สารพรรณพันธุ์ไผ่; เกษตรธรรมชาติ

เกษตรอินทรีย์(organic agriculture) ดูรายละเอียดคลิกที่นี่

  • มารู้จักไผ่กันดีกว่า

คลิกที่อักษรสีส้มอ่านเพิ่มพูนปัญญา
        ไผ่ มีความสำคัญในพุทธประวัติมาก เพราะเป็นพระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาเรียก "เวฬุวนาราม" โดยพระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ถวาย ต่อมาพระอรหันต์ (พระขีณาสพ) จำนวน 1,250 รูป ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ อารามแห่งนี้โดยมิได้มีการนัดหมาย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสาม พระพุทธองค์ได้ถือเอาวันนี้เป็นวันประกาศหลักสามประการของพระพุทธศาสนาเรียกว่า "โอวาทปาฏิโมกข์" ชาวพุทธทั้งหลายจึงถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นั่นคือ "วันมาฆะบูชา" สืบเนื่องกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

        ไผ่ เป็นไม้พุ่มหลายชนิดและหลายสกุลใน วงศ์หญ้า Poaceae (เดิมคือ Gramineae) วงศ์ย่อย Bambusoideae เป็นไม้ไม่ผลัดใบใน ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นปล้องๆ เช่น ไผ่จีน (Arundinaria suberecta Munro) ไผ่ป่า (Bambusa arundinacea Willd.) ไผ่สีสุก (B. flexuosa Munro และ B. blumeana Schult.) ไผ่ไร่ (Gigantochloa albociliata Munro) ไผ่ดำ (Phyllostachys nigra Munro).


        ไผ่ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 90 สกุล และ 1,000 ชนิด. ที่รู้จักกันแพร่หลาย ส่วนใหญ่จะอยู่ในสกุล ต่อไปนี้ Arundinaria, Bambusa, Chimonobambusa, Chusquea, Dendrocalamus, Drepanostachyum, Guadua angustifolia, Hibanobambusa, Indocalamus, Otatea, Phyllostachys, Pleioblastus, Pseudosasa, Sasa, Sasaella, Sasamorpha, Semiarundinaria, Shibataea, Sinarundinaria, Sinobambusa, Thamnocalamus

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  (อ่านลักษณะทางพฤกษศาสตร์เพิ่มเติม)
      
     ไผ่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นไผ่ที่มีการแตกกอขนาดใหญ่ และเป็นลำต้นสูงตรง ผอมเรียว ส่วนไผ่ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นนั้น เป็นไผ่ที่มีการแตกกอน้อย และมีลำต้นขนาดใหญ่ 

      ลำต้น ไผ่มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า(rhizome) ส่วนโคนของลำต้นเหนือดินจะใหญ่และค่อย ๆ เรียวไปยังส่วนปลายลำต้น หน่อใหม่จะเจริญออกมาจากตาข้างหรือตายอดของเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ไผ่แต่ละลำประกอบด้วยส่วนของปล้องลำต้นที่มีลักษณะเป็นท่อกลวง และส่วนข้อที่มีลักษณะเป็นแผ่นแบนแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นขึ้นอยู่กับชนิดของไผ่ ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.5-20 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น ขึ้นกับขนาดของหน่ออ่อนที่เจริญออกมาจากเหง้าใต้ดินอีกด้วย ปล้องที่อยู่บริเวณส่วนกลางของลำต้นมักมีความยาวมากกว่า ปล้องที่อยู่ตรงส่วนโคนหรือส่วนปลายของลำต้น และมีริ้วรอยของกาบใบที่หลุดร่วงไปจากบริเวณข้อของลำต้นด้วย ข้อของลำต้นไผ่บางชนิดอาจมีลักษณะโป่งพอง และอาจพบรากพิเศษเจริญออกมาจากข้อของลำต้นที่อยู่ใกล้กับส่วนโคนของลำต้น

     ใบ  ใบของไผ่ประกอบด้วยส่วนของแผ่นใบ(blade) กาบใบ(sheath proper) ลิ้นใบ(ligule) และเขี้ยวใบ(auricles) ซึ่งมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันตามชนิดของไผ่ รวมทั้งสีสันของกาบใบที่หุ้มหน่ออ่อน รวมทั้งการมีหนาม ขนหรือความเป็นมันเงาของกาบใบก็แตกต่างกันไปตามชนิดของไผ่ด้วย 

      การแตกกิ่งก้านสาขาของไผ่จะพบตั้งแต่ส่วนโคนของลำต้นไปจนกระทั่งถึงส่วนปลายยอดในไผ่บางชนิด แต่ไผ่บางชนิดมีการแตกกิ่งก้านสาขาเฉพาะส่วนยอดของลำต้นเท่านั้น 

      ดอกไผ่ออกดอกเป็นช่อซึ่งมีช่อดอกย่อยแบบ Spikelet ช่อดอกของไผ่ถูกแบ่งออกได้เป็น 2 แบบใหญ่ ๆ คือ แบบ semelauctant ซึ่งมีการเรียงของช่อดอกย่อยออกมาจากทั้งสองด้านแกนกลาง เป็นช่อดอกแบบช่อกระจะ (Raceme) หรือ (panicle) ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นช่อดอกแบบ iterauctant หรือ indeterminate ซึ่งมีช่อดอกแตกออกเป็นกระจุกเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ 




ดอกไผ่

      ผล  ผลของไผ่เป็นผลธัญพืช (caryopsis) เช่นเดียวกับพืชชนิดอื่น ๆ ซึ่งอยู่ในวงศ์หญ้า มีผนังผลเชื่อมติดกับส่วนของเปลือกหุ้มเมล็ด เมล็ดประกอบด้วย เอ็มบริโอ(embryo) เอนโดสเปิร์ม(endosperm) และใบเลี้ยง 1 ใบ เรียกว่า scutellum เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นกล้า จะมีรากปฐมภูมิซึ่งพัฒนามาจากรากแรกเกิด(radicle) ของเอ็มบริโอ ส่วนยอดอ่อน(plumule) จะเจริญเป็นลำต้นโผล่เหนือดิน โดยมีเนื้อเยื่อหุ้มยอดแรกเกิด(coleoptile) ห่อหุ้มปลายยอดของต้นกล้าออกมาด้วย 

        ดูโครงสร้างของผลเพิ่มเติม      
      
      ราก
      รากมีหน้าที่หลักที่สำคัญ คือ
          1.  ดูด ( absorption ) น้ำและแร่ธาตุที่ละลายน้ำจากดินเข้าไปในลำต้น
          2.  ลำเลียง ( conduction ) น้ำและแร่ธาตุรวมทั้งอาหารซึ่งพืชสะสมไว้ในรากขึ้นสู่ส่วนต่างๆของลำต้น
          3.  ยึด ( anchorage ) ลำต้นให้ติดกับพื้นดิน
          4.  แหล่งสร้างฮอร์โมน ( producing hormones ) รากเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตฮอร์โมนพืชหลายชนิด เช่น ไซโทไคนิน จิบเบอเรลลิน ซึ่งจะถูกลำเลียงไปใช้เพื่อการเจริญพัฒนาของส่วนลำต้น ส่วนยอด และส่วนอื่นๆของพืช นอกจากนี้ยีงมีรากของพืชอีกหลายชนิดที่ทำหน้าที่พิเศษอื่นๆ เช่น สะสมอาหาร  สังเคราะห์แสง  ค้ำจุน  ยึดเกาะ  หายใจ  เป็นต้น
         ชนิดของราก
          เมื่อจำแนกตามกำเนิด  จะจำแนกออกได้เป็น  3  ชนิด คือ
          1.  primary  root  เป็นรากที่มีกำเนิดและเจริญเติบโตมาจาก radicle รากชนิดนี้ตอนโคนจะโตแล้วค่อยๆเรียวเล็กลงเรื่อยๆจนถึงปลายซึ่งก็คือ รากแก้ว ( tap root )นั่นเอง
          2.  secondary  root เป็นรากที่มีกำเนิดและเจริญเติบโตออกมาจาก primary root อีกทีหนึ่ง  เป็นรากที่เรียกกันทั่วๆไปว่า รากแขนง ( lateral root ) และแขนงต่างๆที่แยกออกไปเป็นทอดๆนั้นต่างมีกำเนิดมาจากเนื้อเยื่อ pericycle
.ในรากเดิมทั้งสิ้น
          3.  adventitious root รากพิเศษ หรือ รากวิสามัญ เป็นรากที่ไม่ได้มีกำเนิดมาจาก radicle และก็ไม่เป็นแขนงของprimary root  จำแนกเป็นชนิดย่อยๆลงไปอีกตามรูปร่างและหน้าที่ของมัน  คือ
          3.1 รากฝอย ( fibrous root ) เป็นรากเส้นเล็กๆมากมายขนาดสม่ำเสมอตลอดความยาวของราก งอกออกจากรอบๆโคนต้นแทนรากแก้วที่ฝ่อไป  พบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่  เช่น  รากข้าว  ข้าวโพด  หญ้า  หมาก  มะพร้าว  ตาล  กระชายและพบในพืชใบเลี้งคู่บางชนิด เช่น  รากต้อยติ่ง  มันเทศ  มันแกว
          3.2  รากค้ำจุน ( prop root ) เป็นรากที่แตกออกจากข้อของลำต้นที่อยู่ใต้ดินและเหนือดินเล็กน้อย แล้วพุ่งทะแยงลงไปในดินเพื่อช่วยพยุงและค้ำจุนลำต้น ได้แก่ รากเตย  ลำเจียก  ข้าวโพด  ยางอินเดีย  โกงกาง  และไทรย้อย  เป็นต้น
          3.3  รากสังเคราะห์แสง ( photosynthetic root ) เป็นรากที่แตกออกจากข้อของลำต้นหรือกิ่งแล้วห้อยลงมาในอากาศ มีสีเขียวของคลอโรฟิลล์จึงสังเคราะห์แสงได้ ได้แก่  รากกล้วยไม้  ไทร  โกงกาง ซึ่งจะมีสีเขียวเฉพาะตรงที่ห้อยอยู่ในอากาศเท่านั้น  รากกล้วยไม้นอกจากจะมีสีเขียวและช่วยในการสังเคราะห์แสงแล้ว  พบว่ามีเยื่อพิเศษลักษณะนุ่มคล้ายฟองน้ำ เป็นเซลล์พวกพาเรงคิมาเรียงตัวกันอย่างหลวมๆ โดยมีช่องว่างระหว่างเซลล์มากเรียก นวม ( velamen ) หุ้มอยู่ตามขอบนอกของรากช่วยดูดน้ำ  รักษาความชื้นให้แก่ราก ตลอดทั้งช่วยในการหายใจด้วย
          3.4  รากหายใจ ( respiratory root  or  aerating root ) เป็นรากที่ชูปลายรากขึ้นมาเหนือพื้นดินบางทีก็ลอยตามผิวน้ำ เพื่อช่วยในการหายใจได้มากเป็นพิเศษกว่ารากปกติทั่วๆไป  ทั้งนี้เพราะโครงสร้างของรากประกอบด้วยเซลล์พาเรงคิมาซึ่งเรียงตัวอย่างหลวมๆ มีช่องว่างระหว่างเซลล์มาก  ทำให้อากาศผ่านเข้าสู่เซลล์ชั้นในของรากได้ง่าย  รากเหล่านี้อาจเรียกว่า รากทุ่นลอย ( pneumatophore )  ได้แก่  ลำพู  แสม  โกงกาง  แพงพวยน้ำ  และผักกระเฉด เป็นต้น
          3.5  รากเกาะ ( climbing root ) เป็นรากที่แตกออกมาจากส่วนข้อของลำต้น แล้วเกาะติดกับสิ่งยึดเกาะ เช่นเสาหรือหลักเพื่อพยุงลำต้นให้ติดแน่นและชูส่วนของลำต้นให้สูงขึ้นไป และให้ส่วนต่างๆของพืชได้รับแสงมากขึ้น ได้แก่  พลูพลูด่าง  พริกไทย  และกล้วยไม้ เป็นต้น
          3.6  รากกาฝาก ( parasitic  root ) เป็นรากของพืชที่ไปเกาะต้นพืชชนิดอื่น แล้วมีรากเล็กๆแตกออกมาเป็นกระจุกแทงลงไปในลำต้นจนถึงท่อลำเลียงเพื่อแย่งอาหาร ได้แก่  รากฝอยทอง  กาฝาก  เป็นต้น
         3.7  รากสะสมอาหาร ( storage root ) ทำหน้าที่สะสมอาหารพวกแป้ง ไขมัน และโปรตีน เช่น  รากกระชายมันเทศ มันแกว มันสำปะหลัง เป็นต้น
         3.8  รากหนาม ( root thorn ) เป็นรากที่มีลักษณะเป็นหนามงอกมาจากบริเวณโคนต้น  ตอนงอกใหม่ๆเป็นรากปกติแต่ต่อมาเกิดเปลือกแข็งทำให้มีลักษณะคล้ายหนามแข็ง ช่วยป้องกันโคนต้นได้ เช่น ปาล์ม
         
