่ยนแปลงรูปร่างกึ่งสมบูรณ์ (incomplete metamorphosis, hemimetabola)


ก. แมลงปอขณะผสมพันธุ์
ข-ง : ขั้นตอนการลอกคราบของแมลงปอ 

      นอกจากนี้ยังมีพวกที่ลูกมีการเจริญเติบโต โดยมีรูปร่างที่ผิดแปลกไปจากพ่อแม่โดยสมบูรณ์ เช่น ผีเสื้อ ด้วย แมลงวัน เมื่อยังเล็กอยู่มีรูปร่างเหมือนตัวหนอน ดูไม่ออกว่า เป็นแมลง มีวิถีชิวิต และความเป็นอยู่ ตลอดจนอาหาร ที่แตกต่างไปจากพ่อแม่โดยสิ้นเชิง ก่อนจะเป็นตัวเต็มวัยก็เข้าดักแด้ รูปร่างของดักแด้ก็ต่างออกไปจากหนอนและตัวเต็มวัย แมลงเหล่านี้จัดว่ามีการเ จริญเติบโตแบบ การเปลี่ยนแปลงรูปร่างสมบูรณ์ (Complete metamorphosis, holometabola) พวกนี้จึงมีขั้นตอนการเจริญเติบโต ๔ ระยะคือ ระยะไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย 
     พวกสุดท้ายเป็นพวกที่มีการเจริญเติบโตแบบ การเปลี่ยนแปลงรูปร่างขั้นสูง (hypermetamorphosis) ซึ่งมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเหมือนกับแบบสมบูรณ์ต่างกันที่ในระยะที่ฟักออกจากไข่ จะมีรูปร่างเป็นตัวอ่อน มีร่างกายแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ หัว อกและท้อง มีขา ๓ คู่ แต่เมื่อลอกคราบแล้ว ต่อไปจะมีลักษณะเป็นตัวหนอน ก่อนที่จะเข้าดักแด้แมลงพวกนี้จึงมีขั้นตอนการ เจริญเติบโตเป็น ๕ ระยะคือ ระยะไข่ ตัวอ่อน ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย


การดูแลรักษาลูก

     ส่วนใหญ่พ่อแม่ของแมลงไม่มีการเลี้ยงดู ปล่อยให้ลูกหากินช่วยตัวเอง แมลงส่วนใหญ่จึงวางไข่ หรือออกลูก ที่แหล่งอาหาร หรือบริเวณที่มีอาหารให้ลูก แมลงส่วนน้อยที่มีการดูแลช่วยเหลือลูก เช่น แมลงดาสวน ตัวเมียจะวางไข่เป็นแผงติดแน่นบนหลังตัวผู้ เมื่อตัวผู้ว่ายน้ำไป ณ ที่ใด ก็เท่ากับพาไข่ติดไปด้วย ไข่จึงรอดพ้นจากศัตรู แมลงดานาจะคอยเฝ้ารักษากลุ่มไข่ ที่ตัวเมียวางติดไว้กับต้นพืชในน้ำ ไม่ยอมให้ศัตรูเข้ามาทำลาย รวมทั้งคอยไล่ตัวเมีย ที่อาจจะเข้ามากินไข่ของตัวเองด้วย จนกระทั่งตัวอ่อนฟักออกจากไข่แล้ว จึงละทิ้งไป แมลงหนีบจะฝ้าดูแลรักษาตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ จนกระทั่งโตพอสมควรที่จะช่วยตัวเองได้แล้ว จึงจะแยก ตัวไป 


แมลงดานามีไข่อยู่ที่หลัง

     อย่างไรก็ตาม แมลงหลายพวกเสาะหาที่ทำรัง หรือสร้างรังอย่างแข็งแรง สำหรับป้องกันภัยให้ลูก และหาอาหารมาเก็บไว้ให้ ลูกกิน เช่น ผึ้งกรวย จะเที่ยวเสาะหารูขนาดพอเหมาะ เช่น รูที่แมลงอื่นเจาะทิ้งร้างไว้ หรือรูที่คนทำขึ้น เช่น รูกุญแจที่โต๊ะ หรือรูกลอนประตู รูท่อยางที่ถูกทิ้งไว้ เมื่อได้ที่แล้ว จะบินออกไปกัดใบไม้เป็นแผ่นเกือบกลม นำมาห่อเป็นกรวย รองกันหลายชั้นในรู เพื่อเป็นรัง นำเกสรดอกไม้มาบุรังจนเพียงพอ ที่จะเป็นอาหารให้ลูกอ่อน ซึ่งฟักออกจากไข่กิน จนเจริญเติบโตเต็มที่ได้ส่วน ผึ้งหลอดนั้นทำรังแบบเดียวกัน แต่จะกรุรังด้วยดินเหนียว หรือดินผสมยางไม้ ก่อนที่จะขนใบไม้มากรุรัง หมาร่าจะขนดินเหนียวมาสร้างรังให้แข็งแรง จนเสร็จเสียก่อนจะไปหาตัวหนอน ที่เป็นอาหารของลูกอ่อน โดยต่อยให้สลบ แล้วขนมาใส่ในรังที่เตรียมไว้ ก่อนที่จะวางไข่ลงไปบนตัวหนอนที่สลบนั้น แล้วจึงปิดรัง เพื่อให้ลูกน้อยที่ฟักออกจากไข่ได้กินตัวหนอนที่อยู่ในรัง จนเจริญเติบโตได้อย่างปลอดภัย แมลงเหล่านี้จึงมีชีวิตอย่างโดดเดี่ยว





     แมลงที่รวมตัวกันอยู่เป็นฝูงช่วยกันทำรัง หาอาหารเลี้ยงลูกอ่อน จัดเป็นแมลงที่มีความเป็นอยู่แบบสังคมชั้นสูงนั้น ได้แก่ ต่อ แตน ผึ้ง ชันโรง มด และปลวก ในรังๆ หนึ่ง จึงอาจจะพบแมลงเหล่านี้เป็นพัน เป็นหมื่น หรือนับแสนตัวก็มี แมลงเหล่านี้มีการแบ่งชั้นวรรณะ กล่าวคือ ในแต่ละรัง
 ตัวอ่อนเจริญเมื่อโตเต็มวัย มีรูปร่างไม่เหมือนกัน และทำหน้าที่ต่างกัน มีวรรณะตัวผู้ วรรณะตัวเมีย วรรณะกรรมกร และวรรณะทหาร พวกต่อหลวง ต่อหัวเสือ แตนลิ้นหมา ผึ้งโพรง ผึ้งหลวงผึ้งเลี้ยง และชันโรง เป็นต้น มีตัวผู้ขนาดย่อมกว่าตัวเมียทำหน้าที่ ผสมพันธุ์ ตัวเมียที่จะเป็นแม่รังเมื่อผสมพันธุ์ และวางไข่ซึ่งจะฟักเป็นตัวแพร่ลูกหลานต่อไป ส่วนพวกวรรณะกรรมกรหรือลูกรังนั้นคือตัวเมีย ที่เป็นหมัน มีขนาดตัวเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย ทำหน้าที่สร้างรัง หาอาหารมาเลี้ยงตัวอ่อน และคอยเฝ้าระวังศัตรู โดยมีเหล็กในที่ต่อยให้เจ็บปวดถึงตายได้ ต่อ แตน และผึ้ง เหล่านี้ ไม่มีวรรณะทหารที่จะมีรูปร่างผิดแปลกออกไป เพราะพวกวรรณะกรรมกรทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว โดยปรกติในรังแต่ละรังของต่อและผึ้งดังกล่าวข้างต้น จะมีตัวเมียตัวเดียว ซึ่งเป็นแม่รัง ที่เหลือเป็นลูกรัง ซึ่งเป็นวรรณะกรรมกร จะพบตัวผู้ก็ เฉพาะเมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์หรือแยกรัง ต่อและ แตนชนิดที่กล่าวข้างต้นไม่มีการเก็บสำรองอาหาร ไว้ในรัง ฉะนั้น เมื่อแหล่งอาหารขาดแคลน ก็ จำเป็นที่จะต้องแยกรังออกไปหาแหล่งใหม่เพื่อ สร้างรังใหม่ต่อไป สำหรับผึ้งที่กล่าวข้างต้นและ ชันโรงมีการเก็บสำรองอาหารซึ่งเป็นน้ำผึ้งและ เกสรดอกไม้ไว้ในรวงรัง โดยแบ่งสัดส่วนเอา ไว้เป็นที่เก็บสำรองโดยเฉพาะ มนุษย์เราได้อาศัย น้ำผึ้งที่เก็บสำรองเหล่านี้มาเป็นอาหารอีกทีหนึ่ง ส่วนผึ้งมิ้มมีวรรณะและความเป็นอยู่เช่นเดียวกับ ผึ้งอื่น ๆ ที่กล่าวข้างต้น ผิดกันแต่ว่าผึ้งงานซึ่ง เป็นวรรณะกรรมกรไม่มีต่อมน้ำพิษ และเหล็กใน ที่จะใช้ป้องกันตัว ชอบทำรังตามกิ่งไม้ซึ่งค่อน ข้างเปิดเผย จึงมักจะถูกทำลายโดยมนุษย์และ ศัตรูอื่นๆ ได้ง่าย ต้องย้ายรังหลีกหนีบ่อยๆ



    ในกรณีของมดและปลวก นอกจากจะมีวรรณะตัวผู้ ตัวเมีย กรรมกรแล้ว ยังมีวรรณะทหาร ซึ่งมักจะมีร่างกายใหญ่โตผิดสัดส่วน เมื่อเทียบกับวรรณะกรรมกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของรวงรัง ดังจะเห็นได้จากมดง่ามและปลวกโดยทั่วไป เป็นต้น พวกนี้มักจะมีหัวโต ผิดสัดส่วนกับอกและท้อง มีขากรรไกรหน้ารูปร่างคล้ายเขี้ยวใหญ่ เป็นที่น่าเกรงขามของศัตรู พวกวรรณะทหารเหล่านี้จะพบได้บ่อยๆ เมื่อเดินไปตามทางปะปนกับวรรณะกรรมกร ปลวกงาน มีความแตกต่างกับมด ผึ้ง ต่อ แตน และชันโรง ที่กล่าวข้างต้น ในแง่ที่ว่า สามารถช่วยทำงานตั้งแต่อายุเยาว์วัย โดยไม่ต้องรอให้เจริญเติบโตเต็มที่ 

     โดยสรุปอาจจะกล่าวได้ว่า แมลงส่วนใหญ่ ที่วิวัฒนาการในการที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมนั้น ยังน้อยอยู่ แต่ก็ยังมีแมลงหลายชนิดหลายพวก ที่มีวิวัฒนาการในทางสังคมสูงมาก ถึงขั้นแบ่งชั้นวรรณะในการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างที่มนุษย์เองก็ไม่สามารถจะทำได้ ทำให้แมลงเหล่านี้มีชีวิตอยู่รอดในโลกมาได้อย่างดี จนถึงสมัยปัจจุบัน

มดแดง


ความสำเร็จในการอยู่ในโลก

     ข้อที่น่าพิศวงก็คือ ทำไมแมลงสามารถปรับตัวให้ไปอาศัยอยู่ในที่ต่างๆ ของโลกได้ โดยเฉพาะในที่หลายแห่ง ที่ยากแก่การดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น ทะเลทราย ในขณะที่มนุษย์อาศัยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ และสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เข้าช่วย แต่แมลงก็มิได้มีสิ่งเหล่านี้ อาศัยแต่ความสามารถภายในตัวของแมลงเอง นอกจากจะพบแมลงในที่ต่างๆ ที่เราไปอาศัยอยู่แล้ว เรายังพบความหลากหลายของแมลงแต่ละชนิด ทั้งรูปร่าง ลักษณะ และนิสัยความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมากมาย จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักวิทยาศาสตร์ว่า ในกระบวนสัตว์ทั้งหลายในโลก แมลงเป็นสัตว์ที่มีมากชนิดที่สุด คือ มีจำนวนมากกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ ชนิด ในขณะที่สัตว์อื่นมีจำนวนนับพัน หรืออย่างมาก ก็นับหมื่นชนิดเท่านั้น อะไรเป็นสาเหตุ ที่ทำให้แมลงประสบความสำเร็จ ในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้มากถึงเพียงนี้ ทั้งนี้น่าจะเกิดจากโครงร่าง และสรีระของแมลง ที่ช่วยให้แมลงมีความสามารถหลายอย่าง หลายประการ เหนือสัตว์อื่น

แมงมุมปรับสีและอดทนต่อสภาพที่แห้งแล้ง

ขนาดของลำตัวที่พอเหมาะ 

     ข้อที่น่าสังเกตประการแรกก็คือ ขนาดของแมลง แม้จะแตกต่างกันมากในหมู่แมลง แต่ก็จัดเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ที่มีขนาดพอเหมาะคือ ส่วนใหญ่จะไม่เล็กจนเกินไป และไม่โตจนเกินไป จัดว่า เป็นส่วนได้เปรียบของแมลง เพราะทำให้แมลงไม่ต้องการอาหารมาก อาหารเพียงน้อยๆ ทำให้แมลงเจริญเติบโตเต็มที่ได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่สัตว์ที่มีร่างกายใหญ่โต ไม่สามารถดำรงชีพ ด้วยอาหารขนาดนี้ได้ นอกจากนี้ขนาดของแมลง ที่พอเหมาะนี้ ช่วยให้แมลงหลบหลีกซ่อนตัวหนีจากศัตรูได้ง่าย ทำให้ยากแก่การถูกทำร้ายถึงชีวิต 

ลักษณะพิเศษของร่างกาย 

     แมลงมีผนังลำตัวหนาและแข็งเป็นเกราะ ช่วยป้องกันน้ำภายในไม่ให้ระเหยออกจากร่างกายได้ง่าย จึงช่วยให้แมลงอยู่ในที่แห้งแล้งกันดารน้ำได้เป็นอย่างดี มีความคงทนต่อความหนาวเย็นของอากาศได้สูง มีระบบการหายใจที่ทรงประสิทธิภาพสูง สามารถนำออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายได้ รวดเร็วทั่วถึง และเผาผลาญทำให้เกิดพลังงาน ได้อย่างเหลือเฟือ แมลงหลายชนิด เช่น มอดแป้ง สามารถอยู่ได้อย่างหนาแน่นในที่ๆ มีออกซิเจนจำกัด เช่น ในขวด มีกล้ามเนื้อที่ทรงประสิทธิภาพสูง และมีส่วนต่างๆ ของร่างกาย ที่เหมาะแก่การใช้งาน ในกลุ่มของแมลงที่มีปีกสามารถกระพือปีกบินได้เร็วอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น แมลงวัน สามารถกระพือปีกด้วยความเร็วประมาณ ๒๐๐ - ๔๐๐ ครั้งต่อวินาที ริ้นน้ำจืดบางชนิด สามารถกระพือปีกด้วยความเร็ว ประมาณ ๑,๐๐๐ ครั้งต่อวินาที ด้วยความเร็วเช่นนี้ เมื่อแมลงบิน เราจะมองไม่เห็นปีกเลย ตั๊กแตนไมเกรตอเรีย สามารถรวมฝูงบินได้เป็นระยะทางไกลๆ นับร้อยกิโลเมตร แมลงวันทอง และเพลี้ยจักจั่น สามารถเคลื่อนย้ายจากหมู่เกาะไต้หวันไปถึงญี่ปุ่น แมลงที่มีปีก จึงมีโอกาสหนีภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า หรือศัตรูอื่นๆ ได้ง่าย และสามารถบินหนีแหล่งที่ขาดอาหาร ไปหาแหล่งอาหารใหม่ได้ดีกว่าสัตว์อื่นที่ไม่มีปีก สามารถไปหากินได้ในถิ่นไกลๆ ช่วยให้แมลงแพร่กระจายไปได้มาก



