คัมภีร์สรรพคุณยาโบราณ ๒๔๘๔

        
คัมภีร์สรรพคุณยาโบราณ ๒๔๘๔
           ผมได้คัมภีร์สรรพคุณยาโบราณที่มีสภาพเก่าดังผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ จากคุณยายอายุ ๘๐ ปีกว่าๆโดยการพบเจอกันครั้งแรกและก็ได้พูดคุยกันที่หมู่บ้านน้ำสาด ตำบลหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีร่างกายแข็งแรงมาก สามารถเดินและทำงานบ้าน เช่นปลูกผักไว้รับประทานเองดายหญ้าหน้าบ้านให้ดูสะอาดตาอยู่เสมอ  เก็บข้าวของภายในบ้านเป็นระเบียบ กวาดถูบ้านหลังเล็กๆดูเป็นเงาเลยเชียว พูดก็เสียงดังฟังชัด คุณยายบอกว่าได้คัมภีร์เล่มนี้มาตอนที่คุณยายโตมากแล้วและได้ใช้ประโยชน์จากคัมภีร์นี้ในการปรุงยาไว้รับประทานเองเป็นประจำโดยไม่ต้องไปเสียตัง ซื้อยา หาหมอตามคลินิกให้เสียเวลาทำมาหากินอีกเปล่าๆตลอดมาจนถึงทุกวันนี้  ผมได้ฟังและได้เห็นความแข็งแรงของคุณยายกับตาตัวเองอย่างนี้จะไม่ให้เชื่อได้อย่างไรครับ
           คุยกันได้สักพักใหญ่ๆผมสังเกตุเห็นคุณยายเริ่มไว้ใจ เชื่อถือ และถูกคอกันเพิ่มมากขึ้นตามลำดับและแล้วผมจึงได้เอ่ยปากขอคัมภีร์ที่ผมกำลังถืออ่านอย่างตั้งใจอยู่ในมือเล่มนี้ทันที  มีแต่คนเขามาขอยาที่ปรุงแล้วไปกินกันทั้งนั้น   นี่ขอคัมภีร์ดีเหมือนกันจะได้มีคนเผยแพร่ไม่ให้สูญหายคุณยายพูดด้วยถ้อยคำที่ยินดี ผมรับไว้ด้วยความดีใจตื่นเต้นกับคัมภีร์สรรพคุณยาโบราณที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และไม่เคยเป็นเจ้าของเลยในช่วงชีวิตนี้
           วันนี้ผมแสดงเจตนาที่จะให้คัมภีร์สรรพคุณยาโบราณนั้นได้อยู่คู่กับปวงชนตลอดจนลูกหลานชาวไทยไม่ให้สูญหายไร้ค่าไป  โดยจะรักษาถ้อยคำโบราณไว้คงเดิมมิให้เปลี่ยนแปลงไปตามสมัย  หวังว่าคงมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีความสนใจศึกษา  ทำความเข้าใจมีความคิดที่จะปรุงยาไว้รับประทานเองไม่มากก็น้อย  คัมภีร์สรรพคุณยาโบราณ  บอกวิธี  สรรพคุณชื่อ  สรรพคุณสัณฐาน  สรรพคุณตามพิกัด สรรพคุณต่างประเทศ  สรรพคุณเทียบ สรรพคุณยาหมู่  สรรพคุณกระสายยา มีรายละเอียดสรรพคุณยาดังที่ผมจะเสนอต่อไปนี้ครับ

สรรพคุณยา

           คัมภีร์สรรพคุณยาเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่หมอจะต้องเรียนรู้  ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จักในการที่จะประกอบยาแก้ไข้ตามส่วน   หรือว่าไม่รู้จักชักถอนและเพิ่มเติมให้ถูกต้องตามลักษณะ  อาการไข้เพราะการแก้โรคต้องแก้ให้ถูกต้องตามรสแห่งยาเหตุที่ยาก็มีหลายรสโรคก็มีหลายอย่างด้วยกัน
            เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวไว้ว่าสรรพคุณยาเป็นสมบัติของหมอส่วนหนึ่ง  ท่านจึงจัดเป็น ๓ ประเภทคือ  ประเภท๒  ประเภท๔  ประเภท๙  และท่านจัดรสยาตามประเภทเป็น๓  ขึ้นตั้งเป็นประธานก่อนคือ:-  ๑ รสยาเย็น  ๒ รสยาร้อน  ๓ รสยาสุขุม  รวมเป็น ๓ ประเภท  ในประเภทหนึ่งๆท่านประมวลไว้ดังนี้
           ๑. รสยาเย็น  ได้แก่จำพวกเกษรดอกไม้ต่างๆ ใบไม้บางชนิดที่ไม่ร้อน  สัตตะเขา  เนาวเขี้ยวและของชำระเผาให้เป็นถ่านแล้วปรุงขึ้นเป็นยา  เป็นต้นว่า  ยามหานิล ยามหากาฬ สำหรับแก้ในทางเตโชธาตุฯ
           ๒. รสยาร้อน  ได้แก่จำพวกเบญจกูลหรือตรีกะตุก  ตรีสาร  หัสคุณ  ขิง ข่า  ไพล  ปรุงขึ้นเป็นยา เช่นยาเหลืองต่างๆ  สำหรับแก้ในทางลมเป็นต้น 
           ๓. รสยาสุขุม  ได้แก่จำพวก โกฏฐ์ทุกชนิด เทียนทุกชนิด กฤษณา กะลำภัก ขอนดอก ชะลูด อบเชยเป็นต้น  ปรุงขึ้นเป็นยาเช่น  ยาหอมต่างๆสำหรับแก้ในทางโลหิตฯ
            ท่านจัดประเภทเป็น ๔ ตามธาตุดังนี้
            ๑. รสยา  ฝาด  เค็ม หวาน  มัน  ชอบโรคอันเกิดเพื่อ ปฐวีพิการฯ (ปฐวีหมายถึงดิน)
            ๒. รสยา  ขม  เปรี้ยว  เมา  ชอบโรคอันเกิดเพื่ออาโปธาตุพิการฯ(อาโปหมายถึงน้ำ)
            ๓. รสยา  เย็น  จืด  ชอบโรคอันเกิดเพื่อเตโชธาตุพิการฯ ( ปฐวีธาตุ = ธาตุดิน ๒. อาโปธาตุ =                                  ธาตุนํ้า ๓. เตโชธาตุ = ธาตุไฟ ๔. วาโยธาตุ = ธาตุลม. )
            ท่านจำแนกรสยาไว้เป็น ๙  ตามลักษณะดังนี้
            ๑. รสยาฝาด  ชอบสมาน
            ๒. รสยาหวาน  ชอบซึมซาบตามเนื้อ
            ๓. รสยาเมาเบื่อ  ชอบแก้พิษ
            ๔. รสยาขม  ชอบแก้ทางโลหิต
            ๕. รสยาเผ็ด  ร้อน  ชอบแก้ลม
            ๖. รสยามัน  ชอบแก้เส้นเอ็น
            ๗. รสยาหอม  เย็น  ชอบชื่่นใจ
            ๘. รสยาเค็ม  ชอบซาบไปตามผิวหนัง
            ๙. รสเปรี้ยว  ชอบกัดเสมหะ