     ท้ายที่สุดพอจะแยกออกได้แล้วนะครับว่าไผ่มีระบบรากแบบใหน
         
     ในประเทศไทยนั้น พบไผ่อยู่ 30 ชนิด ดังนี้
ไผ่ข้าวหลาม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cephalostachyum pergracile )
ไผ่คายดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa compressa)
ไผ่โจด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Arundinaria cililta)
ไผ่ซาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus strictus)
ไผ่ซางคำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus latiflorus)
 ไผ่ซางนวล(ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus membranaceus)
ไผ่ซางหม่น (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus sericeus )(อ่านเพิ่มพูนปัญญา)
ไผ่ตง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus aspe)
ไผ่ตากวาง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa kurzii)
ไผ่บง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa nutans)
ไผ่บงคาย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa hosseusii)
ไผ่บงคำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa tulda)
ไผ่บงป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa longispatha)
ไผ่บงหนาม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa burmanica)
ไผ่ป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa bambos)
ไผ่เป๊าะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus giganteus)
ไผ่ผาก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa densa)
ไผ่เพ็ก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Vietnamosasa pusilla)
ไผ่รวก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Thyrsostachys siamensis)
ไผ่รวกดำ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Thyrsostachys oliveri)
ไผ่ไร่ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Gigantochloa albociliata)
ไผ่หางกระรอก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa longispiculatar)
ไผ่เลี้ยง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa mulfiplex)
ไผ่หวาน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa sp.)(อ่านเพิ่มพูนปัญญา)
ไผ่สีสุก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa blumeana)
ไผ่หก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Dendrocalamus hamiltonii)
ไผ่หลอด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Neohouzeaua mekongensis)
ไผ่หอม (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa polymorpha)
ไผ่เหลือง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Bambusa vulgaris)
ไผ่เฮียะ (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cephalostachyum virgatum)

ความหมายอันเป็นสัญลักษณ์ของต้นไผ่
      
        หลายๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า ประเทศหลังม่านไม้ไผ่เมื่อเปิดเข้าไปข้างหลังม่านไม้ไผ่เราก็ จะพบกับประเทศจีนประเทศที่มีประเพณี วัฒนธรรม ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอันมาก ซึ่งครั้งนี้เราจะได้นำเกล็ดเกี่ยวกับต้นไผ่มาฝาก จะเห็นได้ว่าต้นไผ่นี้ชาวจีนนิยมปลูกกันมาก จนฝรั่งกล่าวว่าไผ่เป็นมิตรของชาวจีน ต้นไผ่มีอยู่หลายชนิดบางชนิดลำต้นมีลาย จึงมีนิทานเล่าว่า ลำข้อที่ลายเกิดขึ้นจากน้ำตาของพระมเหสี 2 องค์ของฮ่องเต้ซุน ที่ร่ำไห้เสียใจที่ฮ่องเต้ได้สิ้นพระชนม์ลง และน้ำตามาติดที่ข้อไผ่จนเกิดเป็นลาย บางชนิดบางต้นเป็นสีเขียวเรียบ ส่วนขนาด ของลำต้นนั้นมีความสูงตั้งแต่ 2-3 ฟุต ไปจนถึง 20-30 ฟุต ส่วนมากจะนิยมปลูกทางใต้ของประเทศจีน แต่ต่อมาได้นำมาปลูกทางเหนือด้วย ต้นไผ่นี้ชาวจีนถือว่าเป็นต้นไม้ของนักปราชญ์ ไผ่มีความหมายในทางสัญลักษณ์คือ ตัวลำต้นเป็นข้อแข็งแกร่งคงทนจีนเรียกว่า " เจี๊ย " หมายถึงคนมีข้อ คือคนที่มีหลักการไม่ลู่ตามลม

        ข้างในของไผ่จะกลวง ถ้าเปรียบกับคน ก็เปรียบเสมือนคนใจกว้างยอมรับความคิดเห็นและคำแนะนำของผู้อื่น ชอบหาความรู้เพิ่มเติม ส่วนใบเขียวของไผ่มีความแข็งแรงทนได้ทุกสภาวการณ์ไม่ว่าจะร้อนหรือหนาว จึงเป็นเหตุให้เหล่า เสนาธิการหรือกุนซือของกองทัพจีนนิยมมีเข็มกลัดเป็นรูปข้อไผ่ติดบนหน้าอก ซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง ความมีปัญญา ความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์และความกตัญญู ในเมืองไทยที่เห็นปลูกไผ่นั้นส่วนมากนิยมปลูกเพื่อการตกแต่งบ้านให้ร่มเงา หรือนำเอาส่วนต่างๆ ของต้นไผ่มาทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งต่างๆ แต่ถ้าเราจะเอาแบบอย่างของความหมายทาง สัญลักษณ์ของต้นไผ่มาใช้ในชิวิตประจำวัน ก็คิดว่าสังคมไทยคงจะน่าอยู่มากกว่านี้

          
  คุณลักษณะพิเศษของ "ไผ่"
     
      1.ไผ่โตเร็วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ภายในเวลา ๑ - ๔ ปี และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่รากไผ่เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นยารักษาโรคได้ หน่อไผ่หรือหน่อไม้ใช้ทำอาหาร กาบหรือใบไผ่ใช้ห่ออาหารหรือหมักปุ๋ย กิ่งและแขนงใช้ทำรั้ว ลำต้นใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง ตั้งแต่นำมาใช้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและแปรรูปเป็นเครื่องจักสานและเครื่องมือเครื่องใช้นานาชนิดจนถึงนำมาใช้เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย
ดังนั้นชาวนาจึงมักปลูกไผ่ตามหัวไร่ปลายนา และปลูกไว้รอบๆบ้าน เพื่อใช้เป็นรั้วบ้านและป้องกันพายุ เพราะไม้ไผ่จะลู่ตามลมไม่หักโค่นเหมือนไม้อื่น หากปลูกไผ่ไว้ตามริมแม่น้ำลำคลอง จะช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำไม่ให้ดินพัวทะลายง่าย นอกจากนี้ไผ่ยังใช้เป็นอาหารในครัวเรือนได้ด้วย
     2. ไผ่มีลำต้นตรงและกลวงคล้ายหลอดและมีปล้องข้อคั่นเป็นปล้องๆ จึงใช้เป็นภาชนะประเภทกระบอก ถ้วย สำหรับใส่ของเหลว เช่นใช้เป็นกระบอกน้ำ กระบอกน้ำตาล ซึ่งใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ ลักษณะพิเศษของไม้ไผ่นี้สามารถนำมาใช้สร้างอาคารที่พักอาศัยได้ โดยนำมาทำเป็นโครงสร้างของบ้านเรือน ใช้เป็นพื้นเรือน ฝาเรือน ใช้ทำรางน้ำ ท่อน้ำ และทำเครื่องดนตรีประเภทขลุ่ยได้ดีอีกด้วย
     3. เนื้อไผ่เป็นเส้นตรงมีความยืดหยุ่นในตัวเองและสามารถคืนตัวสู่สภาพเดิมได้ เมื่อนำไม้ไผ่มาแปรรูปก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี เพราะเนื้อไม้ไผ่เป็นเส้นตรง นำมาจักเป็นปื้นบางๆ หรือเหลาเป็นเส้นได้ดี จึงใช้ทำเครื่องจักสานนานาชนิดได้ ทั้งเครื่องจักสานที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรงมั่นคง สำหรับใช้งานหนักจนถึงเครื่องจักสานขนาดเล็กที่มีความประณีตบอบบาง และเพราะคุณสมบัติในที่มีความยืดหยุ่น จึงเหมาะที่จะใช้เป็นเครื่องหาบหรือหาม เช่น คาน คันกระสุน คันธนูและเมื่อแปรรูปเป็นตอกก็ยังมีความยืดหยุ่นคืนรูปทรงเดิมได้ง่ายจึงทำให้ภาชนะจักสานที่ทำจากไผ่มีคุณลักษณะพิเศษต่างไปจากภาชนะที่ทำจากวัตถุดิบชนิดอื่น
     4.ไม้ไผ่มีความสวยงามในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผิวที่มีสีต่างๆ กันเมื่อแห้งแล้วมักจะมีสีเหลืองอยู่เช่นนั้นตลอดไป ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้ ชาวเอเชียจึงใช้เหล็กหรือโลหะเผาไฟจนร้อนแล้วเขียนตัวอักษรหรือลวดลายลงบนผิวไม้ไผ่ ( Bamboo Pyrographic ) เช่นจีนจารึกบทกวีบนผิวไม้ไผ่ ชาวญี่ปุ่นใช้เขียนชื่อเจ้าของบ้านแขวนไว้หน้าบ้านและจารึกบทกวีแขวนไว้สองข้างประตูเรือนน้ำชา(Tea House ) ชาวเกาหลีใช้เขียนเป็นลวดลายบนเครื่องใช้ เช่นเดียวกับที่ชาวบาตัก ( Batak) ในประเทศอินโดนีเซีย ใช้เหล็กเผาไฟ ขูด ขีด เขียน ลงบนกระบอกไม้ไผ่ สำหรับเก็บยาหรือทำเป็นปฏิทิน ในขณะที่ชาวบาหลีใช้จารลงบนผิวไผ่เป็นแผ่นๆ เพื่อใช้เป็นคัมภีร์ในศาสนาตน นอกจากไม้ไผ่จะมีผิวสวยแล้ว เนื้อไผ่ยังมีลักษณะพิเศษต่างจากเนื้อไม้อื่นคือ มีเสี้ยนยาวขนานกันเป็นเส้น จึงแปรรูปเป็นเส้น เป็นปื้น หรือเหลาให้กลมได้ง่าย และเมื่อแก่เต็มที่แล้วจะเป็นเส้นละเอียดแข็ง มอดแมลงไม่กินจนมีผู้กล่าวว่า เครื่องจักสานไม้ไผ่นั้น ผู้สานสามารถสานให้เป็นรูปทรงแปลกๆ แตกต่างกันได้มากมาย จนเครื่องจักสานบางชิ้นมีรูปทรงและผิวสวยงามดุจงานประติมากรรมสมัยใหม่ทีเดียว