แมลงปีกแข็งกำลังบิน

     แมลงมีขา ๖ ขา ช่วยให้การเกาะเกี่ยวพยุงตัวได้ดี แมลงสามารถที่จะเกาะตัวบนเพดาน หงายท้องขึ้น เกาะเสากระโดงเรือที่มีลมพัดค่อนข้างแรงได้ โดยไม่หลุดไปง่ายๆ เพราะนอกจากขาที่แข็งแรงแล้ว บางพวกยังมีเล็บที่โค้งแหลม และหนามตามขา ที่ช่วยเกาะเกี่ยวด้วย แมลงสาบ นอกจากจะมีหนามตามขาแล้วยังมีขายาววิ่งได้เร็ว ยากที่เราจะไล่ทัน และมีลำตัวแบนสามารถหลบซ่อนในที่ที่แคบๆ และเกาะตัวในทางดิ่งได้ จิงโจ้น้ำมีขายาวเช่นเดียวกันแต่ปลายขามีขน ละเอียดแน่น น้ำซึมเข้าไม่ได้ ช่วยให้วิ่งบนผิวน้ำ ได้ดีทำให้ศัตรูตามไม่ได้ ตั๊กแตนและหมัดมีขาหลังโตกว่าขาคู่อื่นๆ ทำให้สามารถกระโดดได้สูง หรือกระโดดได้ไกล ๒๐-๓๐ เท่าของความ ยาวของลำตัวซึ่งสัตว์อื่นทำไม่ได้ขนาดนั้น มดมี ขาและขากรรไกรที่แข็งแรงสามารถใช้ขากรรไกร ที่มีลักษณะเหมือนเขี้ยว ลากหรือยกวัตถุ เช่น อาหารที่มีน้ำหนักมากกว่าลำตัวหลายเท่าได้อย่างดี 





     ตาของแมลง ซึ่งมีลักษณะเป็นตารวมมากชนิดโตใหญ่ เมื่อเทียบกับหัว เช่น แมลงวัน แมลงวันหัวเขียว สามารถรับภาพได้ในวงกว้าง และรับภาพที่เคลื่อนไหวได้แม่นยำ ฉะนั้นเมื่อแมลงวันมาเกาะตัวเรา ยากที่เราจะใช้มือตีให้ถูกตัวได้ง่ายๆ แมลงโดยทั่วๆ ไป มักจะมีขนเล็กๆ ตามลำตัวและขา มากหรือน้อยแล้วแต่กรณี แต่ขนเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญคือ รับความสั่นสะเทือน จากภายนอกได้ดี ทำให้แมลงรู้ว่าจะมีอะไรเกิด ขึ้นก่อนที่มนุษย์จะรู้สึก หนวดของแมลงมีขน ช่วยให้แมลงรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของความชื้น ในบรรยากาศ ความเร็วของลม ดมกลิ่นได้จากระยะไกล เช่น หนวดของผีเสื้อตัวผู้ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายฟันหวี หรือทางมะพร้าว สามารถรับกลิ่นของตัวเมีย ซึ่งอยู่ห่างเป็นกิโลเมตรได้ แมลงไม่มีลิ้นสำหรับรับรสเหมือนมนุษย์ แมลงใช้ฝ่าตีนและปาก สำหรับลิ้มรส ดังนั้น ถ้าลองสังเกตแมลงวันที่มาตอมสิ่งของต่างๆ จะเห็นแมลงวัน ยื่นขาออกไปใช้ฝ่าตีนแตะสิ่งของเหล่านั้นบ่อยๆ เพื่อตรวจสอบว่า เป็นอาหารหรือไม่ สารในอาหารมีบทบาทสำคัญในการกินอาหารของแมลงบางชนิดมาก ที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ หนอนไหม กิน เฉพาะใบหม่อน เพราะใบหม่อนมีสารมอริน (morin) ซึ่งพืชอื่นไม่มีหรือมีน้อยมาก ฉะนั้น เมื่อมีการสกัดเอาสารมอรินไปฉีดบนกระดาษก็ สามารถทำให้หนอนไหมหลงผิดกินกระดาษได้




     นอกจากแมลงจะมีส่วนต่างๆ ของร่างกาย คล้ายคลึงกันแล้ว แมลงมากชนิดมีส่วนต่างๆ ของร่างกาย ที่ผิดแปลกออกไป ทำให้เหมาะสมที่จะดำรงชีวิตอยู่ในรูปแบบต่างๆ กัน ดังจะเห็นได้จากปากและขา ที่มีหลายรูปแบบ และมีรูปร่างเหมาะสม ที่จะทำหน้าที่ต่างๆ กัน ดังกล่าวในตอนต้น แมลงที่ไปอาศัยอยู่ในน้ำนอกจากมีส่วน ของร่างกายที่จะช่วยในการว่ายน้ำได้ เช่น ขา แบนคล้ายใบพายแล้ว แมลงหลายชนิดยังมีอวัยวะ ทำหน้าที่คล้ายเหงือก ช่วยในการดูดซึมออกซิเจน จากในน้ำเข้าไปเลี้ยงร่างกาย เช่น แมลงดานา มีหางแบน ๒ หาง ทำหน้าที่เป็นเหงือก ตัวอ่อนของแมลงปอเข็ม มีอวัยวะคล้ายแผ่นใบไม้อยู่ปลายลำตัว ๓ แผ่น และตัวอ่อนของแมลงชีมีอวัยวะเป็นแผ่น หรือเป็นพวงทั้งสองข้างของท้อง และบางครั้งก็พบได้ที่อก ซึ่งทำหน้าที่คล้ายเหงือกทั้งสิ้น แมลงที่ไม่มีเหงือก สำหรับหายใจในน้ำ เช่น แมลงข้าวสาร แมลงตับเต่า หรือแมลงเหนี่ยง เมื่อโผล่ขึ้นผิวน้ำสามารถพาฟองอากาศ ติดตามลำตัวไปหายใจใต้น้ำได้ ส่วนลูกน้ำของยุง ได้แก่ ยุงบ้าน ยุงลาย และยุงก้นปล่อง มีท่อนท้ายของลำตัวยื่นออกไปเป็นท่อ ที่ปลายเป็นรูหายใจ ซึ่งจะต้องหายใจเอาอากาศจากผิวน้ำ ลูกน้ำยุงจึงต้องขึ้นมาบนผิวน้ำบ่อยๆ แต่ลูกน้ำยุงแม่ไก่บางชนิด ท่อหายใจค่อนข้างจะเรียวเล็ก สามารถเก็บฟองออกซิเจนที่พืชใต้น้ำปล่อยออกมาใช้ในการหายใจได้ โดยไม่ต้องโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ

แมลงดานา

ความสามารถในการป้องกันตัว 




     แมลงหลายพวกที่อยู่รอดชีวิต หลบหลีกจากศัตรูได้ เพราะมีรูปร่างลักษณะ เลียนแบบสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เช่น ตั๊กแตนใบไม้ และตั๊กแตนกิ่งไม้ มีรูปร่าง และสีสันของลำตัว คล้ายใบไม้ และกิ่งไม้ ที่แมลงนั้นอาศัย ทำให้ศัตรู เช่น นก มองเห็นได้ยาก แมลงหลายพวกมีรูปร่างคล้ายกับแมลงมีพิษ ทำให้ศัตรูไม่กล้ามารบกวน เช่น แมลงวันดอกไม้ ที่มีขนาด ลักษณะลำตัว และสีสัน คล้ายผึ้งหรือตัวต่อ แมลงบางพวกสร้างรังที่อยู่อาศัย โดยเอาเศษกิ่งไม้ใบไม้แห้งมาทำ เมื่อออกหากิน ก็พารังติดไปด้วย และหนีศัตรูโดยหดตัวอยู่ในรัง เช่น หนอนปลอก ทำให้รอดพ้นจากอันตราย แมลงที่มีสารป้องกันตัว ได้แก่ พวกมวน เช่น มวนลำใย มวนเขียว เมื่อมีศัตรูมารบกวน ก็จะส่งกลิ่นเหม็นเขียว ซึ่งศัตรู เช่น นก หนู ทนไม่ได้ ไม่กล้ามาจับกิน แมลงที่มีพิษก็ใช้พิษในการป้องกันตัว เช่น หนอนบุ้งหรือร่าน เมื่อไปสัมผัสกับขนทำให้ขน หัก น้ำพิษจากต่อมใต้ผิวหนังจะผ่านขนออกมา ทำให้ศัตรูเกิดอาการแสบร้อนหรือคัน แมลงตด จะปล่อยน้ำพิษออกมาจากรูก้นที่มีพิษรุนแรง ทำให้ผิวหนังไหม้ หรือหากถูกตา ตาจะบอดได้ ส่วนผึ้ง ต่อ และแตน มีอวัยวะสำหรับต่อย ปล่อยน้ำพิษออกมา ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือถ้าถูกต่อยมากๆ ก็ถึงตายได้






ความสามารถในการเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ 

      อย่างไรก็ตาม ลักษณะของแมลงที่ต่างกับสัตว์อื่น ในเรื่องของการเจริญเติบโต โดยมีการลอกคราบ และมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างนั้น ได้อำนวยประโยชน์ให้อย่างมากมาย ในการที่ทำให้แมลงประสบผลสำเร็จในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกได้ดีกว่าสัตว์อื่น ทั้งนี้เพราะการลอกคราบแต่ละครั้ง ช่วยในการขจัดสารพิษออกจากร่างกายไปได้มาก ทำให้แมลงมีความทนทานต่อสารพิษได้มากขึ้น และการเจริญเติบโต โดยการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง โดยเฉพาะทั้งแบบกึ่งสมบูรณ์ สมบูรณ์ และขั้นสูง ช่วยให้แมลงสามารถเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ หลบหลีกภัยจากธรรมชาติได้เป็นอย่างดี แมลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างในแต่ละระยะ มีที่อยู่อาศัยไม่เหมือนกัน เช่น แมลงปอ เมื่อเป็นตัวอ่อนอยู่ในน้ำ เมื่อเป็นตัวเต็มวัยอยู่บนบก ฉะนั้น เมื่อน้ำแห้ง ด้วยภัยแห่งความแห้งแล้ง แมลงปอก็ยังสามารถอยู่ได้ในสภาพของตัวเต็มวัย แมลงที่เปลี่ยนแปลงรูปร่าง มีระยะที่กินอาหารไม่เหมือนกัน เช่น ผีเสื้อ เมื่อเป็นตัวหนอนกินใบไม้ เมื่อเป็นผีเสื้อกินน้ำหรือน้ำหวานจากดอกไม้ หากอย่างใดอย่างหนึ่งหมดไป อีกระยะหนึ่งก็อยู่ได้  และที่สำคัญก็คือ แมลงมากชนิด มีระยะที่ไม่ต้องกินอาหารอยู่ ๒ ระยะคือ ระยะไข่ และระยะดักแด้ แมลงจึงหลบภัยในระยะที่ขาดอาหารอยู่ในระยะทั้งสองได้ ระยะดักแด้เป็นระยะที่แมลงมีความทนทานเป็นพิเศษ นอกจากจะไม่กินอาหารแล้ว ยังทนต่อสภาพความแห้งแล้ง ความร้อน และความหนาวเย็นของอากาศ หรือสภาพอื่นๆ เช่น เมื่อเกิดอุทกภัยน้ำท่วม ดักแด้ก็ไม่ตาย หรือลอยตามน้ำไป โดยไม่เป็นอันตราย แมลงมากชนิด เมื่อเป็นตัวเต็มวัย ยังสามารถทนต่อความหนาวได้ดี มีรายงานว่า เพลี้ยอ่อนที่ถูกลมพายุพาตัวลอยไปอยู่ที่สูง ซึ่งมีความหนาวเย็นต่ำกว่า ๐ ° เซลเซียส ก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ เมื่อตกไปอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไป นี่เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เพลี้ยอ่อนหลายชนิดกระจายไปทั่วโลก แมลงบางชนิดสามารถอดอาหารได้นานๆ เช่น ตัวเรือด สามารถอดอาหารได้ถึงครึ่งปี แมลงจึงรอดชีวิตอยู่ได้ดีกว่าสัตว์อื่น เมื่อเกิดเหตุทุพภิกขภัยต่างๆ ในโลกนี้
       นอกจากจะอาศัยการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ให้สามารถอาศัยในสภาพแวดล้อมต่างๆ กันแล้ว แมลงบางพวกยังสามารถดัดแปลงที่อยู่อาศัย ให้เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ ภายใต้สภาพแวดล้อม ที่กันดารได้ เช่น ปลวก สามารถที่จะสร้างรัง อาศัยอยู่ในที่แห้งแล้งกันดาร อากาศร้อนจัดได้ เพราะปลวกได้ทำรังให้มีช่องทางที่จะดึงน้ำใต้ดินให้ขึ้นสู่รัง และระบายออกทางอากาศข้างบน ซึ่งเมื่อน้ำดูดความร้อนจากรัง ทำให้ระเหยไป ภายในรังของปลวกจึงเย็นกว่าบรรยากาศภายนอกรังมาก ปลวกจึงสามารถอยู่ได้ดีเหมือนกับอยู่ในบ้านที่ปรับอากาศ


ตั๊กแตนมีขาหลังใหญ่สามารถกระโดดได้ไกล                                     แมลงภู่ดำ จะมีขนหนาแน่นตามขา 

ลูกน้ำยุงแม่ไก่ มีท่อหายใจเล็กๆ อยู่ที่หาง

ตั๊กแตนกิ่งไม้มีรูปร่างเลียนแบบกิ่งไม้ 













แมลงตดสามารถปล่อยสารพิษออกทางก้น
                                                                                                       ดักแด้ผีเสื้อทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี 


ผึ้งสามารถปล่อยสารเตือนภัยเมื่อมีศัตรูรบกวน


ความสามารถในการสื่อถึงกัน 

      แมลงเฉพาะชนิดสร้างสารเฉพาะอย่าง เพื่อสื่อถึงกันและกัน สารใดก็ตามที่ร่างกายแมลงผลิตขึ้นเอง เมื่อสื่อไปโดยวิธีใดก็ตามไปถึงแมลงชนิดเดียวกัน ทำให้แมลงเหล่านั้นแสดงอาการตอบรับอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เราเรียกสารนั้นเป็นคำรวมว่า เฟโรโมน (pheromone) การสื่อไปนั้น อาจจะโดยวิธีต่างๆ กัน เช่น ทิ้งร่องรอยให้ติดตามได้ หรือปล่อยให้มีกลิ่นระเหยไปตามบรรยากาศ ส่วนอาการตอบรับ เช่น อาการเข้ามาหา การรวมกลุ่มกัน อาการเร่งเร้าเตรียมการต่อสู้ศัตรู อาการตื่นเต้นตกใจรีบหนี สารเฟโรโมน จึงมีเป็นประเภทต่างๆ กัน ถ้าหากสารนั้น เมื่อสื่อออกไปแล้ว ดึงดูดให้เพศตรงกันข้ามเข้ามาหา ก็เรียก สารเฟโรโมนเพศ (sex pheromone) ซึ่งมีในแมลงหลายชนิด และบางชนิดสามารถสื่อไปได้ไกลๆ แม้จะอยู่ห่างกันนับกิโลเมตร เช่น พวกผีเสื้อกลางคืนหลายชนิด เป็นต้น ที่ตัวผู้รับกลิ่นฟีโรโมนเพศของตัวเมียได้จากที่ซึ่งอยู่ห่างกัน ๕ - ๗ กิโลเมตร ก็สามารถสื่อถึงกันได้ สามารถบินไปหาคู่ และผสมพันธุ์ออกลูกหลานต่อไปได้ โดยไม่สูญพันธุ์