ไม้ไผ่ที่สำคัญของไทย

         ปัจจุบันเท่าที่มีการสำรวจชนิดของไม้ไผ่ในประเทศไทย  พบว่ามีไม้ไผ่อยู่ประมาณ 12 สกุลซึ่งแยกออกเป็น 44 ชนิด
แต่ที่พบเห็นมากที่สุดมีประมาณ 10 ชนิดส่วนที่เหลือจะมีให้เห็นในบางพื้นที่เท่านั้นเอง  ข้อน่าสังเกตอีกอย่างเกี่ยวกับไม้ไผ่ในเมืองไทยนั้นก็คือไผ่ส่วนมากของประเทศไทยมักจะขึ้นเป็นกอรวมกลุ่มกันเสียเป็นส่วนใหญ  ไม้ไผ่ที่พบเห็นมากที่สุด  จำแนกออกได้ดังนี้ คือ
       1)  ไผ่สีสุก
           ไผ่ประเภทนี้มีมากในภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย   ไผ่สีสุกเป็นไผ่ที่มีลักษณะลำสูง  เนื้อแน่นหนา ลำต้นสีเขียวเข้ม  ไผ่สีสุกชอบขึ้นในที่ที่เป็นดินปนทราย หรือดินร่วน  รวมกันอยู่เป็นกอหนาแน่น  เป็นไผ่ที่ปลูกง่าย  คนไทยนิยมนำไผ่สีสุกมาใช้ในงานหัตถกรรมและการก่อสร้าง
       2)  ไผ่ตง
           ไผ่ชนิดนี้นิยมปลูกมากทางภาคกลาง  มีมากที่สุดที่จังหวัดปราจีนบุรี  ลักษณะของไผ่ตงจะเป็นไผ่ที่ลำต้นสูงใหญ่ไผ่ตงนี้ยังแยกประเภทออกได้อีกหลายชนิด เช่น ไผ่ตงใหญ่  ไผ่ตงกลาง  ไผ่ตงแอ่น  ไผ่ตงหนู  ไผ่ตงเขียว  และไผ่ตงดำ  ประโยชน์ของไผ่ตงนั้นมีมากมาย ลำต้นใช้ในการก่อสร้าง  เป็นอาหารที่แสนอร่อย  หน่อไม้ไผ่ตงที่เราบริโภคอยู่ทุกวันนี้ก็มาจากไผ่ตงนั่นเอง  เพราะรสชาติหวาน  กรอบ  อร่อย  ยากที่จะมีหน่อไม้อื่นๆมาเทียบได้
       3)  ไผ่เหลือง
           เป็นไผ่ที่ปลูกง่าย  โตเร็วในดินทุกชนิด  ลำต้นมีสีเหลืองแถบเขียวปะปนกัน  ไผ่เหลืองนี้เรียกกันไปหลายชื่อเช่นไผ่งาช้าง  ไผ่บงดำ  ไผ่จันดำ  ประโยชน์ของไผ่ชนิดนี้ โดยมากจะนิยมนำไปทำเฟอร์นิเจอร์  แจกัน  ที่เขี่ยบุหรี่ และคนไทยก็นิยมปลูกไผ่ชนิดนี้ประดับไว้ตามบ้านเพราะลำต้นและใบจะสวยงามมาก
       4)  ไผ่เลี้ยง
           ไผ่ชนิดนี้มีภาษาเรียกอย่างเป็นทางการว่า "ไผ่คลาน"  พบมากที่สุดในภาคกลาง  ลำต้นมีสีเขียวสด  ลำต้นเล็กเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตรเท่านั้น  ปล้องยาว 20-25 เซนติเมตร  ไผ่เลี้ยงชอบขึ้นและเจริญเติบโตในดินร่วน  อากาศร้อนชื้น  ส่วนใหญ่คนไทยนิยมปลูกไผ่ชนิดนี้เป็นไม้ประดับเสียมากกว่า เพราะลำต้นสวยงามไม่ใหญ่เกินไป  ประโยชน์ของไผ่ชนิดนี้ สามารถนำไปทำรั้วบ้าน  ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์  และคันเบ็ดที่นิยมใช้ ก็มาจากไผ่ชนิดนี้
       5)  ไผ่รวก
           ไผ่ชนิดนี้ถือว่าเป็นไผ่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย  จะพบมากบนพื้นที่ราบสูงของภาคเหนือและภาคกลาง โดยเฉพาะในเขตกาญจนบุรี  ไผ่รวกชอบอากาศร้อน ไม่มีน้ำ จะขึ้นหนาแน่นในลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ลำเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-7 เซนติเมตรเท่านั้น  ประโยชน์ที่สำคัญของไผ่รวก คือ ใช้ทำเยื่อกระดาษ  รั้วบ้าน  วัสดุก่อสร้าง และทำไม้ปักเลี้ยงหอยในทะเล ตลอดจนใช้ทำเครื่องมือประมงก็เป็นที่นิยมกันมาก
       6)  ไผ่ป่า หรือไผ่หนาม
           ไผ่ชนิดนี้มักพบเป็นกอหนาแน่นตามชายน้ำ หรือแหล่งน้ำต่างๆ ขึ้นมากในที่ราบลุ่มทั่วทุกภาคของประเทศไทยลำต้นมีขนาดใหญ่เนื้อหนาแข็งแรง  ประโยชน์ใช้ในการก่อสร้าง และทำเป็นพะองสำหรับชาวสวนผลไม้ทั่วประเทศใช้
       7)  ไผ่ลำมะลอก
           เป็นไผ่ที่พบทั่วทุกภาคของประเทศ  ยกเว้นทางภาคใต้  ลักษณะการเติบโตของไผ่ชนิดนี้จะขึ้นเป็นพุ่มใหญ่ ลำต้นสีเขียวแก่ เป็นมัน  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-12 เซนติเมตร  ส่วนมากมักใช้ในการก่อสร้าง เช่น ทำนั่งร้าน  เสาโป๊ะฝาบ้านและไม้กวาด
       8)  ไผ่ไร่
           เป็นไผ่ที่มีขนาดเล็กที่สุดก็ว่าได้ เพราะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำ 0.5-2.5 เซนติเมตรเท่านั้น  ลำต้นมีสีเขียวแกมเทามีขนปกคลุมทั่วลำ ขึ้นเป็นกอหนาแน่นในทั่วทุกภาคของประเทศ  ประโยชน์คือการนำไผ่ไร่มาใช้เป็นด้ามไม้กวาดและนำหน่อไม้มาทำอาหาร
       9)  ไผ่ซาง หรือ ไผ่นวล
           เป็นไผ่ที่มีขึ้นทุกภาค  โตเร็วขยายพันธุ์ง่าย  ลำต้นสีเขียวอ่อนเย็นตา  เส้นผ่าศูนย์กลางของลำประมาณ 3-12 ซม.ประโยชน์ส่วนใหญ่ที่ได้จากไผ่ชนิดนี้ก็คือ นำไปต้มทำเยื่อกระดาษ และของใช้ในครัวเรือน
       10)  ไผ่บง
           เป็นไผ่ที่พบเห็นทุกภาคของประเทศไทย โดยมากจะพบไผ่ชนิดนี้ตามป่าดงดิบใกล้แม่น้ำ เป็นไผ่ขนาดใหญ่  เส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นประมาณ 6-18 เซนติเมตร  ความยาวของปล้องประมาณ 30 เซนติเมตร  ประโยชน์ที่ได้รับจากไผ่บงคือ การนำมาทำรั้วบ้าน  เสื่อรำแพน และงานจักสานแทบทุกชนิด

                                                                            รูปและคำอธิบายไผ่บางชนิด

     ไผ่รวก
          ไผ่รวกเป็นไผ่ลำเล็กขึ้นชิดแน่นทึบ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 ซม. สูง 5–10 เมตร ไม่มีหนาม หน้าใบมีขนเล็กๆ กาบหุ้มลำบางแนบชิดกับลำไม่หลุดร่วงเมื่อแก่ กาบหน่อสีขาว ปล้องยาว 7–23 ซม.

   

 ไผ่สีสุก
          ไผ่สีสุกเป็นไม้ยืนต้นขึ้นเป็นกอหนาแน่น มีลำสูงใหญ่ บริเวณข้อกิ่งคล้ายหนามกิ่งและแขนงมีหนามแหลมคม ลักษณะลำต้นกลวง ลำต้นมีสีเขียวสด ผิวเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อ ซึ่งส่วนมากไผ่อายุราว 30 ปี จึงจะมีดอกสัก หนหนึ่ง หน่อมีขนาดใหญ่ มีกาบสีเหลืองห่อหุ้ม ขนที่หน่อเป็นสีน้ำตาลมีน้ำหนักประมาณ 2-5 กก.
 
   ไผ่ซาง
          เป็นไม้ไผ่หน่ออัดใบ ลำต้นมีสีเขียวอ่อน ไม่มีหนาม ผิวเป็นมัน มีกิ่งแขนงมาก สูงประมาณ 6-20 ซม. มีเนื้อหนาประมาณ 5-8 มม. ปล้องยาวประมาณ 15-50 ซม. เนื้อไม้หยาบ โดยทั่วไปลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-12.5 ซม. ถ้าพบบริเวณเนินเขาสูงลำต้นจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-10 ซม. กาบหุ้มลำในปล้องต่ำ ๆ จะสั้นประมาณ 8-30 ซม.
   
 ไผ่บง
          เป็นไผ่ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ลักษณะกอหุ้นแน่น ลำต้นคดงอ เนื้อในตัน แตกกิ่งตลอดลำ มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 3-5 เซนติเมตร สูงประมาณ 5-10 เมตร หน่อมีสีเขียว เนื้อละเอียด รสชาติหวานมัน กรอบ อร่อยคล้ายยอดมะพร้าว
     
ไผ่คาย
          เป็นไผ่ที่มีลำต้นสีเขียวแก่ ปล้องห่างข้อใหญ่ไม่มีหนาม เป็นไผ่ที่มีลำต้นสูงใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-10 ซม. หน่อเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 ซม. ลักษณะเป็นกอแน่นมาก ปล้องยาวประมาณ 30 ซม.
 
   ไผ่เหลือง
          เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี  เป็นไม้พุ่มเป็นกอ  ลำต้นตั้งตรง  กลม  เป็นทรงกระบอกกลวง ขนาด 5-8 เซนติเมตร  ผิวเกลี้ยง  สีเหลืองมีเส้นแถบสีเขียวอ่อนตามยาวบ้าง ไม่มีหนาม เนื้อเเข็ง มีข้อปล้องชัดเจน แต่ละปล้องยาว 30-40 เซนติเมตร  มีเหง้าใต้ดิน
 
   ไผ่เลี้ยง
          เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี  เป็นไม้พุ่มเป็นกอ  ลำต้นตั้งตรงกลม  เป็นทรงกระบอกกลวง ขนาด 1- 4.5 เซนติเมตร  ผิวเกลี้ยง  สีเขียว ไม่มีหนาม เนื้อเเข็ง มีข้อปล้องชัดเจน แต่ละปล้องยาว 20- 30 เซนติเมตร  มีเหง้าใต้ดินสั้น
   
  ไผ่ตง
          พันธุ์ไผ่ตงชนิดนี้ลำต้นจะมีสีเขียวเข้มอมดำ ขนาดเล็กกว่าไผ่ตงหม้อ มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 9-12 เซนติเมตร ใบจะมีสีเขียวเข้ม หนาใหญ่และมองเห็นร่องใบได้ชัดเจน หน่อจะมีขนาดปานกลาง น้ำหนักโดยเฉลี่ย 3-6 กิโลกรัม หน่อไม้ไผ่ตงชนิดนี้จะมีรสหวาน กรอบ เนื้อเป็นสีขาวละเอียดและไม่มีเสี้ยน
   
  ไผ่เปาะ
          เป็นไม้ไผ่ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นกอ กิ่งเรียวเล็ก ลำสูง 25-30 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 20-25 ซม. ปล้องค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับขนาดของลำ ปล้องบาง หนาประมาณ 1-3 ซม. ตอนล่างของลำเปล่า ไม่มีกิ่งตอนปลายลำ ลำสีเขียวอมเทา จะมีคล้าย ๆ ผงขี้ผึ้งสีขาวคลุมทั่ว ๆ ไป เมื่อลำต้นยังอ่อนข้อตอนล่างจะมีขนและมีรอยราก ที่ข้อจะมีกิ่งหลายกิ่ง กาบหุ้มลำใหญ่มาก ยาว 25-50 ซม. กว้าง 25-50 ซม

ดูรูปไผ่เพิ่มเติม


คุณสมบัติของไม้ไผ่ 

1. คุณสมบัติทางกายภาพ
  • ความชื้นของไม้ไผ่ที่เจริญเติบโตเต็มที่มีค่าเฉลี่ย 50-99 % และไม้ไผ่ที่ยังอ่อนอยู่มีค่าเฉลี่ย 80-95 % ขณะที่ไม้ไผ่ซึ่งแห้งเต็มที่แล้วมีความชื้น 12-18 % ความชื้นของไม้ไผ่จะค่อย ๆ ลดลงจากส่วนโคนไปยังส่วนปลายของลำต้น และจะลดลงเมื่อลำต้นมีอายุเพิ่มขึ้น และมีความชื้นสูงในฤดูฝนมากกว่าฤดูแล้ง
  • ความหนาแน่นของเนื้อไม้เปลี่ยนแปลงไปตามชนิดของไม้ไผ่
  • ปริมาณน้ำในผนังเซลล์ของเซลล์เส้นใยหรือไฟเบอร์(fiber) ขึ้นกับชนิดของเนื้อไม้
  • การหดตัวของเนื้อไม้ เกิดขึ้นภายหลังจากการเก็บเกี่ยว ไม้ไผ่ที่มีสีเขียวจะมีการสูญเสียน้ำและมีการหดตัวของเซลล์ซึ่งมีผลต่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำไม้ไผ่ให้หดเล็กลงด้วย
2. คุณสมบัติทางกล 
ไม้ไผ่เป็นพืชที่มีเนื้อไม้ซึ่งแข็งแรงและยืดหยุ่นได้เช่นเดียวกับเนื้อไม้ของพืชอื่น ๆ คือ
  1. การโค้งงอ คุณสมบัติขึ้นกับชนิดของไม้ไผ่ และขนาดของลำไผ่ หรือเนื้อไม้ที่ถูกผ่าแบ่งให้มีความหนาและบางแตกต่างกันไป
  2. การยืดหยุ่น ขึ้นกับคุณสมบัติในการโค้งงอ และการทนต่อแรงกดบนเนื้อไม้
  3. การทนทานต่อแรงกด แรงบีบ และแรงอัดต่าง ๆ ซึ่งมีผลต่อการรับน้ำหนักของวัตถุ
3. คุณสมบัติทางเคมี
  • องค์ประกอบหลักของเนื้อไม้ ได้แก่ เซลลูโลส(cellulose) เฮมิเซลลูโลส(hemicellulose) และลิกนิน(lignin) องค์ประกอบรองได้แก่สารจำพวก เรซิน(resins) แทนนิน(tannins) แว๊กซ์(waxes) และเกลืออนินทรีย์(inorganic salts)
     
  • อุตสาหกรรมการผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษ มีเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลส ซึ่งเรียกรวมกันว่าโฮโลเซลลูโลส(holocellulose) เป็นองค์ประกอบ 61-71 % เพนโทแซน(pentosans) 16-21 % ลิกนิน(lignin) 20-30 % เถ้า 1-9 % ซิลิก้า 0.5-4%
     
  • หน่ออ่อนของลำต้นที่นำมาบริโภคเป็นหน่อไม้ ในส่วนที่รับประทานได้หนัก 100 กรัม ประกอบด้วย น้ำ 89-93 กรัม โปรตีน 1.3-2.3 กรัม ไขมัน 0.3-0.4 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.2-6.1 กรัม เส้นใย 0.5-0.77 กรัม เถ้า 0.8-1.3 กรัม แคลเซียม 81-96 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 42-59 มิลลิกรัม เหล็ก 0.5-1.7 มิลลิกรัม วิตามินบี 10.07-0.14 มิลลิกรัม วิตามินซี 3.2-5.7 มิลลิกรัม กลูโคส 1.8-4.1 กรัม พลังงาน 118-197 จูล ไซยาไนด์ 44-283 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ลักษณะทางกายวิภาค 

       ไม้ไผ่แต่ละลำประกอบด้วยเซลล์พาเรงคิมา(parenchyma) 50 % เส้นใย (fiber) 40 % ท่อลำเลียง 10 % เนื้อเยื่อพาเรงคิมาและท่อลำเลียงต่าง ๆ อยู่ทางด้านในของลำต้นเป็นจำนวนมากขณะที่เส้นใยหรือไฟเบอร์มักพบอยู่ทางด้านนอกของลำต้น

       เนื้อเยื่อมัดท่อลำเลียงประกอบด้วยโพรโทไซเล็ม(protoxylem) และเมทาไซเล็ม(metaxylem) ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงน้ำ และโฟลเอ็ม(phloem) ซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงอาหารอยู่รวมกันเป็นมัด ถูกล้อมรอบด้วยเยื่อหุ้มที่ประกอบด้วยเซลล์สเกลอเรงคิมา(sclerenclyma) ชนิดเส้นใย(fiber) ทางรอบนอกของลำต้น เนื้อเยื่อมัดท่อลำเลียงจะมีขนาดเล็กและมีจำนวนมาก ขณะที่มัดเนื้อเยื่อซึ่งอยู่ทางด้านในของลำต้นจะมีขนาดใหญ่กว่า และมีจำนวนน้อยกว่า จำนวนมัดท่อลำเลียงจะค่อย ๆ ลดลงจากด้านนอกเข้าหาด้านใน และจากส่วนโคนไปยังส่วนปลายของลำต้น รูปแบบของมัดท่อลำเลียงที่พบในพืชจำพวกไผ่จะแตกต่างกันไปประมาณ 4-5 แบบ ขึ้นกับขนาดและการกระจายตัวของมัดท่อลำเลียง เส้นใย(fiber) ที่พบในเนื้อไม้ของไผ่ มักอยู่บริเวณรอบ ๆ มัดท่อลำเลียง และพบมากบริเวณรอบนอกจนถึงส่วนกลางของเนื้อไม้ที่อยู่โดยรอบปล้องของลำต้น แต่จะมีความยาวของเส้นใยสั้นกว่าเส้นใยที่อยู่ด้านในของลำต้น ซึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษจะต้องเลือกใช้ชนิดของไผ่ที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ ของเส้นใยเหมาะสมต่อการผลิตด้วย เส้นใยของไผ่ชนิดต่าง ๆ ที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มีความยาวของเส้นใยเฉลี่ย 1.45-3.78 นาโนเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นใย 11-22 ไมโครเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของช่องภายในเซลล์ 2-7 ไมโครเมตร ความหนาของผนังเซลล์ 4-9 ไมโครเมตร