      สารบางอย่างเมื่อสื่อไปแล้ว ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้น เรียกว่า สารเฟโรโมนรวมกลุ่ม (aggregated pheromone) ในกรณีนี้การเข้าหารวมกลุ่ม มิได้จำกัดเฉพาะเพศ ดังตัวอย่างเช่น ด้วงงวงมะพร้าวใหญ่ หรือด้วงไฟใหญ่ ซึ่งมีอยู่ชุกชุมทางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ตัวผู้ซึ่งยังไม่เคยผสมพันธุ์ จะมีสารเฟโรโมนประเภทนี้มากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ดึงดูดให้ทั้งตัวผู้ และตัวเมียเข้ามาหาทีละมากๆ แมลงหลายชนิด โดยเฉพาะพวกที่รวมกันอยู่เป็นสังคม จะมี เฟโรโมน เตือนภัย (alarm pheromone) เช่น ผึ้ง เมื่อเวลาที่คนเข้าใกล้รัง หากมีผึ้งตัวใดตัวหนึ่งบินมาหา หรือเกาะตัว ถ้าเราไปตบตีเข้า ผึ้งที่ถูกทำร้ายจะปล่อยสารประเภทนี้ออกไปเร่งเร้า ให้พวกที่อยู่ในรังบินออกมาช่วยกันต่อสู้รุมต่อย ฉะนั้น เมื่อเวลาเข้าใกล้รังผึ้ง จะมีข้อห้ามไม่ให้ทำร้ายผึ้งที่เข้ามาหา แม้ตัวใดตัวหนึ่งก็ตาม ในพวกแมลงที่ไม่มีอวัยวะมีพิษที่จะป้องกันตัว เช่น มด เดียดดำ หรือมดไรดำ เมื่อมารุมกันกินอาหาร หากถูกรบกวน หรือถูกทำร้าย มดเหล่านี้จะปล่อยสารที่มีกลิ่นเหม็น อันเป็นพวกเฟโรโมนเตือนภัย ที่ทำให้มดพวกเดียวกันที่อยู่ใกล้บริเวณรีบหนีเอาตัวรอด และสารเหม็นเช่นนี้ ทำให้ศัตรูรังเกียจ ไม่อยากจะเข้าใกล้ เป็นการป้องกันตัวมดไปด้วย

ความสามารถในการแพร่พันธุ์
  
     ประการสุดท้ายที่ควรจะกล่าวถึงก็คือ แมลงสามารถออกไข่ หรือออกลูกเป็นตัวได้เป็นจำนวนมากๆ เช่น แม่แมลงวัน หรือผีเสื้อหนอนกระทู้ เป็นต้น แต่ละตัวสามารถวางไข่ได้ถึง ๓๐๐ -๔๐๐ ฟอง กว่าจะ   
ตาย เพลี้ยอ่อนสามารถออกลูกได้ วันละ ๒ - ๓ ตัว ตลอดชีวิตที่เป็นตัวเต็มวัย ซึ่งอาจจะเป็น ๑ - ๓ เดือน แล้วแต่สภาพแวดล้อม การมีลูกและแพร่พันธุ์ได้มากๆ เช่นนี้ ช่วยให้แมลงเกิดขึ้นได้ชุกชุมภายในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อสภาวะแวดล้อมเหมาะสมในที่ต่างๆ ของโลก และนี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่แมลงจะไม่สูญพันธุ์ไปง่ายๆ 
ดูเพลี้ยและแมลงเพิ่มเติม

เพลี้ยอ่อนข้าวโพดมีลูกได้มากและแพร่พันธุ์ได้เร็ว  



นักวิทยาศาสตร์เก็บรักษาแมลงชนิดต่างๆ ไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาและวิจัย
(ข้อมูลจากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน)



วิวัฒนาการของแมลง


     แมลงพบกำเนิดขึ้นเมื่อ 400 ล้านปีก่อนในยุค Devonian จากหลักฐานทางซากดึกดำบรรพ์ ฟอสซิส (Fossil) ของแมลงที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดคือ แมลงหางดีด Rhyniella praecursor Hrst & Maulik เป็นแมลงในอันดับ Collembola พบที่ Scotland ต่อมาช่วง Carboniferous (350 ล้านปี) เป็นยุคที่เริ่มพบแมลงหลากหลายชนิดมาก ตัวอย่างเช่น แมลง Erasipteron larischi เป็นแมลงขนาดใหญ่มีรูปร่างคล้ายแมลงปอ ช่วงคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) มีแมลงถือกำเนิดขึ้น10อันดับ โดยแมลงอันดับ Blattodea ซึ่งเป็นแมลงจำพวกแมลงสาบพบมากกว่าแมลงในอันดับอื่นๆ 


แมลงหางดีด(Collembola)


ไตโลไบต์(บรรพบุรุษของแมลง)

ยุคPALAEOZOICช่วงPermian(270ล้านปี) 
      แมลงในช่วงนี้เป็นแมลงที่เหลือรอดมาจากช่วงคาร์บอนิเฟอรัส (350 ล้านปี) เป็นยุคที่พืชพรรณชนิดต่างๆ มีการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงขึ้นมา จากช่วงคาร์บอนิเฟอรัส มีแมลงเกิดขึ้นมาหลายอันดับ โดยมีอันดับของแมลงที่เด่นๆได้แก่ อันดับ Psocoptera (เหาหนังสือ) อันดับ Homoptera (จักจั่น) อันดับ Hemiptera (มวน) อันดับ Mecoptera (แมลงแมงป่อง)และอันดับColeoptera(ด้วงปีกแข็ง) 




ด้วงกว่าง(ด้วงปีกแข็ง)(coleoptera)


จักจั่น( Homoptera)
ยุคMESOZOIC
     เป็นยุคที่มีการสูญพันธุ์ของแมลงไป เช่น แมลงอันดับ Meganisoptera (คล้ายแมลงปอขนาดใหญ่) และอันดับ Paraplecoptera (คล้าย Stonefiles) สูญพันธุ์ในช่วง Triassic (225 ล้านปี) แมลงในแต่ละอันดับมีการวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอด แมลงที่พบในยุคนี้ได้แก่ แมลงอันดับ Neuroptera (แมลงช้าง) อันดับ Mecoptera (แมลงแมงป่อง) อันดับ Diptera (แมลงวัน) อันดับ Archaeognatha (แมลงสามง่ามป่า) อันดับ Dermaptera (แมลงหางหนีบ) อันดับ Orthoptera (ตั๊กแตน) อันดับ Phasmatodea (ตั๊กแตนใบไม้กิ่งไม้) และอันดับ Hymenoptera (ผึ้ง ต่อ แตน) ถือกำเนิดขึ้นมา 


ตั๊กแตน(Orthoptera)

ผึ้ง ต่อ แตน(Hymenoptera)



ตั๊กแตนกิ่งไม้(Phasmatodea)


ยุคCAENOZOICช่วงTertiary(11-70ล้านปี) 
     แมลงจากยุคนี้ยังคงพบในปัจจุบัน ในช่วงยุคนี้มีแมลงเกิดขึ้น 6 อันดับ นอกจากนั้นยังพบแมลงอันดับ Isoptera (ปลวก) อันดับ Strepsiptera (แมลงเบียนปีกบิด) และอันดับ Siphonaptera (หมัด) เป็นครั้งแรกแมลงเป็นสัตว์ขาปล้องชนิดหนึ่ง ซึ่งมีทฤษฎีที่กล่าวถึงวิวัฒนาการของสัตว์ขาปล้องมากมาย ซึ่งในระยะประมาณ 50 ล้านปีที่ผ่านมา ได้มีการนำเอาลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่เกี่ยวกับหน้าที่ (Functional morphology) และวิทยาเอมบริโอเปรียบเทียบ (Comparative embryology) มาอ้างอิงทำให้เกิดทฤษฎีขึ้นโดยทฤษฎีนี้กล่าวถึงกลุ่มของสัตว์ขาปล้อง ซึ่งเป็นกลุ่มหลักของ ครัสทาเซีย และยูนิราเมีย และสัตว์ในไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthopoda) เกิดขึ้นโดยมีบรรพบุรุษร่วมกันหลายกลุ่ม ทฤษฎีนี้นำเอาสิ่งมีชีวิตที่ห่างไกลกัน 2-3 กลุ่ม แต่มีลักษณะของ การเป็นสัตว์ขาปล้องร่วมกันโดยเฉพาะรยางค์ที่เป็นข้อต่อ ทฤษฎีนี้เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการหลายสายจึงเรียกว่า ทฤษฎีการเกิดวิวัฒนาการหลายสาย (Polyphyletic theory) ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่ง เชื่อว่าสัตว์ขาปล้องทุกกลุ่มเปลี่ยนแปลงจากบรรพบุรุษตัวเดียวหรือสองตัว เรียกทฤษฎีนี้ว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการหนึ่งสาย และสองสาย (Monophyletic และDiphyletic theory) แบบแผนวิวัฒนาการแบบแรกถือว่าสัตว์ขาปล้องเป็นวิวัฒนาการหนึ่งสาย โดยมีบรรพบุรุษมาจากสัตว์ชนิดเดียวทั้งกลุ่ม และแบ่งสัตว์ขาปล้องออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแคไรด์ (Caride) ประกอบด้วยครัสทาเซีย ซิฟอซูริดา ยูรีเทอริดา และไตรโลไบทา กับกลุ่มทราคีอาทา (Tracheata) ประกอบด้วยไมริอาพอด อินเซกตา และอะแรคนิดา ตามทฤษฎีนี้จัดเออนีโคเฟอราไว้กลุ่มเดียวกับแอนเนลิดา 



     ต่อมาปี 1870 ความรู้เรื่องเพอริพาทัส (Peripatus) ซึ่งอยู่ในกลุ่มออนีโคฟอรา ได้ก้าวหน้าไปมาก และพบว่าเพอริพาทัสมีลักษณะสัตว์ขาปล้องหลายประการ จึงนำออกมาเป็นบรรพบุรุษของ ทราคีอาทา และมีครัสทาเซียแยกไปอิสระ นับเป็นทฤษฎีการเกิดและวิวัฒนาการของสัตว์ขาปล้องสองสายเป็นทฤษฎีแรก 
     นักวิทยาศาสตร์ชื่อ เมกลิทช์ (Meglitsch, R.A. 1967) เห็นว่าสัตว์ขาปล้องดั้งเดิม (Primative Arthropod) จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับแอนเนลิดาโพลีขีดดั้งเดิม (Primative Polychaet Annelid) โดยมีรายงานการสนับสนุนแนวคิดนี้คือ ชารอฟ (Sharov, A.G. 1966) ได้นำเอาสัตว์คล้ายหนอนลำตัวเป็นปล้องเป็นบรรพบุรุษ และแยกออกเป็น 2 สาย สายหนึ่งเป็นแอนเนลิดโพลีขีด อีกสายหนึ่งเป็นชนิดที่มีขาเป็นพูหรือโลโบพอด (Lobelike leg or Lobopod) และจัดว่าโลโบพอดได้วิวัฒนาการไปเป็นสาย อาร์โทรพอด และออนีโคฟอรา โดยสมาชิกในไฟลัมอาร์โทรโพดา แบ่งออกเป็นไฟลัมย่อยคือ ไตรโลไบทา เคอลิเซอราทา ครัสทาเซีย และยูนิราเมีย (ภาพที่ 1.1) 
     แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์หลายท่านมีความคิดเห็นขัดแย้ง โดยเทียก และแมนตัน (Tiegs, O.W. and Manton, S.M. 1958) เห็นว่าการนำเอาสัตว์ขาปล้องมาจัดไว้ในไฟลัมเดียวกันไม่น่าจะถูกต้อง แต่การนำเอาสัตว์ขาปล้องที่มีโครงสร้างลักษณะคล้ายๆ กัน มีความสัมพันธ์ห่างกันเข้าไว้ด้วยกันน่าจะถูกต้องกว่า ดังนั้นโดยอาศัยพื้นฐานจากโครงสร้างของกราม การเคลื่อนไหว และรยางค์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวจึงนำเอาสัตว์ขาปล้องทั้ง 3 กลุ่มกันคือ ไตรโลไบต์ และมีเคอลิเซอรา   ครัสทาเซีย และออนีโคฟอรา ไมริอาพอด และแมลง (ภาพที่ 1.2) แอนเดอร์สัน (Anderson, D.T. 1979) ให้ความเห็นว่า ไตรโลไบต์พวกที่มีเคอลิเซอรา และสัตว์จำพวกกุ้งจะมีรยางค์แบบดั้งเดิม โดยรยางค์ และนาโทเบสิก แมนดิเบิล (Gnathobasic mandible) แตกกิ่งเป็น 2 เท่า รูปร่างของ นาโทเบสิก แมนดิเบิล และรยางค์ที่แตกเป็น 2 กิ่ง ในไตรโลไบต์ และมีเคอลิเซอราโดยพื้นฐานจะมีความแตกต่างไปจากกุ้ง ด้วยเหตุนี้และอาศัยพื้นฐานอื่นประกอบ ไตรโลไบต์และพวกที่มีเคอลิเซอรา จึงไม่เกี่ยวข้อง

 ส่วนยูนิราเมียทั้งหมดจะมีรยางค์เพียงอันเดียว ไม่แตกกิ่ง กัดและฉีกด้วยปลายของกราม ดังนั้นพิจารณาได้ว่าเป็นกลุ่มที่วิวัฒนาการมาหนึ่งสาย นอกจากนี้ ซิสเน (Cisne, J.L. 1974) ได้ทำการศึกษากายวิภาคศาสตร์ภายในของไตรโลไบต์ในแร่ไพไรต์ โดยใช้รังสีเอกซ์ เพื่อช่วยสนับสนุนแนวคิดในการเกิดและวิวัฒนาการหลายสาย โดยมีความคิดว่าไตรโลไบต์นั้นเป็นตัวเชื่อมระหว่างพวกที่มีเคอลิเซอรา และสัตว์จำพวกกุ้ง ดังนั้นจึงเชื่อว่าสัตว์ขาปล้องมีวิวัฒนาการสองสาย



    
                ภาพที่ 1.1 แสดงสายวิวัฒนาการของสัตว์ขาปล้องตามแนวคิดของชารอฟ 
                ที่มา : ดัดแปลงจาก Romoser, W.S. and Stoffolano, J.G.Jr., 1994 : 305


                
                         ภาพที่ 1.2 แสดงสายวิวัฒนาการของสัตว์ขาปล้องตามแนวคิดของเทียกและแมนตัน
                         ที่มา : ดัดแปลงจาก Romoser, W.S. and Stoffolano, J.G.Jr., 1994 : 305 