 การทำให้ไม้ไผ่คงทน
         ไม้ไผ่ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างทั่ว ๆ ไปนั้น ตัดมาใช้ได้เมื่อไม้ไผ่อายุ 3-5 ปี แต่ถ้าไม่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขกำจัดแมลงและเชื้อราแล้ว ไม้ไผ่ที่อยู่ติดดินอาจมีอายุใช้งานประมาณ 1-2 ปี เท่านั้น แต่ถ้าใช้ในที่ร่มและจากดินอายุอาจจะใช้งานถึง 5 ปี ไม้ไผ่อาจถูกรบกวนทำลายโดยมอดและปลวก เพราะมีอาหารในเนื้อไม้ นอกจากนั้นอาจถูกทำลายโดยเชื้อรา และถ้าใช้ในน้ำทะเลก็อาจถูกทำลายโดยเพรียงได้ การรักษาให้ไม้ไผ่มีอายุยืนนานนั้นอาจทำได้ต่าง ๆ กันดังนี้
         1. วิธีแช่น้ำ การแช่น้ำก็เพื่อทำลายสารในเนื้อไม้ที่มีอาหารของแมลงต่าง ๆ เช่น พวกน้ำตาล แป้ง ให้หมดไป การแช่ต้องแช่ให้มิดลำไม้ไผ่ เป็นน้ำไหลซึ่งมีระยะเวลาแช่น้ำสำหรับไม้สดประมาณ 3 วัน ถึง 3 เดือนแต่ถ้าเป็นไม้ไผ่แห้งต้องเพิ่มอีกประมาณ 15 วัน วิธีใช้ความร้อน หรือการสกัดน้ำมันจากไม้ไผ่ ก่อนนำมาสกัดน้ำมันควรตั้งพิงเอาส่วนโคนไว้ตอนบน การสกัดน้ำมันออกจากไม้ไผ่ทำได้โดยให้ความร้อนด้วยไฟหรือต้ม
         2. วิธีการสกัดน้ำมันด้วยไฟจะทำให้เนื้อไม้มีลักษณะแกร่ง ส่วนมากสกัดน้ำมันด้วยวิธีต้มนั้นเนื้อไม้จะอ่อนนุ่มการสกัดน้ำมันด้วยไฟนั้นทำโดยเอาไม้ไผ่ปิ้งในเตาไฟต่อย่าให้ไหม้และรีบเช็ดน้ำมันที่เยิ้มออกมาจากผิวไผ่ให้หมดระยะเวลาการปิ้งประมาณ 20 นาที อุณหภูมิประมาณ 120-130 องศาเซลเซียส การสกัดน้ำมันด้วยวิธีต้มนั้นใช้ต้มในน้ำธรรมดาใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรืออาจใช้โซดาไฟ 10.3 กรัมหรือโซเดียมคาร์บอเนต 15 กรัม ละลายในน้ำ 18.05 ลิตร ใช้เวลาต้มประมาณ 15 นาที หลังจากต้มแล้วให้รีบเช็ดน้ำที่ซึมออกมาจากผิวไม้ไผ่ก่อนที่จะแห้ง เพราะถ้าเย็นลงจะเช็ดไม่ออกแล้วจึงนำไม้ไผ่ที่สกัดน้ำมันออกไปแล้วล้างน้ำให้สะอาดและทำให้แห้ง
         3. การใช้สารเคมี วิธีที่จะได้ผลดีกว่าการปิ้งหรือต้ม ซึ่งอาจทำได้ทั้งวิธีชุบหรือทาน้ำยาลงไปที่ไม้ไผ่หรือจะโดยวิธีอัดสารเคมีเข้าไปในเนื้อไม้ไผ่ วิธีชุบนั้นใช้เวลาประมาณ 10 นาที เช่น ชุบในน้ำยา DDT ที่มีความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับน้ำมันก๊าดจะทนได้นานถึง 1 ปี ถ้าชุบหรือแช่ให้นานขึ้นก็อาจทนได้ถึง 2 ปี หรืออาจใช้โซเดียมแพนตาคลอโรฟีเนต 1 เปอร์เซ็นต์ ละลายน้ำบอแรกซ์ ก็จะสามารถป้องกันมอดได้เป็นอย่างดี วิธีอัดน้ำยานั้นถ้าไม้ไผ่ไม่มากนักและเป็นไม้ไผ่สดทำโดยเอาน้ำยารักษาเนื้อไม้ใส่ภาชนะที่มีความลึกประมาณ40-60 เซนติเมตร เอาไม้ไผ่ลงแช่ทั้งที่มีกิ่งและใบ เมื่อใบสดระเหยน้ำออกไป โคนไม้ไผ่จะดูดน้ำยาเข้าแทนที่
         วิธีอัดน้ำยาอีกวิธีหนึ่งที่จะอัดน้ำยาเข้าไม่ไผ่สดที่ตัดกิ่งก้านออกแล้ว ทำโดยนำยางในของรถจักรยานยาวพอสมควรแล้วใส่น้ำยาข้างหนึ่งสวมเข้าที่โคนไม้ไผ่ใช้เชือกรัดกันน้ำยาออก ยกปลายยางข้างที่ไม่ได้กรอกน้ำยาให้สูงวิธีนี้ได้ผลดีกับไม้ไผ่สด วิธีอัดน้ำยาอีกวิธีหนึ่งคือ ตั้งถังน้ำยาสูงประมาณ 10 เมตร แล้วต่อท่อสวมที่โคนไม้ไผ่สดด้วยท่อยางแล้วรัดไว้ไม่ให้น้ำยาไหลออกมาแรงดันของน้ำยาที่อยู่สูง 10 เมตร จะดันน้ำยาเข้าไปในไม้ไผ่
         การใช้ไม้ไผ่เสริมคอนกรีต ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เหล็กเสริมคอนกรีตขาดแคลนจึงได้มีผู้นำไม้ไผ่มาผ่าเป็นซีกเล็ก ๆ แล้วใช้เสริมคอนกรีตแทนเหล็ก แม้ในปัจจุบันก็ยังมีผู้ใช้วิธีนี้อยู่
         ไม้ไผ่นั้นมีค่าพิกัดแห่งความยืดหยุ่นต่ำ และเป็นวัสดุที่ยืดตัวมากกว่าเหล็กถึงประมาณ 14 เท่า เมื่อรับแรงเท่ากัน ไม้ไผ่ต้านแรงดึงได้ 13,000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ที่ข้อและต้านแรงดึงได้ 17,000 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตรที่ปล้อง เพราะเหตุที่ไม้ไผ่ดูดน้ำมาก เมื่อนำมาเสริมคอนกรีตแทนเหล็กเสริม ทำให้การยึดเกาะกับคอนกรีตต่ำ ถ้านำไม้ไผ่มาเสริมคอนกรีตขณะที่เทคอนกรีตซึ่งมีน้ำผลมอยู่ ไม้ไผ่จะพองตัว และต่อมาไม้ไผ่หดตัวลงเนื่องจากน้ำระเหยไป จะทำให้ไม้ไผ่ที่เสริมแยกตัวกับคอนกรีตที่หุ้มอยู่ ไม้ไผ่จึงไม่เหมาะสำหรับมาเสริมคอนกรีตโครงสร้าง แต่อาจใช้ได้สำหรับเสริมพื้นคอนกรีตที่ติดกับดินและไม่ได้รับน้ำหนักมากนัก



 ประโยชน์ของไผ่
          ทั่วทุกภูมิภาคของไทย มีไผ่ชนิดต่างๆหลากหลายชนิดขึ้นอยู่ทั่วไป ช่วยให้ภูมิทัศน์ของบ้านชนบทงดงาม ร่มเย็น ไผ่มีทั้งชนิดลำใหญ่และลำเล็ก แต่ละชนิดมีประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย เป็นวัตถุดิบที่หาง่าย จึงมีต้นทุนต่ำในการนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตสิ่งของ อาจจำแนกประโยชน์ของไผ่ได้หลายประการ ดังนี้ 
          1. ประโยชน์ในการประกอบหรือสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ในชนบทการสร้างบ้านตามวัฒนธรรมไทยนั้น จะใช้วัสดุจากธรรมชาติ ได้แก่ ไม้ไผ่ ไม้ยืนต้นต่างๆ เช่น ไม้สัก ไม้แดง ไม้เต็ง แต่ครอบครัวทั่วไปที่มีรายได้น้อย จะใช้ไม้ไผ่เป็นหลักเนื่องจากหาได้ง่าย เรียกว่า เรือนเครื่องผูก เพราะใช้ได้หลายส่วนของบ้าน เช่น โครงบ้าน โครงหลังคา เสา คาน ประตู หน้าต่าง บันได รั้วพื้น โดยเลือกไผ่ชนิดเนื้อหนาซึ่งมีความคงทนต่อดินฟ้าอากาศ ทนแดด ทนฝน บ้านที่ใช้ไม้ไผ่ประกอบจะอยู่เย็นสบาย เพราะอากาศถ่ายเทได้ดี มีประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของครอบครัว เมื่อผุพังส่วนใดก็เปลี่ยนได้
          2. ประโยชน์ในการทำเครื่องเรือน เครื่องแต่งบ้าน เช่น ประกอบเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน แคร่นั่งพักผ่อนหรือรับแขก สนทนากันในหมู่สมาชิกในบ้านหรือผู้มาเยี่ยมเยือน เปลนอนของเด็ก มู่ลี่ กรอบรูปสานเป็นเสื่อรองนั่ง ฯลฯ 
          3.  ประโยชน์ในการทำเป็นอาวุธ เช่น ใช้ไผ่เล็ก ทำขวาก โดยตัดปลายทแยงข้างหนึ่ง หรือเสี้ยมทุกด้านให้ปลายแหลมสำหรับต่อสู้แทงสกัดกั้นศัตรูหรือสัตว์ที่รุกล้ำเข้ามา นำขวากหรือไผ่ปลายแหลมไปปักไว้ในบ่อดักศัตรูหรือดักสัตว์ หรือใช้ไม้ไผ่ชนิดเนื้อเหนียวมีแรงดีดคืนตัว ทำคันธนู คันยิงกระสุน ทำลูกธนู ลูกดอก ทำเป็นไม้ตะบด ไม้พลอง สำหรับการต่อสู้
          4.  ประโยชน์ใช้ในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทำตะเกียงให้แสงสว่าง โดยใช้ข้อปล้องบรรจุน้ำมัน วางไส้เทียนไว้ตรงกลาง จุดไฟให้แสงสว่างได้นาน สานเป็นกล่องข้าว กระติบข้าว กระเชอ หวดนึ่งข้าว กระบุง ตะกร้า กระเป๋าถือสตรี กระจาด กระชอน หีบหรือกล่องไม้ใส่ของ แจกัน ถ้วย โครงพัด โครงหมวก รองเท้าสาน จักเป็นตอกใช้รัดมัดของ เช่น มัดข้าวต้มผัด มักกำดอกไม้ กำผัก ฯลฯ 
          5.  ประโยชน์ใช้ทำเครื่องมือประกอบอาชีพ เช่น เครื่องมือจับปลา จับสัตว์น้ำ ข้อง กระชัง ไซ ตุ้ม อีจู้ ลอบ สุ่ม เครื่องมือก่อสร้าง กระบุง บุ้งกี้ เข่งปลาทู คราด ครุ ไม้คาน เครื่องใช้ในการเพาะปลูก ค้างต้นไม้ ไม้ค้ำยันต้นไม้ โค้งไม้ปักให้เถาไม้เลื้อยเกาะ ไม้สอยผลไม้ พะองปีนต้นไม้ ไม้พาดข้ามท้องร่องหรือค้ำฝันเวลาเดินข้ามท้องร่อง ใช้เป็นไม้ค้ำถ่อเรือ 
          6.  ประโยชน์ใช้ทำเครื่องดนตรี หลายประเทศหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะในเอเชีย ใช้ไม้ไผ่ทำเครื่องดนตรีกันมาก เช่น ขลุ่ย ทำจากเลาไม้ไผ่ ขลุ่ยญี่ปุ่น ขลุ่ยจีน ขลุ่ยไทย ทำเครื่องดนตรีกำมะลิบ (Kamelin) ของอินโดนีเซียและมาเลเซีย อังกะลุง ของอินโดนีเซีย แคนของภาคอีสานของไทย และเครื่องดนตรี "แบมบูลิน" ซึ่งมีผู้ประดิษฐ์จากไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายไวโอลิน แบมบูลินนี้ส่งเข้าประกวดชนะในการประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ที่สภาวิจัยแห่งชาติด้วย 
          7.  ประโยชน์ของไผ่ในการทำยารักษาโรค เช่น ใช้รากไผ่ ขุยไผ่ใบไผ่ ผสมกับสมุนไพรอื่นๆตามตำรายาสมุนไพรโบราณ 
          8.  ประโยชน์ใช้เป็นอาหารหรือประกอบในการทำอาหาร ไผ่มีอยู่ทุกภาคใกล้ชิดกับชีวิตของคนไทยมาก สามารถใช้ทุกส่วนเป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะ หน่อไผ่ เป็นอาหารที่คนไทยทุกภาคนิยมใช้ประกอบอาหารตามสูตรที่นิยมกันในภูมิภาคของตน เช่น ใช้หน่อไม้ทำซุบหน่อไม้ของอีสาน ผัดหน่อไม้ใส่ไข่ แกงเผ็ดใส่หน่อไม้ แกงกะทิหน่อไม้ดอง ต้มแกงจืด หน่อไม้ไผ่ตงกับกระดูกหมูและเห็ดหอม มีสูตรอาหารที่ใช้หน่อไม้นับหลายสิบสูตร ใบไผ่เป็นอาหารสัตว์ เช่น หมีแพนด้า หรือใช้เป็นเครื่องประกอบการทำอาหาร เช่น กระบอกไผ่บรรจุข้าวเหนียวกะทิเผาเป็นข้าวหลาม ใบไผ่ใช้ห่อขนมจ้าง ขนมบะจ่าง ใช้ไม้ไผ่ทำตะเกียบคีบอาหาร ทำเป็นมีดตัดอาหาร ทำไม้เสียบลูกชิ้นไก่ หมู เนื้อ ย่าง ฯลฯ 
          9.  ประโยชน์ของไผ่ในการสักการะหรือตามความเชื่อ เช่น ใช้ไม้ไผ่เกลาให้คม เป็นมีดตัดสายสะดือเด็กเกิดใหม่ ทำก้านธูป ทำดอกไม้ไฟ กระบอกพลุ ตะไล ไฟพะเนียง เป็นกระบองบรรจุน้ำมันเป็นตะเกียงตามไฟ บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจดีย์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เรียกว่า ตามประทีป ใช้สานเป็นโครงสร้างของโคมไฟห้อยบูชา 
          10.  ประโยชน์ใช้ทำเครื่องประดับ เช่น กำไลข้อมือ ปิ่นปักผม 
          11.  ประโยชน์ในการสื่อสาร สมัยโบราณใช้กระบอกไม้ไผ่บรรจุพระราชสาสน์ สาสน์ และบรรจุม้วนแผ่นหนัง หรือม้วนกระดาษส่งข่าวถึงกัน จีนใช้ไม้ไผ่จารึกตัวอักษรคัมภีร์การยุทธ์หรือตำราต่างๆ
         12. การปลูกเพื่อใช้เป็นแนวรั้วบอกเขต แนวป้องกันลมและปลูกประดับ 

ไผ่หลายชนิดมีลักษณะกอและทรงพุ่มเหมาะสมต่อการนำมาปลูกเป็นริ้วและแนวป้องกันลม ได้แก่ ไผ่รวก Thyrsostachys siamensis และ ไผ่เลี้ยง Bambusa multiplex ไผ่หลายชนิดมีทรงพุ่มสวยงามนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ได้แก่ ไผ่เลี้ยง ไผ่เหลือง ไผ่เกรียบ ไผ่ที่มีหนามแหลมคม เช่น ไผ่หนาม Bambusa bambos เป็นไผ่ที่นิยมปลูกเป็นแนวรั้วกันขโมยให้แก่บริเวณบ้าน หมู่บ้าน และสวนผลไม้ รวมทั้งป้องกันสัตว์ป่าเข้ามาทำร้ายหรือทำลายทรัพย์สินด้วย 

            13. ประโยชน์อื่น ๆ

  • ทำกระบอกรองรับน้ำตาลจากงวงมะพร้าวและงวงตาล ได้แก่ ไผ่ตง
  • นำไม้ไผ่ทั้งลำมาทะลุข้อให้เป็นท่อกลวงตลอดลำสำหรับทำเป็นท่อน้ำ ได้แก่ ไผ่ตง
  • นำไผ่ตงมาตัดเป็นกระบอกสำหรับปรุงอาหาร จำพวก ผัก เนื้อสัตว์ ข้าวเจ้า และข้าวเหนียว โดยอุดส่วนปลายของกระบอกด้วยใบตองกล้วย แล้วนำไปผิงไฟให้อาหารภายในกระบอกสุก เช่น การทำข้าวหลามจากข้าวเหนียวผสมกะทิและน้ำตาล
  • นำมาทำตะเกียบ ไม้จิ้มฟัน ไม้เสียบอาหารสำหรับปิ้งหรือย่าง
  • อุปกรณ์ดักจับปลาชนิดต่าง ๆ เช่น ข้อง ไซ ลอบ
  • นำมาทำแพโดยเลือกใช้ไม้ไผ่ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางปานกลาง เนื้อไม้บาง น้ำหนักเบา
  • ใบไผ่น้ำมาใช้เป็นอาหารจำพวกหญ้าสดสำหรับเลี้ยงสัตว์ ใบของไผ่ที่มีขนาดใหญ่ถูกนำมาใช้ห่อขนมจำพวก ขนมจ้างและบ๊ะจ่าง
  • ไม้ไผ่ทั้งลำถูกนำมาใช้ประโยชน์ เป็น คานสำหรับหามสิ่งของ ค้างสำหรับต้นพืชจำพวก ผักและไม้ผลที่เป็นไม้เลื้อย คันเบ็ด ถ่อค้ำเรือหรือแพ โป๊ะสำหรับเทียบเรือ และรั้ว
          การนำไผ่มาใช้ ควรตัดไผ่ที่มีอายุ ๓ ปีขึ้นไป และตัดในฤดูกาลเหมาะสมขณะที่ไผ่หยุดเจริญเติบโต คือในฤดูร้อน หรือฤดูหนาว และเมื่อตัดมาแล้ว ควรเก็บรักษาไว้ในที่แห้ง อากาศถ่ายเทได้เพื่อป้องกันเชื้อรา ในการนำไปใช้ยังมีวิธีการที่จะทำให้แข็งแรงสวยงาม ซึ่งต้องศึกษากรรมวิธีต่อไป
           นับได้ว่าไผ่เป็นไม้มีคุณค่าและมีประโยชน์สูงมาก จัดได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ในปัจจุบันมีการผลิตงานศิลปะพื้นบ้านกันหลากหลาย (โอท็อป) ไผ่ก็มีบทบาทในการผลิตดังกล่าวด้วย จึงมีการตัดไผ่ไปใช้งานจำนวนมาก แต่เนื่องจากไผ่เป็นไม้โตเร็ว ขึ้นได้ดีทุกสภาพดินและอากาศ จึงยังไม่พบปัญหาขาดแคลนไม้ไผ่ อย่างไรก็ดี ควรมีการส่งเสริมสนับสนุนให้ปลูกไผ่ทดแทน และศึกษาพัฒนาพันธุ์ไผ่เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากไผ่ได้มากและยืนนาน และการนำไผ่ไปใช้ประโยชน์ ควรใช้อย่างประหยัดตามความจำเป็น