     ถึงแม้จะมีหลักฐานหลายอย่างสนับสนุนแนวคิดการเกิด และวิวัฒนาการของสัตว์ขาปล้องว่าเกิดจากวิวัฒนาการหลายสาย แต่การยอมรับที่จุดนี้จะต้องยอมรับทั้งเรื่องการแยกเป็นอิสระ การเข้าร่วมกัน การกำเนิดหลายๆ อย่าง เช่น โพรงเลือด ข้อต่อของรยางค์ การเป็นคู่ของรยางค์ ท่อลมท่อมัลพิเจียน ตาประกอบ ส่วนประกอบของเคลือบผิวและอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านพยายามหาข้อสนับสนุนหลักฐานนี้ด้วยความยากลำบากเพื่อให้เกิดการยอมรับ การเกิดวิวัฒนาการของสัตว์ขาปล้องแบบหนึ่งสายมีผู้เชี่ยวชาญบางท่านพยายามหาข้อสนับสนุน โดยการศึกษาส่วนที่จะพัฒนามาเป็น ส่วนหัวของเอมบริโอ กลไกในการรับความรู้สึกเกี่ยวกับกลิ่น (Olfactory mechanism) และเซนซิลา (Sensilla) โครงสร้างของตา กายวิภาคศาสตร์ภายใน ระบบเอ็นยึดระหว่างปล้อง และโครงสร้างทางอัลตรา (Ultrastructure) ของอสุจิเพื่อเป็นส่วนช่วยในการตัดสิน 
     ในปัจจุบันนี้ข้อมูลจากซากดึกดำบรรพ์ยังไม่เพียงพอที่จะตัดสินได้ว่า การเกิดและวิวัฒนาการของสัตว์ขาปล้องเป็นแบบหนึ่งสายหรือหลายสาย แต่หลังจากการเสนอผลงานของกูกาโลวา เพค (Kukalova- peck, 1992) ซึ่งอ้างอิงจากซากดึกดำบรรพ์ แสดงให้เห็นว่ารยางค์แมลงและยูนิราเมียอื่นๆ เป็นแบบแตกกิ่ง เกิดขึ้นดั้งเดิมกว่ารยางค์ที่ไม่มีการแตกกิ่ง จากพื้นฐานดังกล่าว การจำแนกเป็นยูนิราเมียจึงไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง ทฤษฎีวิวัฒนาการหนึ่งสายจึงมีข้อสนับสนุนมากกว่า และได้รับการยอมรับมากกว่าทฤษฎีหลายสาย




การเปลี่ยนแปลงด้านวิวัฒนาการของแมลง

การเปลี่ยนแปลงด้านวิวัฒนาการของแมลง จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน โดยใช้ระยะเวลายาวนาน โดยการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ 3 กรณีคือ
     กรณีที่ 1 เป็นแบบจุลวิวัฒนาการ (Microevolution) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่ประชากร และโดยทั่วไปเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองปัจจัยต่างๆ เช่น การพัฒนาความต้านทานต่อสารเคมีฆ่าแมลง (Insecticide) ในหมู่ประชากรของแมลง การสร้างสารเมลานิน (Melanin) อันเกิดจากอุตสาหกรรม
      กรณีที่ 2 เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยการก่อชนิดใหม่ (Speciation) ลักษณะดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้เวลามากกว่าจุลวิวัฒนาการโดยการแยกสายการสืบพันธุ์ ในที่สุดจะเกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่
      กรณีที่ 3 มหาวิวัฒนาการ (Macroevolution) เป็นแบบแผนที่เกี่ยวกับการเกิดและวิวัฒนาการ (Phylogeny) ของแมลงที่พัฒนาในเวลาช่วงกว้าง และเกี่ยวข้องกับเวลาทางธรณีวิทยา (Geological time)
คาร์เพนเตอร์ (Carpenter, F.M. 1953) ได้เสนอระยะวิวัฒนาการของแมลงไว้ว่า ในการวิวัฒนาการของแมลงนั้นแบ่งออกเป็น 4 ระยะใหญ่ๆ คือ
    1 ระยะแรก เป็นระยะที่เกิดแมลงแบบดั้งเดิม ซึ่งรูปร่างหน้าตาอาจจะเหมือนกับแมลงในอันดับ อาร์คีโอนาทา (Order Archeognatha) และอันดับ ไทแซนูรา (Order Thysanura) แมลงไม่มีปีกดั้งเดิมเหล่านี้เชื่อว่าเกิดขึ้นในยุคซิลูเรียน (Silurian period) หรือก่อนยุคซิลูเรียน ซากดึกดำบรรพ์ของอันดับ อาร์คีโอนาทา (Order Archeognatha) และอันดับเอนโทนาทัส (Entognathus) อันดับ คอลเลมโบลา (Order Collembolla) นั้นเป็นหินในยุคดีโวเนียน จากหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่า จุดร่วมของแมลงกลุ่มเอกโทนาทัส (Ectognathus) กับเอนโทนาทัส (Entognathus) เกิดขึ้นก่อนยุคดีโวเนียน ซากดึกดำบรรพ์ของ ไมริอาพอดที่เก่าแก่ที่สุดพบในยุคซิลูเรียน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ว่าแมลงนั้นมีวิวัฒนาการมาจากไมริอาพอดยุคใหม่ แต่เชื่อว่าแมลงมีสภาวะเป็นพวก 6 ขา และมีความเกี่ยวข้องกับแมลง ซึ่งพบในยุคซิลูเรียนหรืออาจจะก่อน
      2 ระยะที่สอง เป็นระยะที่แมลงมีการเจริญของปีก เมื่อเกิดแมลงมีปีก (Pterygote insect) ขึ้น และไม่ทราบแน่ชัดว่าวิวัฒนาการมาอย่างไร ปีกซึ่งทำหน้าที่ได้ดีเกิดขึ้นครั้งแรกอย่างกระทันหัน ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า โครงสร้างที่มีความซับซ้อนเหล่านี้และความต้องการทางสรีรวิทยารวมทั้งพฤติกรรมจะต้องมีวิวัฒนาการที่ผ่านขั้นตอนมาเป็นระยะ เวลายาวนาน แต่กระบวนการทางวิวัฒนาการนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจ
     แมลงเป็นสัตว์ชนิดแรกที่สามารถบินขึ้นสู่อากาศได้ โดยสามารถทำได้ก่อนสัตว์เลื้อยคลานหรือนกประมาณ 50 ล้านปี ปีกแมลงนั้นมีประโยชน์ต่อแมลง โดยเฉพาะการบินเพื่อหลบหนีศัตรู ปีกแมลงที่เกิดขึ้นในระยะแรกๆ จะเป็นปีกที่สามารถใช้บินได้ดีแต่ในขณะพักตัวไม่สามารถพับเข้ามาที่ส่วนท้องได้ ส่วนแมลงที่มีปีกแบบเก่า (Peleopterous in wing) นี้จะมีจำนวนมากในระหว่างยุคคาร์บอนิเฟอรัสและเพอร์เมียน ปัจจุบันนี้ลักษณะของปีกแบบนี้จะพบในแมลงเพียง 2 อันดับคือ อันดับ โอโดนาทา (Order Odonata) และอันดับ อีฟีเมอรอพเทอรา (Order Ephemeroptera)
     มีสมมติฐานเป็นจำนวนมากที่พยายามจะอธิบายถึงกำเนิดของปีกแมลง โดยทั่วไปจะเห็นพ้องต้องกันว่าปีก และส่วนที่ใช้ในการควบคุมกลไกในการเคลื่อนที่นั้นเป็นส่วนเสริมของปล้องที่มีมาแต่เดิม โดยมีการปรับส่วนนี้เพื่อช่วยในการเดิน เพราะปีกแมลงที่เพิ่มขึ้นมานั้นไม่ได้ทำให้ขาแมลงสูญหายไป ซึ่งจะแตกต่างไปจากสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังที่รยางค์ที่ใช้ในการเดิน และประสาทกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องจะกลายเป็นอวัยวะที่ใช้ในการบิน
     สมมติฐานที่มีผู้นำมาอภิปรายกันมากคือ ปีกเกิดจากส่วนยื่นขยายของแผ่นแข็งด้านหลังอก (Thoracic nota) เรียกว่าปุ่มยื่นข้างอก (Paranotal process) โดยนักวิทยาศาสตร์หลายท่านมีความเห็นว่า การยืดขยายตัวของอกด้านข้างนี้จะช่วยให้แมลงควบคุมสรีระของร่างกาย เมื่อหล่นจากต้นพืชช่วยให้ลงสู่พื้นดินในแนวตั้งฉากได้ และช่วยให้สามารถหนีเข้าที่หลบซ่อน เมื่อถูกศัตรูตามล่า ต่อมาเมื่อมีการขยายปุ่มยื่นด้านข้างออกไปอีกจะช่วยให้ร่อนจากยอดไม้ได้ หรือช่วยให้กระโดดได้ ขั้นต่อไปคือการเจริญของข้อต่อที่ฐาน การจัดเรียงกล้ามเนื้อ และระบบประสาทเพื่อจะทำให้ปีกสามารถที่จะทำหน้าที่ได้ทั้งการควบคุม และการออกแรงเคลื่อนที่
     วิกเกิลเวอร์ท (Wigglesworth, V.B., 1976) สนับสนุนทฤษฎีนี้โดยกล่าวถึงการเกิดของปีกแมลงดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในน้ำว่า ปีกเกิดมาจากเหงือกซึ่งเหงือกจะพบบ่อยในแมลงที่อาศัยอยู่ในน้ำ เหงือกประกอบด้วยท่อลมที่แตกกิ่งมากมาย และสามารถขยับตัวได้ เช่น เหงือกของตัวอ่อนแมลงชีปะขาวสามารถที่จะใช้เหงือกโบกไปมา เพื่อช่วยให้ออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำแพร่เข้าสู่ร่างกายได้ เหงือกอาจช่วยในการว่ายน้ำด้วย
     นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่แปลก และใหม่กว่า โดยได้เสนอว่าปีกมีวิวัฒนาการมาจากพูที่อยู่ระหว่างปล้องขาของสัตว์ขาปล้องดั้งเดิม ปล้องขาที่อยู่รอบพูจะมองเห็นไม่ชัดเจน เช่นในแมลงปัจจุบัน พูนี้จะวิวัฒนาการไปเป็นผนังลำตัว และเกิดเป็นข้อต่อปีก ทั้งด้านบนและด้านล่าง คำอธิบายดังกล่าวนี้ได้ให้รายละเอียดทั้งในแง่ของข้อต่อปีกที่มีความซับซ้อน นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกำเนิดของเส้นประสาท และกล้ามเนื้อซึ่งเป็นโครงสร้างที่แปลกใหม่ และยังวิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์ของแมลง ไม่มีปีก ซึ่งก่อให้เกิดทฤษฎี กูกะโลวา เพค (KuKalova-peck 1983, 1987) ซึ่งเชื่อว่าคำว่าส่วนยื่นด้านข้าง (Paranotal) นั้นไม่ถูกต้อง ที่จริงแล้วไม่ได้ยื่นแต่เชื่อมติดอยู่กับแผ่นแข็งด้านหลังอก และทฤษฎียังได้อธิบายว่า พูนี้เมื่อแรกเกิดทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจเมื่อแมลงมีวิวัฒนาการของระบบควบคุมอินทิเกรต (Integrated control system) มากขึ้น โครงสร้างดังกล่าวนี้ถูกนำไปใช้ในการเคลื่อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหลบหนีศัตรูและการกระจาย (Dispersion) อาศัยข้อมูลจากการศึกษาซากดึกดำบรรพ์ของแมลง ข้อเสนอของกูกะโลวา เพค กล่าวว่า วิวัฒนาการของบรรพบุรุษแมลงมีปีกนั้นเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับการรวมกลุ่ม (Colonization) ของแหล่งที่อยู่บนบก (Terrestrial habitat) ซึ่งไม่ช้าไปกว่ายุค ดีโวเนียนที่ปรากฏว่ามีพืชขึ้นบนพื้นดินแล้ว

    3  ระยะที่สาม แมลงมีวิวัฒนาการด้านการเจริญของกลไกในการหุบปีก เกิดขึ้นก่อน ยุคคาร์บอนิเฟอรัสช่วงล่าง (Lower carboniferous) แมลงสามารถหุบปีกไว้ด้านหลังเหนือส่วนท้อง สภาวะเช่นนี้เรียกว่า ปีกแบบใหม่ (Neopterous condition) ลักษณะดังกล่าวเป็นการเพิ่มความสามารถ ในการวิ่งและหลบหนีศัตรู แมลงที่มีปีกแบบใหม่นี้ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็น กลุ่มเด่น (Dominant group) ดังเช่นในปัจจุบัน แมลงที่มีในปัจจุบันประมาณร้อยละ 90 เป็นแมลงในกลุ่มนี้ และแมลงที่สูญพันธุ์ไปแล้วคือ แมลงในอันดับ ไดอะฟานอพเทอโรเดีย (Order Diaphanopterodea) ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแมลงมีปีกแบบใหม่
     4 ระยะที่สี่ เป็นระยะที่แมลงมีวิวัฒนาการสูงขึ้น ซึ่งมีการเจริญเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นชนิดสมบูรณ์ (Complete metamorphosis) เกิดขึ้นก่อนยุคคาร์บอนิเฟอรัสช่วงบน (Upper Carboniferous)การมีวิวัฒนาการโดยการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อแมลงในแง่การดำเนินชีวิตที่เหมาะสมในแหล่งที่อยู่ที่มีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ระยะตัวอ่อน แมลงอาศัย อยู่ในน้ำ และตัวเต็มวัยอาศัยอยู่บนบก ขณะที่อาศัยอยู่ในน้ำแมลงสามารถใช้อาหารได้อย่างเพียงพอ และเมื่อเป็นตัวเต็มวัยใช้แหล่งที่อยู่อาศัยบนบกในการผสมพันธุ์ และแพร่พันธุ์ซึ่งมีศักยภาพมากกว่า


แมลงวันเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นแมลงมีพิษ

แมลงวันทองเปลี่ยนแปลงรูปร่างคล้ายต่อ
หลอกให้แมลงอื่นๆไม่กล้าทำลาย


การกำเนิด และวิวัฒนาการของแมลง


     โดยทั่วไปมักจะพิจารณาว่าสัตว์ในกลุ่มอินเซกตา มีวิวัฒนาการมาจากไมริอาพอดหรือ ไพรโมริอาพอดก่อนยุคดีโวเนียน (Devonian period) แต่จากการศึกษาความแตกต่างของกราม และวิธีการเคลื่อนไหวของกราม แมนตัน (Manton, S.M. 1964) สรุปได้ว่า แมลงไม่ได้สืบทอด จากไมริอาพอดโดยตรง แต่สัตว์ทั้งสองกลุ่มนี้มีวิวัฒนาการร่วมกันมา โดยมีบรรพบุรุษร่วมกัน และจากข้อมูลทางชีววิทยาโมเลกุลก็ไม่ได้สนับสนุนความใกล้ชิดของสัตว์ทั้งสองกลุ่มเลย แต่ลำดับการเกิดของแมลง รอส และคณะ (Ross, H.H., et al, 1991) สามารถแสดงขั้นตอนได้ดังนี้ 
     ช่วงแรก สัตว์จะมีรูปร่างเป็นปล้อง ไม่มีขาเป็นระยะที่สัตว์มีรูปร่างคล้ายหนอนหรือ เป็นระยะคล้ายแอนิลิดา ส่วนของร่างกายยังไม่ได้เปลี่ยนสภาพลำตัวเป็นปล้อง ด้านหน้าเรียกว่า โพรสโทเมียม (Prostomium) หรืออะครอน ส่วนท้ายสุดเรียกว่าเพอริพรอคต์ (Periproct) หรือ หางปากอยู่ระหว่างโพรสโทเมียมกับลำตัวปล้องแรก ทวารหนักเปิดออกในส่วน เพอริพรอคต์ (ภาพที่ 1.3 A) 
     ช่วงที่มีวิวัฒนาการโดยมีการเจริญของรยางค์เป็นคู่ๆ รยางค์จะมีลักษณะคล้ายพู เป็นแบบสมมาตรด้านข้าง เกิดตาเดี่ยวบนโพรสโทเมียม 1 คู่ และเกิดหนวดสัมผัสบนปล้องที่สอง 1 คู่ การจัดเรียงตัวของอวัยวะในระยะนี้คล้ายกับออนีโคเฟอรา (ภาพที่ 1.3 B) 
     ช่วงโพรโทไมริอาพอด หรือระยะก่อนเป็นแมลง (Protoinsect) เป็นระยะที่เกิดลักษณะของสัตว์ขาปล้อง กล่าวคือ รยางค์แต่ละปล้องมีสมมาตรด้านข้างเกิดเป็นปล้อง รยางค์ของปล้องที่ 4, 5 และ6 ลดรูปไป และเคลื่อนเข้าไปติดกับหัวกลายเป็นโครงสร้างที่เหมาะสมต่อการกินอาหาร รยางค์ปล้องหลังสุดกลายเป็นอวัยวะรับความรู้สึกและไม่ได้ทำหน้าที่ในการเคลื่อนที่ อาจกล่าวได้ว่าระยะนี้เป็นระยะแรกเริ่ม และมีการผันแปรไปเป็นการกำเนิดของไมริอาพอดและแมลง (ภาพที่ 1.3 C) 
     เป็นช่วงที่มีการจัดเรียงตัวของอวัยวะคล้ายกับไมริอาพอด จะพบรยางค์ซึ่งมีสมมาตรด้านข้างเกือบทุกส่วนของร่างกาย และรยางค์ลำตัวปล้องที่ 2, 3 และ4 กลายเป็นส่วนของปากที่มีกรามเป็นแบบดั้งเดิม (ภาพที่ 1.3 D) 
     การจัดเรียงตัวในระดับของแมลง (ภาพที่ 1.3 E และ F) ลำตัวเปลี่ยนสภาพไป โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของแมลง รยางค์ปล้องที่ 7, 8 และ9 เปลี่ยนเป็นโครงสร้างใช้ในการเคลื่อนที่ รยางค์ส่วนที่เหลือหายไป รยางค์ท้องปล้องที่ 8 และ9 เปลี่ยนแปลงไปเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก (External genitalia) และแพนหางซึ่งมีรยางค์ปล้องที่ 11 ยังคงเหลืออยู่ส่วนหางหายไป รูเปิดของทวารหนักอยู่ภายในท้องปล้องที่ 11 