  รูปและคำอธิบายการนำไผ่มาใช้ประโยชน์






ชนิดของไผ่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ดังนี้

อุตสาหกรรมประมงทะเล : ไผ่รวก
อุตสาหกรรมตะเกียบไม้เสียบอาหาร : ไผ่ซางป่า
อุตสาหกรรมจักสาน : ไผ่ซางนวล, ไผ่ซางหม่น, ไผ่ซางหวาน, ไผ่ซางป่า, ไผ่บง
อุตสาหกรรมหน่อไม้กระป๋อง : ไผ่หก
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ : ไผ่ซางบ้าน,ไผ่ซางนวล, ไผ่ซางหม่น, ไผ่บงคาย, ไผ่เลี้ยง,ไผ่ตง, ไผ่หก, ไผ่ตงลืมแล้ง
อุตสาหกรรมไม้ปาเก้ : ไผ่ซางหม่น, ไผ่ซางนวล, ไผ่ซางบ้าน
อุตสาหกรรมกระดาษ : ไผ่ทุกชนิด เช่น ไผ่ตง, ไผ่หก, ไผ่หม่าจู, ไผ่ซาง ฯลฯ
ไผ่เพื่อบริโภค : ไผ่ซางหวาน, ไผ่ซางหม่น, ไผ่ซางนวล, ไผ่เป๊าะ, ไผ่หม่าจู,ไผ่บงหวาน, ไผ่หก, ไผ่บง, ไผ่เลี้ยง,

                          ไผ่ตงลืมแล้ง, ไผ่กิมซุง,ไผ่ตงหวานไต้หวัน

ปลูกไผ่ ทางเลือกเพื่อความยั่งยืน
       ไม้ไผ่นับว่าเป็นไม้ที่มีประโยชน์มากต่อมนุษย์ เพราะสามารถนำมาเป็นอาหาร เป็นเครื่องใช้ต่าง ๆ เป็นที่อยู่อาศัย ไม้ไผ่บางชนิดสามารถนำมาประกอบเป็นยารักษาโรคได้

        ปัจจุบันไม้ไผ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติร่อยหรอลงเนื่องจากถูกตัดมาใช้อย่างผิดวิธี โดยไม่ได้ปลูกเสริมทดแทน กับทั้งมีการบุกรุกทำลายเพื่อใช้พื้นที่ ทำการเกษตรกรรมด้านอื่น ๆ เช่น ทำไร่ หรือสวนผลไม้ต่างๆ เกษตรกรจึงควรปลูกไผ่เพื่อเพิ่มปริมาณไม้ไผ่ทดแทนที่มีอยู่ตามธรรมชาติ นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าให้กับโลกแล้วเกษตรกรยังมีรายได้จากการปลูกไม้ไผ่ โดยต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการปลูกไม้ผลมากมาย เป็นการลงทุนครั้งเดียวที่ให้ผลตอบแทนได้ตลอดกาล และคุ้มค่ากว่า

ระยะเวลาที่ปลูก

         ระยะเวลาที่เหมาะสมและได้ผลดีที่สุดในการปลูกไผ่ คือ กลางเดือนพฤษภาคม ถึง ปลายเดือนมิถุนายน เพราะเป็นช่วงต้นฤดูฝน สามารถอาศัยน้ำฝนช่วย และเป็นระยะที่ไผ่เจริญเติบโต เป็นการประหยัดค่าดูแลรักษา


ระยะปลูก

          ระยะระหว่างต้นและระหว่างแถวสามารถกำหนดได้ตามความต้องการปริมาณที่ปลูก เช่น ไผ่บงคายถ้าปลูก 5*5 เมตร จะได้ 49 กอ ต่อไร่ , ถ้าปลูก 6*6 เมตร จะได้ 36 กอ ต่อไร่ ส่วนไผ่เชียงคำอาจปลูกได้ถึง 4*4 เมตร จะได้ 100 กอ ต่อไร่ ข้อแนะนำคือระยะ 5*5 เมตร เป็นระยะที่เหมาะสมที่สุด


วิธีปลูก

          เมื่อไถพรวนปรับพื้นที่และวางระยะปลูกไว้แล้วก็เตรียมหลุมปลูก โดยขุดหลุมขนาดกว้างยาวลึก ประมาณ 30-50 เซนติเมตร การปลูกโดยนำเหง้าที่ตัดมาจากกอแม่ลงหลุมปลูกซึ่งมีข้อแนะนำการตัดเหง้าจากกอแม่ดังนี้

1 เลือกต้นตอที่มีอายุ 1-2 ปี

2 ตัดโคนเหง้าให้ขาดจากกอแม่ แล้วขุดตัดรากโดยรอบ

3 เลือกขนาดต้นตอที่ไม่ใหญ่มากเกินไปนัก (ขนาดลำแขน) ความยาวประมาณ 50-80 เซนติเมตร

4 นำต้นตอที่ได้ไปปลูกให้เสร็จวันต่อวัน ถ้าจำเป็นควรจุ่มน้ำให้รากต้นตอชุ่มชื้นอยู่เสมอ ทั้งนี้ไม่ควรตัดต้นตอไว้นานเกิน 48 ชั่วโมง


ข้อแนะนำในการปลูก

เมื่อเตรียมหลุมและต้นตอพร้อมแล้วให้ดำเนินการดังนี้

1 นำดินที่ขุดลงหลุมปลูกเล็กน้อย

2 เทน้ำลงหลุมปลูกประมาณครึ่งถัง (ถังน้ำเบอร์ 14 )

3 ละเลงให้เป็นโคลนเละ ๆ

4 นำต้นตอลงจุ่มในโคลนโดยเขย่าให้โคลนแทรกซึมเข้าไปในระหว่างรากของต้นตอ

5 กดต้นตอให้นิ่งอาจให้ตั้งตรงหรือเอียง 60-70 องศาก็ย่อมทำได้ นำลูกเหม็น 4-5 เม็ดหยอดรอบต้นตอ

6 กลบดินให้เต็มหลุม เหยียบให้แน่นทำเป็นแอ่งรอบต้นตอเพื่อรอรับน้ำฝน ไม่ควรพูนดินรอบต้นตอ

7 นำน้ำที่เหลือครึ่งถังรดหลุมปลูก เป็นเสร็จพิธี


การดูแลและปฏิบัติบำรุง

          ถ้าเกษตรกรปลูกตามข้อแนะนำทั้ง 7 ข้อ ไผ่ที่ปลูกก็จะรอดชีวิตถึง 90% โดยไม่ต้องรดน้ำอีกเลย แต่หากบางปีฝนน้อย เกษตรกรต้องคอยดูแลช่วงฤดูแล้ง หากบางต้นเหี่ยวเฉาก็รดน้ำ 5-7 วันครั้ง เพื่อประทังให้ถึงฤดูฝนต่อไป ถ้าไผ่รอดตายจนได้รับฝนปีที่สองก็เป็นอันสบายใจได้การดูแลรักษาก็เพียงแต่คอยตัดหญ้าในแปลงปลูกให้เรียบร้อยไม่ต้องพรวนดินหรือให้สารกำจัดศัตรูพืชแต่อย่างใด

           ข้อแนะนำอีกอย่างหนึ่ง คือ การตัดแต่งทรงพุ่มในระยะ 1-2 ปีแรก ที่ปลูกควรตัดแต่งทรงพุ่มให้สูง 1.5-2 เมตร เพื่อประโยชน์ดังต่อไปนี้

1 ประหยัดธาตุอาหารในดิน ที่จะนำมาเลี้ยงต้นไผ่ ทำให้ไผ่รุ่นที่ 3 เจริญเติบโตได้ดี

2 ป้องกันลมพัดโค่นทั้งกอ เพราะระบบรากไผ่ยังไม่แข็งแรง

3 เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม


ค่าใช้จ่ายในการปลูกไผ่ เปรียบเทียบกับการปลูกไม้ผล

             ค่าใช้จ่ายในการปลูกไผ่กับไม้ผล เช่น สำไย ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นคือ ค่าไถพรวน / ปรับพื้นที่ ค่าต้นพันธุ์ (ไม่รวมค่าที่ดิน) ประมาณไร่ละ 3500-5000 บาท ซึ่งไม่แตกต่างกันมาก
             ข้อได้เปรียบของสวนไผ่คือ ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติบำรุง สวนผลไม้ต้องบำรุงมากกว่า เช่น การให้ปุ๋ย สารเคมี-กำจัดโรคและแมลง สวนไผ่จะใช้น้อย ถึงน้อยมาก ส่วนสวนไม้ผลต้องใช้มากถึงมากที่สุดนั้น ย่อมจะเป็นต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า


ข้อได้เปรียบของสวนไผ่อีกข้อหนึ่งก็คือ ห้วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวผลผลิต สวนไผ่สามารถตัดหน่อขายในระยะที่ออกหน่อหากขายไม่ทันก็ปล่อยให้เป็นลำต้นแก่ก็ขายได้อีก (ยิ่งแก่ยิ่งดี) ไม่ต้องกังวลเรื่องตลาดหรือพ่อค้า             สวนไม้ผลเมื่อสุกแล้วต้องขายให้ทันในห้องเวลาจำกัด หากไมทันก็จะเสียหายเกิดปัญหาราคาตกต่ำ และถูกพ่อค้าเอาเปรียบ


ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

          การปลูกไม้ผลต้องใช้ปุ๋ยมากทั้งเคมีและชีวภาพ ส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยเคมีซึ่งมีผล

กระทบต่อดินโดยตรง การใช้เคมีกำจัดโรคและแมลง ซึ่งต้องใช้มากและเพิ่มความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็คือ สารพิษปนเปื้อนในอากาศ ในดิน และแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัญหาน่าวิตกของชาวโลกในปัจจุบัน      
          การปลูกไม้ไผ่มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก อาจพูดได้เต็มปากว่า การปลูกไผ่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเพราะเกี่ยวข้องกับสารพิษน้อยมาก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน เพิ่มออกซิเจนในอากาศ และช่วยทำให้อุณหภูมิของโลกเย็นลงด้วย


ข้อมูลอ้างอิง

     ความรู้เกี่ยวกับไผ่ที่เขียนขึ้นมานี้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้สนใจจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับไผ่ในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มความรู้ และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ไผ่ในอนาคตต่อไป จึงขอขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับไผ่ในด้านต่างๆ มา ณ โอกาสนี้ด้วย ที่ได้นำความรู้เกี่ยวกับไผ่มาถ่ายทอดบนเว็ปไซต์ ข้าพเจ้าจึงขอรวบรวมข้อมูลที่ทุกท่านได้ถ่ายทอดไว้นี้ ส่งต่อให้กับผู้คนที่มีความสนใจเกี่ยวกับไผ่ต่อไปด้วยครับ