ภาพที่ 1.3 แสดงสมมติฐานการเจริญของรยางค์จากบรรพบุรุษที่มีรูปร่างคล้ายหนอนจนเป็นแมลง 
A. ระยะรูปร่างคล้ายหนอน B. ระยะการเจริญของรยางค์ C. ระยะที่เกิดลักษณะของปล้อง 
D. ระยะที่พบรยางค์ที่ลำตัว E. และ F. ระยะที่ลำตัวแบ่งจนมีลักษณะของแมลง 
ที่มา : Ross, H.H., et al, 1991 : 28


ประโยชน์และโทษของแมลง

ประโยชน์ที่ได้รับจากแมลง
   1  ช่วยในการผสมละอองเกสรให้พืช ทั้งพืชไร่ พืชสวน พืชผัก ตลอดจนหญ้าแมลงที่ช่วยผสมละอองเกสร และแมลงที่มีสำคัญในการผสมละอองเกสรคือ ผึ้ง และแมลงอื่นๆ เช่น ผีเสื้อ แมลงภู่ และแมลงวัน เป็นต้น
   2   เป็นอาหารของคนและสัตว์อื่นๆ เช่น ตัวอ่อนของแมลงชีปะขาว ตัวอ่อนของแมลงปอ ลูกน้ำยุง เป็นอาหารของปลา ตัวหนอนเป็นอาหารของนก ส่วนที่นำมาเป็นอาหารของคนมีหลายชนิด ได้แก่ แมลงดานา ตัวอ่อนของผึ้ง ตัวอ่อนและไข่มด หนอนของด้วง หนอนของผีเสื้อ และตั๊กแตนปาทังก้า เป็นต้น
   3   ผลผลิตจากแมลงนำมาทำประโยชน์ในทางการค้า ตัวอย่างเช่น ผ้าไหม เส้นไหม ได้มาจากผีเสื้อหนอนไหม ผีเสื้อยักษ์ ครั่งได้มาจากแมลงครั่งซึ่งเป็นเพลี้ยหอยชนิดหนึ่ง น้ำผึ้ง ไขผึ้ง นมผึ้ง (Royal jelly) เกสรผึ้ง (Pollen grain) ได้จากผึ้ง และโคซิเนลดาย (Chocineal dye) ได้มาจากเพลี้ยหอย (Cochineal insect) เป็นต้น
   4  ช่วยในการกำจัดแมลงศัตรูพืชและวัชพืช โดยการเป็นแมลงห้ำ (Predator) และแมลงเบียน (Parasite) ตัวอย่างแมลงตัวห้ำ ได้แก่ แมลงปอ แมลงช้าง แมลงวันหัวบุบ ตั๊กแตนตำข้าว เป็นแมลงห้ำคอยจับสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น ยุง แมลงหวี่ และเพลี้ย ส่วนแมลงตัวเบียน เช่น ต่อเบียน แตนเบียน แมลงวันก้นขน แตนหางธง และต่อขุดรู จะทำลายผีเสื้อ ด้วง และอื่นๆ ได้ทั้งในระยะไข่ ระยะหนอน ระยะดักแด้ ทั้งนี้แล้วแต่ว่าแมลงนั้นๆ เป็นตัวเบียนแบบใด แมลงตัวห้ำ แมลงตัวเบียน มีความสำคัญเพราะช่วยลดประชากรของแมลงศัตรูพืช อาจกล่าวได้ว่าไม่มีวิธีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ดีเท่ากับให้แมลงปราบกันเอง
    5  นำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาด้านพันธุกรรม และทางด้านการแพทย์ตัวอย่างเช่น แมลงหวี่ Drosophila melanogaster นำมาศึกษาการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม การเพิ่มลดของประชากร แมลงวันสเปน (Spanish flies) นำมาสกัดเอาสาร แคนทาริดิน (Cantharidin) ซึ่งเป็นสารกระตุ้นประสาทมีประโยชน์ทางด้านการแพทย์ ใช้ในการรักษาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายปัสสาวะ หนอนแมลงวันหัวเขียวปล่อยสารอัลเทนตัน (Altanton) ออกมา ปัจจุบันสารนี้นำมาใช้รักษาออสทีมายอีลิทิส (Osteomyelitis) และแผลบาดเจ็บลึกๆ ที่มีเนื้อเน่า จากการศึกษาแมลงในด้านพฤติกรรม การตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง จะช่วยให้การเพิ่มความเข้าใจในพฤติกรรมการตอบสนองของสัตว์อื่นๆ ด้วย และมักนิยมใช้จำนวนประชากรของแมลงเป็นตัวบ่งบอกสภาพของสิ่งแวดล้อมในการ ศึกษามลภาวะ
    6  ช่วยกำจัดอินทรีย์วัตถุ สิ่งเน่าเปื่อย ทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสารง่ายๆ ซึ่งจะกลับไปสู่ดิน เป็นอาหารของพืชในที่สุด เช่น หนอนแมลงวันหัวเขียวกินอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อย ตัวอ่อนของหนอนปลอกน้ำกินอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยในน้ำช่วยทำให้น้ำไม่เสีย เป็นการแก้ปัญหามลภาวะทางน้ำ ด้วงมูลสัตว์ช่วยย่อยสลายมูลสัตว์ และยังช่วยลดจำนวนแมลงวันในบริเวณที่ เลี้ยงสัตว์โดยจะกินมูลของวัวอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งแมลงวันที่ขยายพันธุ์ในมูลสัตว์ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ แมลงกินไม้ เช่น ด้วงเจาะไม้ และปลวก จะช่วยเปลี่ยนต้นไม้ล้ม และท่อนไม้ให้ย่อยสลายกลายเป็นดินมีประโยชน์ มีคุณค่าต่อพืชและช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ
    7  ช่วยในการบำรุงรักษาดิน และพื้นที่ต่างๆ ในการทำการเกษตร แมลงหลายชนิดใช้ชีวิตบางส่วน หรือตลอดชีวิตในดิน โดยดินจะเป็นรัง แหล่งป้องกันภัย และแหล่งอาหาร เพราะดินที่มีลักษณะเป็นช่องทำให้มีอากาศมาระบายของเสียจากการขับถ่าย และแมลงที่ตายช่วยในการปรับปรุงคุณภาพทางฟิสิกส์ของดินให้ดีขึ้น ตัวอย่างแมลงที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น มด แมลงกระชอน ปลวก ผึ้ง ต่อ และแตน เป็นต้น
   8   ทำให้เกิดรายได้ ถ้านำแมลงตัวเต็มวัย หรือตัวอ่อนมาเลี้ยงให้เป็นตัวเต็มวัยแล้วนำมาทำเป็นแมลงแห้งอัดใส่กรอบขาย
   9  แมลงบางชนิดโดยเฉพาะ ผีเสื้อ และด้วง จะมีสีสันสวยงามทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกเป็นสุข จิตใจเบิกบาน แจ่มใส และรู้สึกสดชื่น
  10   นักศิลปะ นักออกแบบเครื่องประดับ และนักออกแบบเครื่องแต่งกาย นิยมเอาความสวยงามในด้านโครงสร้างสีสันแมลงมาใช้เป็นแบบอย่างพื้นฐาน นอกจากนี้รังที่อยู่อาศัยของแมลงยังช่วยทำให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์แก่สถาปนิกด้วย





โทษของแมลง



ด้วงเต่าชนิดกัดกินพืชดูเพิ่มเติม
 ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพืชผล    

       แมลงส่วนใหญ่สามารถทำลายพืชทุกชนิด และผลของการทำลายทำให้ผลผลิตลดลงจนกระทั่งทำให้พืชตายได้ เช่น
   1  โดยการกัดกิน ใบ กิ่งก้าน ตาดอก ยอด ลำต้น ราก และผลของพืช ได้แก่ ตั๊กแตนกัดกินข้าว และข้าวโพด เป็นต้น ส่วนด้วงปีกแข็งกัดกินใบข้าวโพด องุ่น ส้ม บางชนิดกินรวงข้าว ข้าวฟ่าง สมอฝ้าย และฝักถั่ว เป็นต้น และหนอนของต่อ แตน บางชนิดกัดกิน ใบพืช เช่น ต่อฟันเลื่อยจะกัดกินใบสน
    2 โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ยอด ลำต้น ราก และผล ได้แก่ มวนชนิดต่างๆ เพลี้ยอ่อน จักจั่น เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยไฟ เป็นต้น มวนเขียวข้าว มักจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ต้น และรวงของข้าว ข้าวฟ่าง ส่วนมวนแดงฝ้ายดูดน้ำเลี้ยงจากต้นและสมอฝ้าย นอกจากนี้ยังมี มวนเขียวส้ม มวนลำไย เพลี้ยจักจั่นข้าว เพลี้ยจักจั่นฝ้าย เพลี้ยจักจั่นช่อมะม่วง เพลี้ยอ่อนข้าวโพดเพลี้ยอ่อนยาสูบ เพลี้ยอ่อนอ้อย เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยแป้งน้อยหน่าเพลี้ยไฟข้าวและเพลี้ยไฟข้าวโพด เป็นต้น
    3   โดยการเจาะเข้าไปกินภายในลำต้น ก้าน ราก ผล และเมล็ด บางชนิดเจาะเข้าไปกินเนื้อใบซึ่งอยู่ใต้ผิวใบ เรียกว่า หนอนชอนใบ ได้แก่ หนอนชอนใบส้ม หนอนชอนใบถั่ว และหนอนชอนใบชมพู่ เป็นต้น ชนิดที่เจาะลำต้น ได้แก่ หนอนกอข้าว หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนเจาะลำต้นกาแฟ และหนอนเจาะลำต้นทุเรียน เป็นต้น ส่วนหนอนเจาะผล ได้แก่ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนเจาะฝักข้าวโพด และหนอนเจาะพริกหยวก และหนอนเจาะผลไม้ต่างๆ เช่น น้อยหน่า ขนุน ทุเรียน ชมพู่ และพุทรา ชนิดที่เจาะเมล็ดกาแฟ ด้วงเจาะเมล็ดถั่ว เป็นต้น
     4  ทำให้เกิดปุ่มปม ตามต้น ยอด และใบพืช เช่น เพลี้ยไก่ฟ้ายอดชะอมทำให้เกิดปุ่มปม ที่ยอดอ่อนเรียกว่า ชะอมไข่ บั่วข้าวทำให้เกิดปมที่ต้นข้าวแล้วเป็นหลอดคล้ายใบหอม เป็นเหตุให้ข้าวไม่ออกรวง เป็นต้น
     5  โดยการวางไข่เข้าไปในส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช จะก่อให้เกิดความเสียหายได้ ถ้าวางไข่ในผล และกิ่ง เช่น เพลี้ยจักจั่นข้าววางไข่ในกาบใบของต้นข้าว ส่วนจิ้งหรีด วางไข่ในกิ่งทำให้กิ่งหักหรือแห้งตายได้ ถ้าวางไข่ในผล จะทำให้ผลมีรูปร่างผิดปกติ ชนิดที่วางไข่ในผล เช่น แมลงวันทอง เป็นต้น
      6 โดยเอาส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชไปสร้างรัง ได้แก่ มดแดง นำใบไม้มาสร้างรัง ส่วนผึ้งกัดใบ กัดเนื้อไม้ และกลีบดอกไปสร้างรัง ในไม้ที่เป็นปล้อง เช่น ไม้ไผ่ ถ้าใบของต้นไม้ถูกนำไปสร้างรังจะทำให้ใบมีน้อยลง การสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารของพืชจะน้อยลงด้วย ต้นไม้จะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
      7 โดยเอาแมลงอื่นมาปล่อยในต้นพืช ให้ทำลายพืชนั้น ได้แก่ มด ที่อาศัยอยู่กับเพลี้ยอ่อนตามกิ่ง ยอด และใบอ่อน มดได้อาศัยกินน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนขับออกมาเป็นอาหาร เมื่อพืชเหี่ยวแห้งเนื่องจากถูกเพลี้ยอ่อนดูดน้ำเลี้ยง หรือเมื่อมีเพลี้ยอ่อนมากๆ มดก็จะช่วยขนย้ายเพลี้ยอ่อนไปยังต้นอื่นๆ
      8 โดยการนำโรคมาสู่พืช ได้แก่ เชื้อรา แบคทีเรีย โปรโตซัว และไวรัส พบว่าโรคพืชโดยประมาณ 200 โรค มีแมลงเป็นพาหะ 3 ใน 4 ของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส แมลงนำโรคมาสู่ต้นพืชได้ 3 ทางคือ
       8.1 เชื้อโรคเข้าสู่พืชทางรอยวางไข่ รูเจาะกิน และรูที่แมลงเจาะเข้าไปในพืช
       8.2 เชื้อโรคติดตามตัวหรือในตัวแมลงจากพืชต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง
       8.3 เชื้อโรคพักในตัวแมลงระยะหนึ่ง แล้วถ่ายทอดมาสู่พืชเมื่อแมลงกินอาหารบางกรณีเชื้อโรคต้องมีระยะหนึ่งของวงจรอยู่ในพืชด้วย แมลงที่นำเชื้อโรคมาสู่พืช เช่น เพลี้ยจักจั่นชนิดต่างๆ เพลี้ยอ่อนชนิดต่างๆ มอดเจาะไม้ เป็นต้น
       9 โดยทำให้เกิดเชื้อโรคชนิดใหม่ ได้แก่ โรคราสนิม มีแมลงช่วยผสมข้าม ทำให้เกิดเชื้อโรคใหม่ๆ ทำให้พืชเกิดเป็นโรคได้ แมลงที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้ทำให้สปอร์ของเชื้อราจากที่แห่งหนึ่งไปผสมกับอีกที่หนึ่งได้

ความเสียหายที่เกิดกับคนและสัตว์
1. เป็นพาหะนำโรคมาสู่คนและสัตว์ เช่น ยุงก้นปล่องเป็นพาหะโรค ไข้มาลาเรีย ยุงลายเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก และยุงรำคาญเป็นพาหะของโรคไข้สมองอักเสบ และโรคเท้าช้าง
2. เป็นตัวเบียนของคนและสัตว์ เช่น เหลือบ เหา หมัด และไรไก่
3.โดยกลิ่นเหม็นที่แมลงปล่อยออกมา ได้แก่ แมลงกระแท้ มวนเขียวแมลงสาบ และเรือด เป็นต้น
4.โดยการขับถ่ายของแมลงทำให้เกิดสกปรก เลอะเทอะ พบตามอาหาร ผลไม้ และภาชนะต่างๆ ตัวอย่างเช่น เพลี้ยหนอน และเพลี้ยแป้ง ทำให้ผลไม้ที่อยู่ในต้นสกปรก และแมลงสาบตามบ้านเรือน
5.ทำให้รู้สึกขยะแขยง เมื่อแมลงไต่ตอมตามผิวหนัง ได้แก่ หนอนผีเสื้อที่อยู่ตามต้นไม้ หมัดที่ดูดกินเลือดคนและสัตว์เลี้ยงต่างๆ
6.โดยการกัดแทะตามผิวหนัง ได้แก่ ไรนก และไรไก่ ที่พบตามขนหนังของสัตว์ปีกทำให้สัตว์เกิดความรำคาญ
7.โดยเหตุบังเอิญแมลงอาจเข้าตา หู จมูก หรือเข้าคอ เกิดอาการอักเสบที่ส่วนนั้น ได้แก่ แมลงวันตอมตา และแมลงที่บินเข้าหาแสงไฟยามค่ำคืน อาจเป็นเหตุให้เกิดโรค มายเอียซีส (Myiasis) ในกรณีที่บังเอิญตัวหนอนแมลงนั้นเข้าไปยังส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย
8.โดยการวางไข่ตามผิวหนัง ผมหรือขน ได้แก่ เหาต่างๆ ในต่างประเทศ แมลงวันหนอนเจาะสัตว์วางไข่ตามตัวสัตว์ทำให้สัตว์แตกตื่นไม่กินอาหารตามปกติ ทำให้เกิดความเสียหายต่อกิจการเลี้ยงโคเนื้อมากทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือเสียโลหิต
9.  มีพิษเป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ เมื่อโดนกัดหรือต่อย เช่น ต่อ แตน และมดตะนอย
10.โดยใช้ปากทิ่มแทง ได้แก่ ยุง ริ้น เหลือบ และแมลงดานา
11.โดยขนละเอียดทิ่มแทง ได้แก่ ขนของผีเสื้อต่างๆ
12.โดยการปล่อยสารพิษลงบนผิวหนังเมื่อมันตกใจ หรือไปโดนมันเข้า ได้แก่ แมลงตดสามารถปล่อยก๊าซพิษซึ่งเป็นกรดไนตริก ทำให้ผิวหนังพุพองได้ ด้วงก้นกระดก Paederus fuscipes เมื่อทำให้มันแตกบนผิวหนัง จะเกิดอาการบวมเป็นผื่นเนื่องจากสารเพเดอริน (Paederin) เป็นต้น
13.ด้านอันตรายจากการนำมาบริโภคพบว่าแมลงบางชนิดไม่ควรนำมาบริโภคเด็ดขาด ได้แก่ ด้วงน้ำมัน เนื่องจากในตัวมีสารเรียกว่า Cantharidin ถ้ารับประทานเข้าไปในจำนวนมากจะทำให้ผู้บริโภคมีอันตรายถึงชีวิตได้

14.แมลงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้าน

15.แมลงที่เป็นอาหาร




16.การนำแมลงมาประกอบอาหารได้นั้นทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณในหมู่ชนพื้นเมืองของประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกา โดยมีวิธีการประกอบเป็นอาหารต่างๆ กัน ในประเทศไทยชาวบ้านในแถบชนบทนิยมนำแมลงมาเป็นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ การที่ทราบว่าแมลงชนิดใดกินได้หรือไม่นั้น เป็นความรู้ สืบทอดต่อๆ กันมา แมลงที่กินได้บางชนิดพบมีอยู่เฉพาะที่ จึงนิยมรับประทานกันเฉพาะท้องถิ่นนั้นๆ แต่บางชนิดมีอยู่ทั่วๆ ไปในประเทศจึงนิยมรับประทานกันอย่างกว้างขวางในหมู่คนไทย และสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาด แมลงรับประทานได้พบในประเทศไทยได้มีมากกว่า 100 ชนิด แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงแมลงรับประทานได้เพียงบางชนิดที่เป็นที่รู้จักนิยมรับประทานกัน ในการนำแมลงมาประกอบอาหารนั้น ถ้าเป็นแมลงตัวโตควรเด็ดเอาส่วนแข็งออกก่อน เช่น หัว ขา และปีก สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่ควรจับแมลงในแหล่งที่มีการพ่นสารเคมีฆ่าแมลงมารับประทานเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้


       แมลงกินูน (แมลงอินูน)
       แมลงกุดจี่ (แมลงขี้ครอก ด้วงขี้ควาย)
 กว่างชน (กว่างโซ้ง กว่างกิม กว่างอีลุ่ม)
 แมลงตับเต่า (ด้วงดิ่ง)
 แมลงเหนี่ยง
 แมลงข้าวสาร
 จิ้งโก่ง (จิโปม)
 จิ้งหรีด                                                                                                                   
 แมลงกระชอน
 ตั๊กแตนปาทังก้า
 ตั๊กแตนอีค่วง (ตั๊กแตนหน้าแหลม)                                                                                                                                  
 แมลงเม่า
 แมลงมัน
 มดแดง
 ผึ้ง
 ต่อ
 ดักแด้ไหม
 หนอนไผ่ (ตัวแน รถไฟ)
 ตัวจรวด (เครื่องบิน)
 แมลงโป้งเป้ง (แมลงงำ)
 จักจั่น
 แมลงดานา                                                                                             
 แมลงดาสวน (แมลงก้าน มวนตะพาบ มวนหลังไข่)
 แมลงแมงป่องน้ำ (แมงคันโซ่)
 แมลงหัววัว

       แมลงทับ
 แมลงแคง



ทัศนคติที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคแมลง
ทัศนคติของชาวบ้านที่มีต่อแมลง
     ทัศนคติ ได้แก่ ความคิด ความรู้สึกภายในจิตใจของบุคคลที่มีต่อ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติอาจได้มาจากคำพูด สายตา สีหน้า กิริยา ท่าทาง หรือน้ำเสียงของเจ้าของทัศนคตินั้น การที่ชาวบ้านแสดงกิริยาอาการต่างๆ ทำให้สามารถทราบได้ว่าแมลงเป็นอาหารที่ชาวบ้านมีทัศนคติทางบวกมากกว่าทางลบ ทัศนคติที่ชาวบ้านแสดงออกมาสามารถแบ่งออกได้ เป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้
     ค่านิยม ที่มีต่อการบริโภคแมลง ชาวบ้านคิดว่าแมลงเป็นอาหารชนิดหนึ่ง บริโภคแล้วอิ่ม ไม่มีความรู้สึกว่าการกินแมลงเป็นเรื่องแปลก น่ารังเกียจหรือต่ำต้อย ในทางกลับกันต่างมีความภาคภูมิใจว่าตนได้บริโภคอาหารที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ และได้บริโภคอาหารที่ได้มาอย่าง ยากลำบาก เพราะการหาแมลงมีขั้นตอนและกระบวนการหลายอย่าง ชาวบ้านมักไม่พอใจเมื่อมีใครถามว่า ทำไมจึงกินแมลงน่ารังเกียจ และมักจะตอบกลับมาด้วยท่าทางที่ว่าใครที่ไม่กินแมลงถือว่าเสียชาติเกิด ไม่รู้จักกิน
      ความเชื่อ เรื่องการบริโภคแมลงแล้วไม่บาป ชาวบ้านมีความเชื่อว่า เมื่อชาติที่แล้วแมลงเป็นสัตว์ที่ขันอาสาต่อพระพุทธเจ้าเพื่อลงมาเลี้ยงชีวิตมนุษย์เหมือน วัว ควาย เป็ด ไก่ และสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารทุกชนิด โดยมีตำนานเล่าขานกันว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้สร้างโลก และให้กำเนิดมนุษย์ เมื่อมีมนุษย์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงวิตกกังวลว่าจะหาอาหารชนิดใดให้มนุษย์ เพราะถ้ามีแต่มนุษย์ไม่มีอาหาร มนุษย์ก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ จึงมอบให้พระยาแถนเป็นผู้จัดสรรเรื่องอาหารให้มนุษย์ พระยาแถนจึงได้ไต่ถามบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่อยู่บนสวรรค์ว่าพอมีใครที่จะ ขันอาสาลงมาเลี้ยงชีวิตมนุษย์บ้างบรรดาสัตว์ทั้งหลาย เช่น หมู วัว ควาย เป็ด ไก่ ปู ปลา และแมลง เป็นต้น จึงได้อาสาต่อพระยาแถนว่า พวกตนยินดีลงมาเป็นอาหารให้มนุษย์ เมื่อพระยาแถนได้ยินดังนั้นจึงกล่าวกับบรรดาสัตว์ว่า สมัครใจเช่นนั้นก็ขอให้ลงมาเป็นอาหารแก่มนุษย์เถิดและหากครั้งใดที่มนุษย์ฆ่าเอาไปกินก็ขออย่าได้คิดอาฆาตแค้นกันเลยและขออย่าให้เป็นบาปเป็นกรรมต่อกันเมื่อพระยาแถน พูดเสร็จบรรดาสัตว์ต่างๆ ก็ลงมาจากสวรรค์ ลงมาเป็นอาหารแก่มนุษย์ตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา
     จากคำเล่าขานนี้ชาวบ้านจึงมีความคิดว่า การฆ่าสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ ไม่ถือว่าเป็นบาปเพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ตกลงกับพระยาแถนไว้แล้วว่าไม่มีบาปต่อกัน
     ดังนั้นก่อนที่จะฆ่าสัตว์ไม่ว่าจะเป็นหมู วัว หรือแมลงชาวบ้านจะมีบทสวดว่า อนิจจัง อนิจจา พลังพลา สุขขัง สุขขา ขันอาสามาเป็นเลือดเป็นยางคนนอกจากสามารถนำแมลงมาบริโภคได้ชนิดที่เรียกว่าไม่เป็นบาปแล้ว ชาวบ้านยังมีความรู้สึกว่าสัตว์ที่เป็นอาหารประเภทนี้เป็นของสูง ที่เป็นอาหารที่พระพุทธเจ้า และพระยาแถนประทานมาให้ ถือว่าเป็นสิ่งมงคลและเป็นการสมควรที่จะนำมากิน
 
     ทัศนคติเกี่ยวกับรสชาติของแมลง ชาวบ้านรู้สึกว่าการได้บริโภคแมลงทำให้ได้รับความหลากหลายในรสชาติเพราะรสชาติของแมลงต่างจากสัตว์ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ความอร่อยและรสชาติของแมลงแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปอีกบางชนิดมีความมันมาก บางชนิดมีความมันน้อย บางชนิดมีความเปรี้ยวผสมกับความมัน บางชนิดมีขาที่อ่อนทำให้กรุบกรอบและบางชนิดเมื่อแกะเปลือกออกส่วนข้างในจะมันและอ่อนนิ่ม จากความหลากหลายในรสชาติทำให้ชาวบ้านเห็นว่าแมลงมีรสชาติแปลก อร่อย และติดใจในรสชาติ ดังนั้นการบริโภคแมลงจึงเป็นสีสันแก่ชีวิต ลดความเบื่อหน่ายจากรสชาติของอาหารประเภทเนื้อสัตว์อื่นๆ ที่บริโภคอยู่อย่างจำเจ
     สำหรับรส มันของแมลงนี้ ชาวบ้านให้คำจัดความว่า หอม เหลือง เมื่อกินเข้าไปจะหอมที่ปลายจมูก กินแล้วรู้สึกเหมือนกินมะพร้าวหรือข้าวโพดสามารถทำให้อิ่มได้ บางคนกล่าวว่า กินเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อเพราะจะมีความอร่อยจากความมันที่อยู่ในตัวแมลงและเมื่อนำไปปรุงอาหารคลุกเคล้ากับเครื่องปรุงยิ่งทำให้มีรสชาติกลมกล่อมมากขึ้น ดังนั้นชาวบ้านจึงมีความกระตือรือร้นในการหาแมลงมาเพื่อบริโภค
      ทัศนคติที่เกี่ยวกับประโยชน์ของแมลง ชาวบ้านรับรู้ว่าแมลงเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะสามารถทำรายได้ให้แก่ตนและครอบครัว ซึ่งเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง เมื่อได้เงินมาบางครอบครัวจะถือโอกาสนี้ อบรมสั่งสอนให้ลูกหลานเป็นคนที่รู้จักหาเงินและเก็บเงินโดยจะให้ลูกหลานหาแมลงมาแล้วนำไปขายที่ตลาด รายได้ที่ได้มานั้นก็ให้เก็บไว้ใช้หรือหยอดกระปุกออมสิน และชาวบ้านรู้สึกว่าการบริโภคแมลงมีประโยชน์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประหยัดเงินของตนในการซื้ออาหารมารับประทานเพราะแมลงสามารถใช้เป็นกับข้าวได้ เพียงแต่ต้องขยันหาแมลงมาให้ได้ ต้องมีความอดทน ทนเหนื่อยและการบริโภคแมลงยังส่งผลให้แก่ชาวบ้านอีกหลายประการ เช่น รักษาอาการเจ็บป่วย บำรุงร่างกาย บำรุงกระดูก บำรุงเลือด และผลผลิตจากแมลงก็สามารถนำมาทำประโยชน์ต่างๆ ได้อีกมากมายด้วย
การเลือกบริโภคแมลงของชาวบ้าน
     แมลงแต่ละชนิดมีลักษณะทางกายภาพและลักษณะทางชีวภาพภายในที่แตกต่างกัน บางชนิดเป็นแมลงที่มีพิษสามารถสร้างความระคายเคืองต่อผิวหนังหรือบางชนิดทำให้เกิดความเจ็บปวดต่อร่างกาย ดังนั้นชาวบ้านจึงต้องมีการรับรู้เกี่ยวกับลักษณะแมลงแต่ละชนิดว่ามีโทษหรือไม่ โดยคำบอกเล่าของพ่อแม่ บรรพบุรุษ หรือบางครั้งก็รับรู้ด้วยประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับตนเอง การรับรู้ที่มีผลต่อการบริโภคแมลงของชาวบ้านมีดังนี้