ไผ่ - วิกิพีเดีย

ไผ่ ศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

- สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

แก้จนดอทคอม 108อาชีพเสริม

รูป ความมหัศจรรย์ของมนุษย์ ในการทำลายล้างธรรมชาติ



  • เกษตรธรรมชาติ( Natural farming)


เป็นแนวทางเกษตรกรรมที่ยึดหลักสำคัญ 4 ประการ คือ ไม่มีการไถพรวนดิน งดเว้นการใส่ปุ๋ย ไม่กำจัดวัชพืช และไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นแนวทางเกษตรกรรมที่เผยแพร่โดย เกษตรกรชาวญี่ปุ่น ชื่อ นายมาซาโนบุ ฟูกุโอกะ ซึ่งถ่ายทอดประสบการณ์ของตนไว้ในหนังสือ “One Straw Revolution” “The Road Back to Nature” และ “The Natural Way of Farming” ฟูกุโอกะ กล่าวว่ามนุษย์เข้าไปแทรกแซงธรรมชาติมากเกินไป อย่างเช่น การนำจุลินทรีย์ และแมลงมาควบคุมแมลงด้วยกันเอง การใส่ปุ๋ยหมักเกินความจำเป็น เป็นต้น
จากปรัชญา และมุมมองนี้ ช่วยให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับแบบแผนและวิธีปฏิบัติของเกษตรกรรมในปัจจุบัน ว่าได้ไปไกลเกินขอบเขตธรรมชาติไปมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้ฉุกคิดว่ามีวิธีการเกษตรกรรมที่ใกล้ชิดกับ ธรรมชาติมากกว่า แต่ไม่ได้รับการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า ภายใต้ยุคสมัยที่เกษตรกรรมเป็นเพียงการผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อระบบตลาด
หนังสือแปลเรื่อง “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” ของฟูกุโอกะ ได้รับความสนใจจากนักพัฒนาการเกษตร และผู้สนใจทั่วไป เหตุผลหนึ่งเนื่องจากแนวทางเกษตรกรรมธรรมชาติ สอดคล้องกับหลักการและความเชื่อทางศาสนา อันเป็นเหตุผลที่ชุมชนชาวพุทธ เช่น ขบวนการสันติอโศกได้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและเผยแพร่เกษตรกรรมยั่งยืนอย่างจริงจัง (1)

หลักการของ "เกษตรธรรมชาติ" (2)
แนวความคิดเกษตรธรรมชาติของ ฟูกุโอกะ มิได้ยืนอยู่บนพื้นฐานความคิดทางวิทยาศาสตร์ อีกทั้งปฏิเสธต่อทฤษฎีวิทยาศาสตร์การเกษตรทั้งหลายด้วย โดยเขาได้วางรากฐานของเกษตรธรรมชาติของเขาไว้ 4 ประการคือ
1. ไม่มีการไถพรวนดิน
การไม่ไถพรวนดินเป็นบทแรกแห่งการเกษตรธรรมชาติ เนื่องจากในธรรมชาตินั้นพื้นดินมีการไถพรวนโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว โดยการชอนไชของรากพืช สัตว์ แมลงและสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ในดิน กระบวนการเหล่านี้ดำเนินไปอย่างสัมพันธ์กัน พืชรากลึกจะช่วยไถพรวนดินชั้นล่าง พืชรากตื้นก็จะช่วยพรวนดินบริเวณดินชั้นบน การใส่ปุ๋ยจะทำให้รากพืชอยู่ตื้นและแผ่ขยายตามแนวนอนมากกว่าจะหยั่งลึกลงไป
2. งดเว้นการใส่ปุ๋ย
เนื่องจากการใส่ปุ๋ยเป็นการเร่งการเจริญเติบโตของพืชแบบชั่วคราวในขอบเขต แคบๆ เท่านั้น ธาตุอาหารที่พืชได้รับก็ไม่สมบูรณ์ พืชที่ใส่ปุ๋ยมักจะอ่อนแอส่งผลให้เกิดโรคและแมลงได้ง่าย ดินที่ใส่ปุ๋ยเคมีติดต่อกันนานจะมีสภาพเป็นกรดและเนื้อดินเหนียวไม่ร่วนซุย การใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยพืชสดมีความจำเป็นอยู่บ้างโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่ต้องมีการปรับสภาพสิ่งแวดล้อมที่เสียไปจากเกษตรเคมีให้ดีขึ้น
3. ไม่กำจัดวัชพืช
เนื่องจากงานกำจัดวัชพืชเป็นงานหนักและแม้จะคิดค้นวิธีการต่างๆ ก็ไม่สามารถทำให้วัชพืชหมดสิ้นไปได้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องยอมรับการดำรงอยู่ของวัชพืช เช่นเดียวกับที่ธรรมชาติมิได้ประกอบด้วยพันธุ์ไม้เดียว เกษตรธรรมชาติต้องคิดค้นกฎเกณฑ์ที่วัชพืชจะควบคุมกันเอง เช่น การปลูกพืชบางชนิดคลุมหญ้าแล้วก็เป็นปุ๋ยแก่พืชปลูกด้วย
4. ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
สารเคมีไม่เคยกำจัดศัตรูพืชได้ได้โดยเด็ดขาดเพียงแต่หยุดได้ชั่วครั้งชั่ว คราวเท่านั้น และปัญหามลพิษที่เกิดจากสารเคมีประเภทต่างๆ ส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศและมนุษย์ ทั้งนี้ ฟูกุโอกะ ไม่เห็นด้วยแม้การใช้แมลงและจุลินทรีย์มาควบคุมแมลงเพราะเห็นว่าเป็นการไป แทรกแซงธรรมชาติมากเกินไป และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่สัมพันธ์ของสรรพชีวิตในระบบนิเวศได้ เนื่องจากในโลกแห่งความจริงไม่มีทางออกได้ว่าอะไรคือแมลงศัตรูพืช อะไรคือแมลงที่เป็นประโยชน์

เกษตรธรรมชาติของฟูกุโอกะในทางปฏิบัติทำโดยการโปรยฟางคลุมพื้นที่นาหว่านข้าวชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมกับฤดูกาลลงไปพร้อมกับเมล็ดพืชตระกูลถั่ว เทคนิคอีกอย่างคือการทำกระสุนดินเหนียวหุ้มเมล็ดข้าวเอาไว้เพื่อป้องกันนก หนู และศัตรูอื่นๆ ก่อนที่ข้าวจะงอก 
  เกษตรกรต้นแบบของเกษตรธรรมชาติ (3)
เกษตรกรต้นแบบของเกษตรธรรมชาติ คือ “พ่อคำเดื่อง ภาษี” ซึ่ง เริ่มทำเกษตรธรรมชาติในปี 2530 โดยครั้งแรกทดลองทำแค่ 1 งานเท่านั้น โดยเริ่มจากใส่แกลบลงไปก่อนแล้วไถหน้าดินให้ร่วนซุยเพราะเนื้อดินแข็งมาก จากนั้นหว่านถั่วลงไป เมื่อถั่วงอกสูงขึ้นราวๆ หนึ่งศอกก็หว่านข้าวทับลงไปโดยไม่ต้องไถอีก เมล็ดข้าวที่หว่านต้องเคลือบด้วยดินเหนียวแต่ละก้อนมีเมล็ดข้าวติดอยู่ 2-3 เมล็ด ที่ 1 งานใช้พันธุ์ข้าวราวๆ 6 กิโลกรัม หลังจากฝนตกข้าวก็จะงอกขึ้นเลยถั่ว ให้ปล่อยน้ำเข้า 2 วันจนสูงรวม 2 เซนติเมตร เพื่อชะลอการเจริญเติบโตของถั่ว จากนั้นไขน้ำออก ต้นข้าวได้รับแสงแดดก็จะขึ้นงาม ในขณะที่หญ้าจะถูกคลุมอยู่ใต้ฟาง ทั้งหญ้าทั้งถั่วจะเป็นปุ๋ยและไส้เดือนก็จะมาพรวนดิน ข้าวจะขึ้นแข็งแรงพอๆ กับที่ปักดำและใส่ปุ๋ย
การทำนาธรรมชาติของพ่อคำเดื่องได้ผลดีมากในปีที่ 2 จนเพิ่มเนื้อที่เป็น 4 ไร่ ได้ข้าว 30 กระสอบ ซึ่งไม่ต่างกับที่นาของชาวนาที่ใช้สารเคมี และเมื่อขึ้นปีที่ 3 ขยายเป็น 12 ไร่ ได้ข้าว 28 กระสอบ เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ในขณะที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงแทบไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเลย
นอกจากทำนาแบบธรรมชาติแล้ว พ่อคำเดื่องยังได้จัดระบบปลูกพืชผักต่างๆ ผสมกันไป โดยระยะแรกทำการขุดหลุมพรวนดิน ใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก รดน้ำเหมือนการปลูกพืชผักทั่วไป แต่เมื่อพืชตระกูลถั่วที่ปลูกไว้ขึ้นคลุมพื้นที่หมด ก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยรดน้ำอีกเลย
หมายเหตุ
(1) คัดลอกและเรียบเรียง จากหนังสือ เกษตรกรรมยั่งยืน วิถีเกษตรเพื่อความเป็นไท ; สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกครั้งที่ 3; มหกรรมเกษตรกรรมยั่งยืน: ฟื้นฟูวิถีชีวิตไท เพื่ออธิปไตยของชาติ.
(2) คัดลอกและเรียบเรียง จากหนังสือ เกษตรกรรมทางเลือก ความหมาย ความเป็นมา และเทคนิควิธี ; วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ บรรณาธิการ ; สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกครั้งที่ 2; มหกรรมเกษตรและอาหารปลอดสารพิษ.
(3) คัดลอกและเรียบเรียง จากหนังสือ เกษตรกรรมทางเลือก ความหมาย ความเป็นมา และเทคนิควิธี ;
อ้างแล้ว




2 ความคิดเห็น:

  1. Tie ในเกมบาคาร่า autobet บาคาร่า คือ เกมเพื่อการเดิมพันอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะเป็นเกมเพื่อการเดิมพันที่...สนุกเล่นได้ที่ autobet

    ตอบลบ