     1 ชาวบ้านจะไม่นำแมลงที่เสียชีวิตมาบริโภค เนื่องจากไม่ทราบว่าแมลงนั้นเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด อาจจะโดนสารพิษ สารเคมีฆ่าแมลง หรือเสียชีวิตด้วยโรคระบาดก็ได้ พฤติกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านมิได้ละเลยการคำนึงถึงความปลอดภัย แมลงที่ชาวบ้านนำมาบริโภคนั้นต้องถูกจับมาในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มีสุขภาพดีและเมื่อได้มาแล้วก็จะนำมาปรุงอาหารทันที เพราะแมลงเป็นสัตว์ขนาดเล็กที่มีความทนทานน้อยหากเก็บไว้นานอาจจะเสียชีวิตก่อน บางครั้งแมลงที่เสียชีวิตก่อนการปรุงอาหารก็จะทิ้งไปเพราะชาวบ้านต้องการบริโภคแมลงที่สด
      2 การคำนึงถึงความสะอาดก่อนนำมาบริโภค ก่อนนำแมลงไปปรุงอาหารต้องล้างตัวแมลงด้วยน้ำก่อน 1 ครั้ง เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกที่เกิดจากแหล่งที่อยู่ เช่น แมลงบางชนิดอาศัยในกองขี้ควาย บางชนิดอยู่ในน้ำนิ่งที่สกปรก และบางชนิดอาศัยอยู่ตามป่ารกจาก สภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยของแมลงทำให้สิ่งสกปรกต่างๆ ติดมากับตัวแมลง การล้างทำให้แมลงมีลำตัวที่สะอาด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชาวบ้านให้ความสำคัญกับความสะอาด และให้ความสำคัญต่อสุขภาพในระดับหนึ่ง
      3 การคัดเลือกส่วนที่ควรนำมาบริโภค เมื่อถึงขั้นตอนของการบริโภคชาวบ้านเลือกเฉพาะส่วนที่ควรบริโภคได้เท่านั้น เพราะแมลงมีความแข็งของปีก หัว ขา แตกต่างกันไป ความแข็งเกินไปของอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ไม่สะดวกในการบริโภคหรือไม่อร่อย เช่น ส่วนหัวที่แข็งจนเกินไปหรือส่วนขาที่มีหนาม ชาวบ้านจะเด็ดทิ้งและเลือกบริโภคส่วนของลำตัวที่มีแต่เนื้อ สำหรับแมลงที่มีขนาดของลำตัวเล็ก ปีกและขาไม่มีความแข็งและหนาจนเกินไปนัก ก็สามารถบริโภคได้ทั้งตัว เช่น ตั๊กแตน แมลงกระชอน และกุดจี่เป็นต้นปีกและขาของแมลงเหล่านี้สามารถสร้างรสชาติที่แปลกใหม่ให้แก่ชาวบ้านได้คือ กรอบและมัน

     การรับรู้ถึงอันตรายที่เกิดจากการบริโภคแมลง ชาวบ้านรู้ว่าแมลงประเภทกัด ต่อย เช่น ต่อ แตน หรือแมลงแคง มีพิษ การบริโภคแมลงดังกล่าวจึงไม่นิยมบริโภคครั้งละมากๆ เพราะทำให้เกิดอาการมึนเมา วิงเวียนศีรษะ บางรายถึงขั้นอาเจียน ซึ่งเป็นผลจากพิษที่อยู่ในตัวแมลงดังกล่าว


ความเชื่อเกี่ยวกับแมลง
     ความเชื่อ (Belief) เป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความสำคัญจะสังเกตได้จากขะลำ (Taboo) ที่ยังคงอยู่ในชุมชนอย่างเหนียวแน่น และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านประพฤติอยู่เสมอ สัตว์ตระกูลแมลงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านให้ความสำคัญในการยึดถือเรื่องโชคลาง โดยมีคำสอนและข้อควรปฏิบัติสิ่งใด ที่เป็นบังเกิดขึ้นถือเป็นการละเมิดต่อขะลำต้องมีพิธีกรรมแต่งเสียเคราะห์ (พิธีสะเดาะเคราะห์) เพื่อบรรเทาความโชคร้ายให้กลายเป็นดีหรือให้ทุเลาเบาบางลง ความเชื่อเรื่องผีสางเทวดาและสิ่งศักดิ์ของชาวบ้านที่เชื่อว่าสิ่งที่มีอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็น สามารถทำให้ได้รับผลดีหรือผลร้ายได้หากไม่ให้ความเคารพนับถือหรือดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ เช่น ในงานบุญข้าวสากซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนหรือเดือน 10 เป็นงานบุญที่พระและชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป็นการเซ่นไหว้ภูตผี และบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ในอาหารเหล่านั้นแมลงเป็นหนึ่งในเครื่องสังเวย จากการสอบถามพบว่าชาวบ้านนำตัวต่อ กุดจี่ และจิโปมห่อใบตองพร้อมกับใส่เผือกมัน หน่อไม้ดอง กบ พริก ข้าว ฯลฯ แล้วนำไปวางไว้ที่กำแพงวัดเพื่อเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ อาหารประเภทแมลงเป็นอาหารที่ชาวบ้าน นำไปถวายพระบ้างในบางครั้ง ซึ่งหากวันใดที่ชาวบ้านไม่ได้ประกอบอาหารพิเศษ หรืออาหารมีจำกัด โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ชาวบ้านจะออกไปจับแมลงหรือนำแมลงที่ตนมีมาทำเป็นอาหาร แล้วนำไปถวายพระที่วัด


การแสดงถึงความโชคดี
    1 ตัวต่อและผึ้ง เมื่อใดที่แมลงประเภทต่อและผึ้ง เข้ามาทำรังอยู่ภายในตัวบ้าน ชาวบ้านถือว่าโชคดีตัวต่อและผึ้งนำโชคลาภมาให้ เช่น คนในครอบครัวจะประสบความสำเร็จ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ตั้งใจไว้ ทำนาได้ผลผลิตดี ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ คนในครอบครัวจะพูดแต่คำที่เป็นสิริมงคล เช่น เยียวนี่เฮารวยแล้ว ต่อกับผึ้งเฮ็ดโชค เฮ็ดลาภให้เฮาและจะดูแลรังผึ้ง และรังต่อเป็นอย่างดี บางครั้งอาจเอาผ้าไปผูกไว้ที่ขื่อบ้านใกล้ๆ เพื่อเป็นการต้อนรับและเสริมความเป็นสิริมงคล ให้ดียิ่งขึ้นไป และจะดูแลไม่ให้ใครมาจุดไฟเผาเอาไปบริโภคเพราะถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดกับโชคลาภของตน
     2 แมลงม้า เด็กวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ที่เริ่มมีความรัก บางครั้งใช้แมลงสำหรับทำนายหาคู่โดยใช้แมลงม้า (ตั๊กแตนตำข้าว) ที่มักอยู่ตามทุ่งนาหรือบริเวณนาข้าว ซึ่งพบเห็นเวลาเกี่ยวข้าวเมื่อพบเห็นก็ใช้มือขวาจับขึ้นมา โดยจับบริเวณคอให้หันหน้าเข้าหากันจากนั้นจะถ่มน้ำลายใส่หน้าแมลงม้า แล้วถามว่า คู่ฮักกูอยู่ทางใด๋ ครั้นฮู้อยู่ใสก็ชี้เบิ่งเมื่อแมลงม้าถูกน้ำลายและถูกบีบบริเวณคอ ขาก็จะชี้ออกโดยขาคู่หน้าจะตะเกียกตะกาย ซึ่งเด็กวัยรุ่นถือว่าเป็นการบอกทิศทางว่าคู่รักของตนอยู่ทางนั้น ซึ่งมักทำเล่นกันในเวลาเกี่ยวข้าว การกระทำนี้บางครั้งป็นการเกี้ยวพาราสีกันขณะเกี่ยวข้าวโดยฝ่ายชายจะเข้าไปยืนใกล้ๆ คนที่ตนสนใจแล้วแกล้งถาม แมลงม้าว่าคู่รักอยู่ทางใดและจะพยายามให้แมลงม้าเอาขาชี้ไปทางที่คนที่ตนสนใจยืนอยู่บรรดาเพื่อนๆ ก็จะแซวว่าอยู่ทางนี้นี่เอง เกี่ยวข้าวอยู่ เป็นต้น


การแสดงถึงความโชคร้าย
     ขี้แมลงวัน แมลงวันบ้านที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปภายในห้องครัว หรือภายในบ้านหากมาปล่อยมูลหรืออุจจาระ (ขี้ไข่หางในภาษาอีสาน) ลงบนฝากล่องข้าว (ฝากระติ๊บ-ข้าวเหนียว) จะถือว่าขะลำ เนื่องจากในสภาวะปกติแมลงวันจะปล่อยไข่ลงบนอาหารหรือข้าว ฉะนั้นหากมาปล่อยลงบนฝากล่องข้าว ชาวบ้านถือว่าเป็นการผิดวิสัยของแมลงวัน เป็นการแสดงถึงความโชคร้ายของเจ้าของ หรือมีเคราะห์ และกล่องข้าว ในทัศนคติของชาวบ้านเป็นสิ่งที่มีค่าเป็นของสูง เป็นอุปกรณ์ใส่ของกิน ซึ่งชาวบ้านให้ความนับถือ การที่แมลงวันมาปล่อยมูลถือว่าเป็นอัปมงคลของชีวิต จึงจำเป็นที่จะต้องประกอบพิธีแต่งเสียเคราะห์

ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงในประเทศไทย


ประวัติการศึกษาแมลงในประเทศไทย 
      นักสำรวจรวบรวมตัวอย่างแมลงในประเทศไทย สมัยก่อนเป็นชาวต่างประเทศและส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป โดยเข้ามาสำรวจธรรมชาติวิทยาโดยตรง หรือเข้ามาด้วยธุรกิจอย่างอื่น เช่น ค้าขายหรือติดต่อราชการในขณะเดียวกันได้รวบรวม ตัวอย่างแมลงเป็นงานอดิเรกไปด้วย แมลงที่เก็บส่วนใหญ่เป็นแมลงสวยงาม เช่น ผีเสื้อ แมลงปอ หรือด้วงชนิดต่างๆ ตัวอย่างแมลงที่เก็บได้เอาไว้เป็นสมบัติส่วนตัวหรือส่งไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของประเทศเขา ไม่มีผู้ใดทราบว่าชาวต่างประเทศเข้ามาสำรวจแมลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด เท่านี้มีหลักฐานปรากฏพบว่าปี พ.ศ.2330 ซึ่งเป็นสมัยต้นรัตนโกสินทร์ Fabricius นักธรรมชาติวิทยาชาวเดนมาร์กได้ศึกษาพบว่าผีเสื้อที่จับจากประเทศไทย 4 ชนิด เป็นผีเสื้อชนิดใหม่ ไม่มีผู้ใดเคยตั้งชื่อให้ไว้ก่อนจึงไดัทำการตั้งว่า Papilio arcesilaus , P.cocles , P. periander และ P. allica ผีเสื้อทั้ง 4 ชนิดนี้ถือว่าเป็นแมลงชนิดแรกของประเทศไทยที่ได้รับการตั้งชื่อ (Godfrey, E.J. 1930) ปี พ.ศ. 2469 Mr. W.R.S Ladell ชาวอังกฤษผู้เข้ามารับราชการในกระทรวงเกษตรของประเทศไทย ได้เก็บรวบรวมตัวอย่างแมลงศัตรูพืชเศรษฐกิจในขณะนั้น มาจำแนกชนิดเป็นครั้งแรกได้ 69 ชนิด ต่อมาได้ศึกษาแมลงศัตรูพืชเพิ่มเติมอีกหลายชนิด ตัวอย่างแมลงที่ เลเดียล ศึกษานี้ได้รวบรวมเก็บเป็นพิพิธภัณฑ์แมลงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง แผนกกีฏวิทยาซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแมลงเป็นครั้งแรกของประเทศไทย แผนกกีฏวิทยานี้ได้เจริญพัฒนามาเป็นกองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน ส่วนพิพิธภัณฑ์แมลงในสังกัดได้เจริญเติบโตมาเป็นพิพิธภัณฑ์แมลงที่มีข้อมูลทางด้านแมลงมากที่สุดในประเทศไทย (องุ่น ลิ่ววานิช, 2534)



จำนวนชนิดแมลงในโลก
     ไม่มีผู้ใดทราบแน่นอนถึงจำนวนชนิดแมลงทั้งหมดในโลกนี้ หรือแม้กระทั่งจำนวนชนิดแมลงที่ศึกษาทราบชื่อแล้วว่ามีเท่าใด เฉพาะในส่วนของแมลงที่ทราบชื่อแล้วมีประมาณ 750,000 ชนิด จำนวนชนิดแมลงกับจำนวนชนิดของสัตว์อื่นๆ ที่ทราบชื่อแล้วรวมได้ทั้งหมดประมาณมากกว่า 1 ล้านชนิด
     จำนวนชนิดของสัตว์ที่ทราบแล้ว ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของข้อมูลของสัตว์แต่ละกลุ่มที่ทำการศึกษา เช่น นกเป็นกลุ่มที่มีข้อมูลในการศึกษามากโดยได้รับการจำแนกชนิดไว้แล้วสมบูรณ์ที่สุดถึง 99% สัตว์เลื้อยคลานและสัตวเลี้ยงลูกด้วยนม ได้รับการศึกษาวิเคราะห์ชนิดไว้แล้ว 90% ส่วนสัตว์จำพวกขาปล้อง (Arthropoda) ซึ่งรวมทั้งแมลงที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้รับการจำแนกชนิดไว้น้อยมากไม่ถึง 1% ของจำนวนชนิดแมลงทั้งหมด จากคำถามที่ว่า ในโลกนี้มีจำนวนชนิดแมลงทั้งหมดเท่าใดยังไม่มีผู้ใดให้คำตอบได้ คาดคะเนว่ามีประมาณ 2 เท่าของจำนวนชนิด แมลงที่ทราบชื่อแล้วคือประมาณ 1.5 ล้านชนิด ขณะที่ William, C.B. (1964) กล่าวว่ามีประมาณ 3 ล้านชนิดส่วน Stork, N.E. (1997) และ Hammond (1997) สันนิษฐานว่ามีประมาณ 5 -15 และ 12.5 ล้านชนิดตามลำดับ Erwin,T.L. (1982) ได้เคยไปสำรวจด้วงปีกแข็งแถบป่าเขตร้อนของประเทศเปรู ได้คำนวณว่าแมลงทั้งหมดในโลกนี้ประมาณ 30 ล้านชนิด และอาจมากถึง 50 ล้านชนิด (Erwin, T.L.1988)
 



หนอนร่านมีพิษไม่ควรสัมผัส


จำนวนชนิดแมลงในประเทศไทย
     ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศเหมาะสมในการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตจึงพบความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมาก (Ogawa, H. and Yoda, K., 1961) ทางด้านแมลงยังไม่มีผู้ใดศึกษาว่ามีจำนวนชนิดทั้งหมดเท่าใด เช่นเดียวกับจำนวนชนิดของแมลงที่ทราบชื่อแล้วมีอยู่กระจัดกระจายตามสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐและเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศไม่สามารถรวบรวมให้ทราบจำนวนชนิดที่แน่นอนได้ อย่างไรก็ตามแมลงในประเทศไทย ส่วนใหญ่ที่มีชื่อแล้วในอันดับ (Order) ต่างๆ เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แมลงของกองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร มีรายละเอียดดังตารางที่ 1.1



                    
              ตารางที่ 1.1 แสดงจำนวนชนิดแมลงที่ทราบชื่อแล้วในพิพิธภัณฑ์แมลงกองกีฏและสัตววิทยา
              ที่มา : http://www.plantpro.doae.go.th./Biodiversity in Thailand. web/biodiversity.htm /







 การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของแมลง
สาเหตุที่ทำให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงมีหลายประการคือ

1 แหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงถูกทำลาย
     แมลงไม่สามารถเจริญเติบโตเพิ่มปริมาณประชากรได้ ตามธรรมชาติของแมลง เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า การใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การใช้ปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมากเกินปริมาณที่กำหนดไว้ การเกิดมลพิษ ทั้งทางบก ทางน้ำ และ ทางอากาศ ทำให้สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของแมลง


2 การล่าจับแมลง
     การล่าจับแมลงจากแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เช่น การล่าจับแมลงเพื่อการค้า ทำให้ปริมาณลดน้อยลง และนอกจากนั้นแมลงที่หายากบางชนิด อาจสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยได้โดยเฉพาะแมลงที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยเฉพาะที่

     ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติทางด้านแมลงอย่างอุดมสมบูรณ์ ทั้งชนิดและปริมาณ แมลงมีความหลากหลายทั้งรูปร่างลักษณะและสีสันบางชนิดมีรูปร่างแปลก และสีสวยงามเป็นที่ต้องการเสาะแสวงหาเพื่อสะสมไว้เป็นสมบัติของตัวเอง หรือซื้อขายแลกเปลี่ยน จึงมีการล่าจับแมลงกันมากเพื่อประโยชน์ทางการค้า จากการที่มีธุรกิจการค้าแมลงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้น่าเป็นห่วงว่าแมลงจะถูกจับไปเป็นจำนวนมาก จากสภาพแวดล้อมปกติของมัน ซึ่งปกติแมลงกำลังถูกคุกคามทางด้านอื่นๆ อย่างหนักอยู่แล้ว เช่นนั้นการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ปริมาณแมลงลดน้อยลง เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติได้ถูกทำลายไป ทั้งยังมีการล่าจับแมลงเพื่อเป็นการค้ามากยิ่งขึ้น อาจทำให้แมลงบางชนิดที่มีปริมาณน้อยอยู่แล้วในธรรมชาติสูญพันธุ์ไปได้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอนุรักษ์แมลง โดยเฉพาะแมลงที่สวยงามและหายาก 

3 ปัญหาเกี่ยวกับการจับและการค้าแมลง(ดูรูปแมลงและสัตว์ขาปล้องที่ห้ามนำเข้าหรือส่งออก)
     ในการอนุรักษ์แมลงนั้น จำเป็นต้องหามาตรการในการควบคุม และแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2 ประการคือ ในด้านที่เกี่ยวกับการจับแมลง และด้านที่เกี่ยวกับการค้าแมลง ในด้านเกี่ยวกับการจับแมลงนั้น ส่วนใหญ่จะเข้าไปจับในแหล่งที่มีแมลงมาก เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าแมลงมีความสัมพันธ์กับพืช ดังนั้นในแหล่งที่มีพืชอุดมสมบูรณ์จะพบมีแมลงอาศัยอยู่มาก แหล่งดังกล่าวนี้ ได้แก่ เขตป่าอนุรักษ์ต่างๆ ในประเทศไทย เช่น เขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สำหรับในเขตอุทยานแห่งชาตินั้น มีกฏหมายคือ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ห้ามทำการล่าสัตว์ต่างๆ รวมทั้งแมลงอยู่แล้ว ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเป็นกฎหมายดูแลอยู่แต่พระราชบัญญัติฉบับเก่าที่ใช้อยู่ก่อน ปี พ. ศ. 2535 นั้น ไม่รวมแมลงเข้าไปในความหมายของคำว่าสัตว์ป่าด้วย ดังนั้นในอดีตการเข้าไปจับแมลงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ก่อน พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฉบับใหม่ ซึ่งใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ได้รวมแมลงเข้าไปเป็นสัตว์ป่าด้วย ในเขตป่าอนุรักษ์ดังกล่าวนี้ เป็นแหล่งอาศัยและแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติของแมลงได้เป็นอย่างดี มีแมลงชนิดต่างๆ อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งแมลงที่สวยงาม แปลก และหายาก จึงเป็นที่ต้องการของนักค้าแมลงในการที่จะมีไว้ครอบครอง โดยออกไปจับเอง หรือจ้างชาวบ้านจับ ในกรณีนี้ผู้ค้าแมลงจะสอนวิธีการจับ และเก็บรักษารวบรวมทั้งให้อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น เช่น สวิง ขวดสารเคมีฆ่าแมลง ซองใส่แมลง ตลอดจนรูปภาพแมลงที่ต้องการซื้อและราคาที่กำหนดให้ด้วย วิธีการนี้ทำให้ผู้ค้าได้แมลงที่แปลก สวยงามและหายาก ในขณะเดียวกันทำให้เกิดมีการลักลอบเข้าไปจับแมลงในป่าอนุรักษ์อยู่เสมอ สำหรับเรื่องเกี่ยวกับการค้าแมลงนั้น แมลงที่นำมาค้าเกือบทั้งหมดเป็นแมลงที่จับมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของมัน ส่วนที่ได้จากการเพาะเลี้ยงนั้นมีน้อยมากหรือไม่มีเลย ผู้ค้าจะรับซื้อแมลงจากชาวบ้านในราคาถูก แต่นำมาจำหน่ายในราคาสูง ผู้ค้าบางรายมีขอบข่ายการซื้อขายกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และเป็นที่น่าสังเกตว่ามีชาวต่างประเทศหลายรายดำเนินธุรกิจด้านซื้อขายแมลงในประเทศไทย โดยทำเป็นธุรกิจส่วนตัว ไม่มีการตั้งเป็นบริษัทห้างร้าน นอกจากทำการค้าในประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศตามใบสั่งของลูกค้า หรือส่งบัญชีรายชื่อ และราคาไปยังกลุ่มพ่อค้าแมลงในต่างประเทศเพื่อให้พิจารณาสั่งซื้อแมลงที่ส่งขายต่างประเทศบางตัวมีราคาแพงตัวละหลายพันบาท
     ธุรกิจการส่งแมลงไปจำหน่ายต่างประเทศนั้นทำรายได้อย่างมหาศาลให้แก่ผู้ค้า แต่ไม่มีการเสียภาษีให้แก่รัฐบาลไทย และประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติทางด้านแมลงไปเป็นจำนวนมาก จากปัญหาเรื่องการจับและการค้าแมลงดังที่กล่าวมาแล้วทำให้น่าเป็นห่วงว่า แมลงที่สวยงามซึ่งมีการจับและการค้ามากนั้น จะมีปริมาณลดน้อยลงไปมากจากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของมัน และบางชนิดอาจสูญพันธุ์ได้ ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาหาแนวทางอนุรักษ์แมลงเหล่านี้ขึ้น

     หลักเกณฑ์ในการกำหนดชนิดแมลงอนุรักษ์มีดังนี้ เป็นแมลงในกลุ่มที่มีการจับเพื่อการค้ามาก ซึ่งได้แก่ ด้วง และผีเสื้อเป็นแมลงที่หายาก โดยพิจารณาดูว่า ด้วงและผีเสื้อที่มีตัวอย่างเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แมลงของกรมวิชาการเกษตรนั้น ชนิดใดเป็นชนิดที่หายาก โดยเป็นชนิดที่จับได้เมื่อ 30 – 40 ปีมาแล้ว แต่ต่อมาสำรวจไม่พบแมลงชนิดนั้นอีกหรือพบแต่มีปริมาณน้อยมากจัดว่าเป็นแมลงที่หายาก เป็นแมลงที่มีอยู่ในบัญชีรายชื่อในอนุสัญญา CITES (Convention on lnternationaI Trade in Endangered species of Wild Fauna and FIora) หรืออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการค้าซึ่งพืชป่าและสัตว์ป่าที่กำลังสูญพันธุ์ ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญานี้มีรายชื่อแมลงที่พบในประเทศไทยด้วย 3 รายการ คือ ผีเสื้อภูฐาน Bhutanitis spp. ผีเสื้อไกเซอร์ Teinopalpus spp. และผีเสื้อถุงทอง Troides spp. ดังนั้นในการกำหนดชนิดแมลงอนุรักษ์จึงได้กำหนดแมลงทั้ง 3 รายการนี้ เข้าไปในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2535 พร้อมทั้งแมลงชนิดอื่นรวม 13 รายการ คือ


1. ด้วงกว่างดาว Cheirotonus parryi Gray. (Family Scarabaeidae)
2. ด้วงคีมยีราฟ Cladagnathus giraffa Fabricus. (Family Lucanidae)
3. ด้วงดินขอบทองแดง Mouhotia batesi Lewis. (Family Carabidae)
4. ด้วงดินปีกแผ่น Mormolyce phyllodes Hegenb. (Family Carabidae)
5. ผีเสื้อกลางคืนค้างคาว Lyssa zampa Butler. (Family Uraniidae)
6. ผีเสื้อกลางคืนหางยาวในสกุล Actias spp. (Family Saturniidae)
- ผีเสื้อหางยาวสี่ตาปีกลายตรง Actias selene Huber.
- ผีเสื้อหางยาวตาเดี่ยวปีกลายหยัก Actias maenas Doubleday.
- ผีเสื้อหางยาวตาเดี่ยวปีกลายตรง Actias rhodopneuma Rober.
- ผีเสื้อหางยาวปีกลายหยัก Actias sinensis heterogyna Mell.
7. ผีเสื้อไกเซอร์ Teinopalpus imperialis imperatrix de Nicevill. (Family Papilionidae)
8. ผีเสื้อถุงทอง สกุล Troides spp. (Family Papilionidae)
- ผีเสื้อถุงทองป่าสูง Troides helena Linnaeus. (Family Papilionidae)
- ผีเสื้อถุงทองปักษ์ใต้ Troides amphrysus Cramer. (Family Papilionidae)
- ผีเสื้อถุงทองธรรมดา Troides aeacus Felder. (Family Papillonidae)
9.ผีเสื้อนางพญาในสกุล Stichopthalma spp. (Family Amathusiidae)
- ผีเสื้อนางพญาเขมร Stichopthalma cambodia Hewitson.
- ผีเสื้อนางพญากอดเฟรย์ Stichopthalma godfreyi Rothschild.
- ผีเสื้อนางพญาพม่า Stichopthalm 1ouisa Wood-Mason.
10.ผีเสื้อภูฐาน Bhutanitis 1idderdalei Atknson. (Family Papilionidae)
11.ผีเสื้อรักแร่ขาว Papilio protenor euprotenor Fruhstorfer. (Family Papilionidae)
12.ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ Meandrusa gyas Westwood. (Family Papilionidae)
13.ผีเสื้อหางติ่งสะพายเขียว Papilio palinurus Fabricius. (Family Papilionidae)


 แนวทางการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลง

เพื่อให้การอนุรักษ์แมลงดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีแนวทางในการอนุรักษ์ ดังนี้
    1  กำหนดขนาดของแมลงให้เป็นสัตว์ป่าสงวนหรือคุ้มครองเพิ่มเติม ยังมีแมลงที่สวยงามและหายากอีกหลายชนิด ที่สมควรกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ยังไม่มีข้อมูลบางประการเกี่ยวกับ แมลงเหล่านั้น จำเป็นต้องมีการศึกษาโดยละเอียดก่อน  
     2  การป้องกันการลักลอบจับแมลงในเขตป่าอนุรักษ์ เช่น เขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เท่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ควบคุมดูแลป่าอนุรักษ์บางแห่ง มักจะไม่เข้มงวดในการจับแมลง เนื่องจากมีความคิดว่าเรื่องแมลงเป็นเรื่องไม่สำคัญ พวกเขายังมีงานอื่นๆ ที่คิดว่าสำคัญกว่า เช่น การปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า หรือการล่าสัตว์ใหญ่เป็นต้น ซึ่งความเป็นจริงแล้วการเข้าไปจับแมลงในเขตป่าอนุรักษ์ดังกล่าว โดยไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมายบัญญัตินั้นย่อมมีความผิดทั้งสิ้น  
     3 การควบคุมการส่งแมลงออกไปต่างประเทศในปัจจุบันนี้ การส่งแมลงออกไปยังต่างประเทศจะต้องได้รับการตรวจสอบจากกองกีฏและสัตววิทยากรมวิชาการเกษตรก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้มีแมลงอนุรักษ์ส่งออกไปต่างประเทศได้ หลังจากนั้นกรมป่าไม้จะออกหนังสือรับรอง CITES ให้ในประเทศที่เจริญแล้วเช่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในทวีปยุโรป ประเทศออสเตรเลียและประเทศญี่ปุ่น มีความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์เป็นอย่างดี จึงไม่ยอมให้แมลงที่ไม่มีหนังสือรับรอง CITES เข้าประเทศหรือแม้แต่นักกีฏวิทยาของประเทศเหล่านั้น ที่เข้ามาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแมลงในประเทศไทย และต้องการนำแมลงบางชนิดไปศึกษาวิจัยต่อในประเทศของเขาจะต้องมีใบรับรองจากฝ่ายไทยว่าแมลงที่เขานำไปนั้นไม่ได้เป็นแมลงอนุรักษ์ และไม่ได้เป็นแมลงที่จับมา จากเขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจึงนำเข้าประเทศได้ เป็นการร่วมมือป้องกันไม่ให้มีการลักลอบเข้ามาจับแมลง ในเขตป่าอนุรักษ์ของประเทศอื่น
     4 ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แมลงที่อนุรักษ์ วิธีการนี้ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณแมลงที่หายากได้มากขึ้น การดำเนินการเพาะเลี้ยงนี้ต้องมีการลงทะเบียนไว้อย่างถูกต้อง เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าแมลงที่นำมานั้นเป็นแมลงที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง ไม่ใช่เป็นแหล่งที่จับมาจากแหล่งธรรมชาติของมัน
      5 สร้างจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ จิตสำนึกทางด้านการอนุรักษ์ได้ตื่นตัวขึ้นมากในประเทศไทย เนื่องจากประชาชนได้รับทราบความจำเป็นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจาก สื่อต่างๆ อยู่เสมอ
     แมลงมีชีวิตความเป็นอยู่ได้หลายรูปแบบตามสภาพแหล่งอาศัยต่างๆ กัน มีทั้งชนิดที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวตามลำพังหรืออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีสังคมของมันเอง มีทั้งชนิดที่เป็นประโยชน์และให้โทษ แต่อย่างไรก็ตามแมลงมีส่วนสำคัญในระบบนิเวศ ทำให้ธรรมชาติอยู่ในสภาวะสมดุล นอกจากนี้ความสวยงามของแมลงยังมีส่วนช่วยทำให้โลกสดใสน่าอยู่ขึ้นจึงสมควรอนุรักษ์แมลงไว้โดยเฉพาะแมลงที่สวยงามและหายาก ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้
     ในการกำเนิดและวิวัฒนาการของแมลงนั้น มีหลายทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามหาหลักฐานมาอ้างอิง แต่เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก และเกิดขึ้นมากในช่วงเวลาที่เปลือกโลกไม่สามารถเก็บซากดึกดำบรรพ์ได้ดีทำให้หลักฐานทางวิวัฒนาการของแมลงนั้นมีน้อยมาก ทฤษฎีแมลงมีวิวัฒนาการร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น และนอกจากนี้ยังมีแนวความคิดที่เชื่อว่าบรรพบุรุษของแมลงเป็นพวกแอนเนลิดที่มีรูปร่างคล้ายหนอน และมีวิวัฒนาการจนกลายเป็นแมลง
     แมลงมีทั้งประโยชน์ และโทษต่อมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันนี้ความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงได้ลดน้อยลง อันเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเองและจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งการจับเพื่อเป็นอาหารและการกำจัดด้วยสารเคมีรวมถึงการจับแมลงสวยงามและหายากเพื่อจำหน่าย การลดจำนวนลงของแมลงบางชนิดอาจส่งผลให้แมลงบางชนิดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในธรรมชาติแมลงสามารถที่จะควบคุมสมดุลทั้งจำนวนชนิดและปริมาณได้ แต่เมื่อระบบถูกทำลายทำให้มีแมลงไม่สามารถควบคุมสมดุลได้ ดังนั้นเราจึงมีนโยบายในการอนุรักษ์ความหลากหลายของแมลงโดยกำหนดให้ แมลงเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือคุ้มครองเพิ่มเติม มีการป้องกันการลักลอบจับแมลงในเขตป่าอนุรักษ์ ควบคุมการส่งแมลงออกไปต่างประเทศ และส่งเสริมการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แมลงที่อนุรักษ์ รวมถึงการสร้างจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์




  ข้อมูลจาก http://www.baanjomyut.com/library/

   ภาพจาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%87






1 ความคิดเห็น: