เกษตรทฤษฎีใหม่(New Theory Farming)

เกษตรทฤษฎีใหม่  (New Theory Farming)

 1.  วัตถุประสงค์
                                เกิดจากการวิเคราะห์ปัญหา โดยเฉพาะเกษตรในประเทศไทยมี 2 ปัญหาที่สำคัญ
1. ปัญหาภัยแล้งจากการขาดแคลนน้ำ
ที่เกษตรกรรมไทยกว่า 70%อยู่นอกเขตชลประทาน ทำให้เกษตรต้องอาศัยแหล่งน้ำจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวทำให้เสียดุลรระบบนิเวศ(อ่านระบบนิเวศเพิ่มเติม ระบบนิเวศจากคลังปัญญาไทย) ซึ่งการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ได้มีการวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อ 1ไร่ดังนั้นหากต้องการปลูกข้าว 5ไร่และพืชผักผลไม้ 5ไร่ จึงต้องมีน้ำเพื่อใช้ 10,000 ลูกบาศก์เมตร
2. ความไม่มั่นคงทางด้านอาหารของเกษตรกร
ดังนั้นการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จึงเน้นให้มีการผลิตข้าวไว้ใช้ในการบริโภคได้ตลอดปีอย่างน้อย 5 ไร่ก็จะสามารถดำรงชีพอยู่ได้ นอกเหนือจากการปลูกข้าวก็ได้มีการเสนอให้จัดสรรพื้นที่สำหรับทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์อื่นๆ เพื่อเป็นรายได้เสริมและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ดังนั้น ในพื้นที่ที่ถือครองอยู่เฉลี่ย 10-15 ไร่ ควรมีการจัดสรรที่ดินออกเป็นสัดส่วนดังนี้
1.  ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ให้มีการขุดสระน้ำความจุประมาณ10,000 ลูกบาศก์เมตรไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้
2.  ร้อยละ 30 ของพื้นที่ใช้เพาะปลูกพืชผักสวนครัวหรือปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ
3.  ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ใช้ในการทำนาหรือปลูกข้าวเพื่อสร้างความมั่นคงในด้านอาหาร
4.  ร้อยละ 10 ของพื้นที่ เป็นบริเวณที่อยู่อาศัย
การเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ จึงนับได้ว่าเป็น ระบบเกษตรที่เน้นการจัดสรรทรัพยากรน้ำในไร่นา เพื่อสร้างผลผลิตอาหารที่พอเพียงและเพื่อการผลิตที่หลากหลาย สำหรับเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคงแก่ครัวเรือนเกษตรกร ตลอดจนเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และขาดแคลนทรัพยากรให้บรรเทาลง จนกระทั่งพัฒนาถึงขั้นที่เกษตรกร สามารถพึ่งตนเองได้



วัตถุประสงค์ของการเกษตรทฤษฎีใหม่ 3 ประการ
               (1) ความมั่นคงทางด้านอาหาร ทำให้มีอาหารเพื่ออุปโภคอุปโภคและบริโภคภายครัวเรือนเป็นการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาจากภายนอก จึงก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร
                (2) การจัดการทรัพยากรน้ำ เน้นการจัดแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนการผลิตในไร่นามีการจัดการบริหารน้ำที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด(อ่านแหล่งน้ำที่สำคัญเพิ่มเติม)
                (3) ความมั่นคงทางด้านรายได้ เน้นการทำเกษตรเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายในส่วนที่เหลือ จึงจะก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกร และเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีกด้วย
                การระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเป็นครัวเรือนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานที่มีพื้นที่ถือครอง 10-15 ไร่ อย่างไรก็ดีกลุ่มเกษตรที่มีที่ดินทำกินน้อยกว่า 10 ไร่รวมถึงเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน ยังมิใช่กลุ่มเป้าหมายหลักของการเกษตรทฤษฎีใหม่ ความท้าทายของการพัฒนาการเกษตรและการพัฒนาชนบทในอนาคตคือ การพยายามปรับปรุงหรือดัดแปลงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อพัฒนากลุ่มเกษตรกรที่ยากจนที่สุดในสังคมไทย

2. ความหมายของเกษตรทฤษฎีใหม่
 ทฤษฎีใหม่เป็นสูตรพัฒนาการเกษตรแผนใหม่ ที่เน้นการกักเก็บน้ำในพื้นที่การเกษตรเพื่อใช้แก้ ปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำทางการเกษตร มีการจัดสรรดินอย่างเป็นสัดส่วนตามอัตราส่วนที่กำหนดทฤษฎีใหม่ตามพระราชดำริ มีลักษณะเป็นการเกษตรแบบผสม ผสานแต่มีความชัดเจนในการกำหนดพื้นที่ เพราะโดยเฉลี่ยเกษตรกรของไทย จะมีพื้นที่ถือครองเฉลี่ยครอบครัวละประมาณ10 - 15 ไร่ ให้ จัดแบ่งไร่นาออกเป็น 3 ส่วน โดย : ส่วนแรก ประมาณร้อยละ 30 ให้ก่อสร้างสระกักเก็บน้ำขนาดเล็กเพียงพอที่จะบรรจุน้ำได้ประมาณ 19,000ลูกบาศ์กเมตร เลี้ยงปลาในสระ ปลูกพืชน้ำและปลูกพืชรอบขอบสระ : ส่วนที่สอง ประมาณร้อยละ 60 เป็นพื้นที่ทำนาเพื่อบริโภคปลูกไม้ผลและพืชไร่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม : ส่วนที่เหลือ ประมาณร้อยละ 10 ก็จะใช้ปลูกสร้างบ้าน คอกสัตว์ ลานตาก ที่เก็บปุ๋ยและที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ   แต่อย่าง
ไรก็ตาม ทฤษฎีใหม่ไม่ใช่สูตรสำเร็จที่เนรมิตรความฝันได้โดยง่าย ทฤษฎีใหม่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง และมีปัจจัยแต่งเสริมหลายอย่างจึงจะประสบผลสำเร็จ และมีความมั่นคงยั่งยืน
เหตุที่เรียก "ทฤษฎีใหม่"
                1. มีการจัดแบ่งที่ดินออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกรรายย่อยเนื้อที่ถือครองขนาดเล็ก ซึ่งไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
                2. มีการคำนวณปริมาณน้ำกักเก็บให้เพียงพอในการเพาะปลูกตลอดปีโดยใช้หลักวิชาการ
                3. มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ 

3.  แนวพระราชดำริและแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เมื่อพุทธศักราช 2489 เป็นต้นมาพระองค์ได้เสด็จแปรพระราชฐานและเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกร โดยเฉพาะประชาชนในชน บทและท้องถิ่นทุรกันดารทั่วราชอาณาจักรอย่างสม่ำเสมอ พระองค์ได้ทรงประสบกับความทุกข์ยากของพสกนิกรด้วยพระองค์เองโดยเฉพาะพสกนิกรที่เป็นเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศคนเหล่านี้ล้วนแต่ประสบกับปัญหาในการประกอบอาชีพเนื่องจากอาชีพการเกษตรนั้นต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยต่างๆ มาก มายไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ อันได้แก่ ดิน น้ำ ลมฟ้าอากาศ รวมทั้งศัตรูพืชและสัตว์ชนิดต่าง ๆ   สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก  เมื่อก่อนดินเคยอุดมสมบูรณ์ปลูกพืชอะไรก็เจริญเติบโต  สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลได้  แต่ปัจจุบันดินมีสภาพเสื่อมโทรม  ขาดแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช  โรคและแมลงศัตรูต่าง ๆ ก็ระบาดรุนแรงมากขึ้น  ปลูกพืชอะไรถ้าหากไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชก็จะไม่ได้เก็บเกี่ยวผลิตผล ไม่เพียงแต่โรคและแมลงศัตรู พืชเท่านั้น ยังมีภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหาในการประกอบอาชีพของเกษตรกร  เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม พายุ ลูกเห็บ เป็นต้น นอกจากนี้การประกอบอาชีพทางการเกษตรนั้นยังขึ้นอยู่กับสภาพ แวดล้อมอื่นๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจและการตลาดเป็นสำคัญ ถ้าหากปีใดเศรษฐกิจดี  ตลาดมีความต้องการสูงราคาผลิตผลทางการเกษตรก็จะดีไปด้วย เกษตรกรที่ประกอบอาชีพนี้ก็จะขายผลิตผลได้ในราคาสูง สามารถมีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพภายในครอบครัว แต่ถ้าหากปีใดเศรษฐกิจตกต่ำ รายได้ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงไป ประสบกับภาวะขาดทุน บางรายถึงกับล้มละลายไปก็มีไม่น้อย
                               ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงทราบและตระหนักถึงความทุกข์ยากของพสกนิกรของพระองค์ จึงทรงพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพของเกษตร กรโดยเน้นที่เกษตรกรยากจนในเขตน้ำฝน ซึ่งมีอยู่กว่าร้อยละ 70 ของเกษตรกรทั้งประเทศ  เกษตรกรเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 5-15 ไร่ แนวทางในการแก้ปัญหาก็คือ การจัดการแหล่งน้ำให้พอเพียงต่อการปลูกพืชในช่วงที่ไม่มีฝน  เนื่องจากน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปลูกพืช  หากมีน้ำเพียงพอ เกษตรกรก็สามารถปลูกพืชได้ทั้งปี  มีงานทำและมีรายได้ตลอดทั้งปี  ไม่ต้องอพยพเคลื่อนย้ายไปทำงานที่อื่น  ดังกระแสพระราชดำรัสความว่า "หลักสำคัญต้องมีน้ำบริโภค  น้ำใช้  น้ำเพื่อการเพาะปลูก  เพราะว่ามีชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้  ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้"  นอกจากการจัดการในเรื่องแหล่งน้ำแล้ว  การแก้ปัญหาในการประกอบอาชีพตามแนวพระราชดำรินี้ ิ ยังเน้นการจัดการระบบการปลูกพืชที่เหมาะสม  เช่น  แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไว้บริโภคในครอบครัว  และพื้นที่ปลูกพืชอื่น ๆ  ไว้บริโภค  ใช้สอยและจำหน่ายแนวทางการประกอบอาชีพการเกษตรแบบนี้จะทำให้เกษตรกรมีงานทำ  มีอาหารไว้บริโภค  มีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามอัตภาพ  อันจะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร  ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ  นับว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติในอนาคต แนวคิดในการแก้ปัญหาการประกอบอาชีพการ เกษตรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  นี้ จึงเรียกว่า  "ทฤษฎีใหม่" ซึ่งเป็นระบบเกษตร ที่เน้นการจัดการแหล่งน้ำ และการจัดสรรแบ่งส่วนพื้นที่ทำการเกษตรอย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีข้าวปลาอาหารไว้บริโภคอย่างพอเพียงตามอัตภาพ อันจะเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตร กรแล้วยังก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
                                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เมื่อ วันที่ 4 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติเศรษฐกิจฟองสบู่ แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ จึงเป็นหนทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นฐานรากของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหากสร้างระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้ครึ่งหนึ่ง หรือแม้แต่หนึ่งในสี่ของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ก็จะสามารถทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงมากกว่าระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาการส่งออกมากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ พึงตระหนักก็คือแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นพระราชดำรัสที่อยู่ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง โดยให้ความสำคัญกับการผลิต เพื่อตอบสนองต่อความต้องการอาหารในครอบครัว และชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก ดังนั้นการส่งเสริมการเกษตรทฤษฎีใหม่ใหม่ที่ดำเนินไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมให้มีการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีการเกษตร หรือการนำทฤษฎีไปใช้ โดยไม่เข้าใจเนื้อหา และปรัชญาที่อยู่ลึกเบื้องหลัง จะมีผลให้แนวทางการดำเนินการดังกล่าว ไม่ถูกจัดว่าเป็นเกษตรกรรมยั่งยืน 

แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่




1.เป็นวิธีปฏิบัติของเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนน้อย (ประมาณ 15 ไร่)ซึ่งเป็นที่ถือครอง โดยเฉลี่ยของเกษตรกรโดยทั่ว ๆ ไป
2.ให้เกษตรกรมีความเพียงพอโดยเลี้ยงตัวเองได้ในระดับที่ประหยัดก่อน ทั้งนี้ต้องมีความ สามัคคีกันในท้องถิ่น
3.มีข้าวบริโภคเพียงพอประจำปีโดยถือว่าครอบครัวหนึ่ง ทำนา 5 ไร่ จะมีข้าวพอกินตลอดปี
4.เพื่อการนี้จะต้องใช้หลักเกณฑ์เฉลี่ยที่ว่า ต้องมีน้ำใช้ระหว่างช่วงฤดูแล้ง 1,000 ลูกบาศ์กเมตร ต่อ 1 ไร่

4.  ความเป็นมาของการทำเกษตรแบบทฤษฎีใหม่
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเยี่ยมราษฎรที่บ้านกุดตอแก่น ตำบลกุดสินคุ้มใหญ่ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 ได้ทรงเห็นสภาพความยากลำบากของราษฎรในการทำการเกษตรในพื้นที่อาศัยน้ำฝน (ปลูกข้าวได้ประมาณ 1 ถังต่อ 1 ไร่) เพาะปลูกได้ปีละครั้งในช่วงฤดูฝนเท่านั้น มีความเสี่ยงในการเสียหายจากความปรวนแปรของดินฟ้าอากาศและฝนทิ้งช่วง ซึ่งสภาพดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ แม้ว่าจะมีการขุดบ่อน้ำเก็บน้ำไว้บ้างก็มีขนาดไม่แน่นอน น้ำใช้ยังไม่พอเพียง รวมทั้งระบบการปลูกพืชไม่มีหลักเกณฑ์และส่วนใหญ่ปลูกพืชชนิดเดียวด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงได้ศึกษารวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์และได้พระราช ทานพระ ราชดำริเพื่อให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติการขาดแคลนน้ำได้โดยไม่เดือดร้อน และยากลำบากนักพระราช ดำรินี้ทรงเรียกว่า "ทฤษฎีใหม่" อันเป็นแนวทางการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยทรงทดลองเป็นแห่งแรกที่วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ในทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศนั้นได้ทรงถามเกษตรกร และทอดพระเนตรพบสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการปลูกข้าวและเกิดแรงดลพระทัยอันเป็นแนวคิดขึ้นว่า
1.  ข้าวเป็นพืชที่แข็งแกร่งมาก หากได้น้ำเพียงพอจะสามารถเพิ่มเมล็ดข้าวได้มากยิ่งขึ้น
2.  หากเก็บน้ำในที่ตกลงมาได้แล้วนำมาใช้ในการเพาะปลูกก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้มากขึ้นเช่นกัน
3.  การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นับวันแต่จะยากที่จะดำเนินการได้ เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนและข้อจำกัดของปริมาณที่ดินเป็นอุปสรรค
4.  หากแต่ละครัวเรือนมีสระนำประจำไร่นาทุกครัวเรือนแล้ว เมื่อรวมปริมาณกันก็ย่อมเท่ากับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แต่สิ้นค่าใช้จ่ายน้อยและเกิดประโยชน์สูงสุดโดยตรงมากกว่า

5.  เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ 

เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของ ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความ สามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือแบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดั้งนี้
                                ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐานเทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอ เพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงของเรื่องน้ำ ก็จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์หรือการที่ธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่าง ๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกัน เพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง
                                ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลัก ไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด 

6.  การทำเกษตรทฤษฎีใหม่
การแบ่งพื้นที่การเกษตร
                                เป็นทฤษฎีแห่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และการบริหารงานในการทำการเกษตรที่ พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตร โดยการแบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งขุดสระกักเก็บน้ำ จำนวน 30% ของพื้นที่ ส่วนที่สอง ปลูกข้าว จำนวน 30% ของพื้นที่ ส่วนที่สาม ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น และส่วนที่สี่ เป็น พื้นที่ที่ใช้สร้างสิ่งปลูกสร้างเช่น ที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ฉาง จำนวน 10% ของพื้นที่ จำนวนสัดส่วนของพื้นที่นี้ทั้งหมดสามารถปรับเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง เช่นครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกจำนวน 4 คน พื้นที่มีแหล่งน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี แต่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำก็ควรปรับลดพื้นที่ขุดสระ และเพิ่มพื้นที่นาข้าวเพื่อให้มีข้าวบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี
พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง จำนวน 3.6 ไร่ (30%)
                                ขุดสระกักเก็บน้ำจำนวน 2 สระ สามารถกักเก็บน้ำ ได้รวม 10,455 ลูกบาศก์เมตร เพียงพอ ต่อการนำน้ำมาใช้ ในการทำการเกษตรได้ทั้งปีแต่การผันน้ำมาใช้นั้น ยังคงต้องใช้เครื่องจักรกลในการสูบน้ำมาใช้ ทำให้สูญเสียพลังงานเชื้อเพลิงจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ถ้าสามารถลดการใช้พลังงานลงได้หรือ หาพลังงาน เชื้อเพลิงอื่นทดแทน หรือมีการวางแผนการใช้น้ำ เช่น หากพื้นที่มีระดับที่ต่างกันมาก สามารถวางท่อนำน้ำออกมาใช้โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำและน้ำมัน เป็นการจัดการทำให้ต้นทุนการเกษตรลดลงได้ในระยะยาว
พื้นที่ส่วนที่สอง 3.6 ไร่ (30%)
                                ใช้ปลูกข้าว ดำเนินการในปี 2547 เตรียมดิน หว่านกล้าและปักดำโดยใช้ข้าวจ้าวหอมมะลิ 105 จำนวน 40 กิโลกรัม ทำการกำจัดวัชพืชในนาข้าว โดยการถอน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16 – 20 – 0 จำนวน 30 กิโลกรัมและปุ๋ยเคมีสูตร 40 – 0 – 0 จำนวน 30 กิโลกรัม
พื้นที่ส่วนที่สาม 3.6 ไร่ (30%)  ปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยแบ่งพื้นที่ปลูกดังนี้
                                1. พื้นที่จำนวน 2 ไร่ ปลูกมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ จำนวน 50 ต้น
                                2. พื้นที่จำนวน 0.5 ไร่ ปลูกกล้วยน้ำหว้า จำนวน 60 ต้น
                                3. พื้นที่จำนวน 0.5 ไร่ ปลูกพืชผัก จำนวน 20 แปลง
                                4. พื้นที่จำนวน 0.6 ไร่ ปลูกไม้ใช้สอย อาทิเช่น ต้นสัก จำนวน 30 ต้น ต้นยูคาลิปตัส จำนวน 80 ต้นต้นไผ่รวก จำนวน 10 ต้น ต้นไผ่ตง จำนวน 5 ต้น ต้นหวาย จำนวน 30 ต้น
พื้นที่ส่วนที่สี่ 1.2 ไร่ (10%) เป็นพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์
1.สร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ จำนวน 1 หลังขนาด 3*4 เมตร เลี้ยงไก่แล้ว 3 รุ่น จำนวน 200 ตัว คัดไว้เป็นพ่อพันธุ์ จำนวน 2 ตัวและแม่พันธุ์ จำนวน 10 ตัว
2.สร้างโรงเรือนเลี้ยงเป็ดจำนวน 1 หลัง ขนาด 3*4 เมตร ใช้เลี้ยงเป็ด 3 รุ่น จำนวน 129 ตัว คัดไว้เป็นพ่อพันธุ์ จำนวน 2 ตัวและแม่พันธุ์ จำนวน 10 ตัว
3.สร้างโรงเรือนสุกรจำนวน 1 หลัง ขนาด 3.5*19.5 เมตรดำเนินการเลี้ยงสุกรจำนวน 20 ตัว
4.สร้างศาลาถ่ายทอดเทคโนโลยี จำนวน 1 หลัง ขนาด 3.5*10.5 เมตร ใช้เป็นพื้นที่แสดงและถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป
  
7.  หลักการของ "ทฤษฎีใหม่"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน "ทฤษฎีใหม่" ให้ดำเนินการในพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็กประมาณ 15 ไร่ด้วยวิธีการจัดสรรที่ดินให้เหมาะสมกับการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผลเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ใช้จ่ายตลอดปีซึ่งได้ดำเนินการอย่างแพร่หลายในปัจจุบันซึ่งการพัฒนาตามแนวทาง "ทฤษฎีใหม่" นี้มีความจำเป็นต้องประยุกต์ใช้ในเหมาะสม  กับสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ทฤษฎีใหม่ มี 3 ขั้น คือ
7.1  ทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง
พื้นฐานที่สำคัญของเกษตรกรที่จะปฏิบัติทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง ได้แก่ มีพื้นที่ค่อนข้างน้อยประมาณ 15 ไร่ ค่อนข้างยากจน จำนวนสมาชิกปานกลาง (ไม่เกิน 6 คน ) อยู่ในเขตใช้น้ำฝนธรรมชาติ ฝนไม่ชุกมากนัก ดินมีสภาพขุดสระเก็บกักน้ำได้ ในระยะแรกจะผลิตพอเพียงเลี้ยงตัวได้ แต่จะต้องกินอยู่อย่างประหยัด มีความขยันหมั่นเพียร มีความสามัคคี และช่วยเหลือเกื้อกูลกันกับเพื่อนบ้าน หลักการที่สำคัญของการปฏิบัติ คือรู้จักการบริหารและจัดการดินและน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับการบริหารเวลา บริหารเงินทุน และกำลังคน เพื่อได้บังเกิดผลผลิตเป็นอาหารและรายตลอดปีและผลจากการที่ได้ทรงคิดและคำนวณ พระ องค์ได้ทรงแนะนำให้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนร้อยละ30:30:30:10(ภายหลังสัดส่วนนี้ทรงมีพระราชวินิจฉัยให้ยืดหยุ่นได้บ้าง) และทำกิจกรรมดังนี้
                             1. ร้อยละ 30 ส่วนแรก ให้ขุดสระประมาณ 4.5 ไร่ สำหรับเก็บน้ำฝนธรรมชาติที่มีอย่างเหลือเฟือในฤดูฝนปกติ เพื่อใช้สำหรับรดน้ำพืชที่ปลูกในฤดูฝนยามเมื่อฝนทิ้งช่วงแห้งแล้ง การใช้น้ำจะต้องเป็นไปอย่างประหยัด โดยใช้วิธีการและเลือกพืชกับวิธีปลูกแต่ละพืชที่เหมาะสม วิธีการให้น้ำโดยประหยัด เช่น การตักรด การสูบส่งตามท่อยาง หรือการใช้ระบบน้ำหยดแบบพื้นบ้าน เป็นต้น ส่วนพืชและวิธีปลูกที่เหมาะสม เช่น เลือกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชยืนต้นหรือพืชอายุสั้น โดยปลูกผสมผสานกันหลาย ๆ ชนิด ระหว่างพืชต้นใหญ่และพืชล้มลุกเพื่อใช้พื้นที่และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดและมีเสถียรภาพ น้ำที่เก็บในสระหากเหลือไปถึงฤดูแล้งให้ใช้ปลูกพืชอายุสั้นและราคาดี เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และผักต่าง ๆ ไม่ควรนำไปใช้ปลูกข้าวนาปรังเป็นอันขาด นอกจากปีใดน้ำท่วม แปลงข้าวเสียหายหมด จึงจะพิจารณาปลูกข้าวนาปรังได้เพื่อให้มีข้าวบริโภค แต่ต้องประมาณพื้นที่ปลูกข้าวให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในสระ รูปร่างและขนาดของสระอาจยืดหยุ่นได้บ้าง เช่น ในพื้นที่ที่ฝนมีปริมาณทั้งปีมากหรือมีน้ำชลประ ทานมาเติมได้ ขนาดสระอาจจะน้อยกว่าร้อยละ 30 และถ้าพื้นที่บังคับ หรือต้องการเลี้ยงสัตว์น้ำอาจขุดสระและบ่อหลาย ๆ บ่อก็ได้(สระสำหรับเก็บน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การชลประทาน และบ่อสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ ) แต่เมื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดแล้วจะต้องใกล้เคียงร้อยละ 30 นอกจากนี้อาจจะรวมนับพื้นที่ร่องน้ำที่ยกคันขึ้นเพื่อปลูกไม้ยืนต้นด้วยหากสามารถเก็บน้ำในร่องได้ตลอดปี ในกรณีที่สามารถส่งน้ำมาจากแหล่งชลประทานได้ ต้องส่งมาในระบบท่อปิดเพื่อลดการสูญเสีย และส่งมาเติมในสระตามช่วงเวลาที่จำเป็นเท่านั้น การใช้น้ำจากสระต้องเป็นไปตามหลักประหยัดดังที่กล่าวข้างต้นและพึ่งตัวเองให้มากที่สุด หากไม่ได้รับความช่วยเหลือการขุดสระจากราช การหรือแหล่งเงินทุนอื่นและต้องการขุดเอง ควรทยอยขุดสระแต่ละปีตามกำลังเงินและกำลังกายจนกว่าจะครบพื้นที่ร้อยละ 30 รูปร่างของสระคาดว่ารูปสี่ เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ น่าจะลดการระเหยของน้ำได้ดีกว่าบ่อกว้างดินที่ขุดมาจากสระใช้ถมเป็นพื้นดินรอบพื้นที่เพื่อกันน้ำท่วมหากไม่ใช้ทำคันดิน จะต้องแยกดินส่วนบนไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับนำมาเกลี่ยทับดินชั้นล่าง

                             2. ร้อยละ 30 ส่วนที่สอง ใช้ปลูกข้าวเนื้อที่ประมาณ 4.5 ไร่ เนื่องจากทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าข้าวเป็นอาหารหลักและอาหารประจำวันของคนไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์และเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงและมั่น  ใจในการดำรงชีวิตเกษตรกรไทยไม่ว่าจะโยกย้ายไปอยู่ที่ใดหรือเปลี่ยนอาชีพไปอย่างใด อย่างน้อยจะต้องมั่นใจว่ามีข้าวกินและพยายามปลูกข้าวให้พอกินตลอดปี เพื่อให้มีเสถียรภาพด้านอาหารครอบครัวที่มีสมาชิก 6 คน ถ้าบริโภคข้าวเฉลี่ยประมาณคนละ 200 กิโลกรัมต่อปี จะต้องบริโภคข้าวไม่ต่ำกว่าปีละ 1,200 กิโลกรัม และถ้าทำนาปีในสภาพที่ควบคุมน้ำไม่ให้ขาดช่วงได้เมื่อฝนแล้ง ก็จะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่าปีละ 4.5 x 325 = 1,462.5 กิโลกรัม แต่ถ้าบำรุงรักษาดีอาจจะผลผลิตเพิ่มมากกว่านี้ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วหากยังมีฝนและน้ำในสระเหลือ ควรเลือกปลูกพืชอายุสั้นและราคาดีในสภาพนาดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

                             3. ร้อยละ 30 ส่วนที่สาม เนื้อที่ 4.5 ไร่ ให้ปลูกพืชสวนไม้ยืนต้นและพืชไร่อย่างผสมผสาน โดยมีวิธีการและชนิดของพืชที่แตกต่างกันหลากหลายกันไปแต่ละพื้นที่และขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภูมิภาค ฤดูกาล ตลาด และเส้นทางคมนาคม ตลอดจนประสบการณ์และภูมิปัญญาของเกษตรกร เป็นต้น ไม่มีสูตรตายตัว ยืดหยุ่นได้ การปลูกพืชให้หลากหลายเช่นนี้จะเป็นการช่วยการกระจายเงินทุน แรงงาน น้ำ และปัจจัยการผลิต่าง ๆ กระจายความเสียหายจากศัตรูพืช และความปรวนแปรของดิน ฟ้า อากาศ ตลอดจนกระจายรายได้ด้วยพืชที่ปลูกระยะแรกควรเป็นกล้วย ทำเพื่อบังร่มและเก็บความชื้นในดินต่อไปควรเป็นผลไม้และไม้ยืนต้น ระหว่างที่ไม้ยืนต้นยังไม่โต ก็ปลูกพืชล้มลุกอายุสั้นระหว่างแถว เช่น พริก มะเขือ ถั่วต่าง ๆ จนกว่าจะปลูกไม่ได้ จึงเปลี่ยนไปปลูกไม้ทนร่ม เช่น ขิง ข่า และพืชหัว เป็นต้น พื้นที่ปลูกพืชผสมผสานเหล่านี้มีพื้นที่รวมกันประมาณ 4.5 ไร่ แต่ในบางท้องที่ขนาดของสระ และพื้นที่ปลูกข้าวรวมกันอาจน้อยกว่า 9 ไร่ พื้นที่ที่ลดลงอาจใช้ปลูกพืชผสมได้ รวมทั้งบริเวณรอบที่อาศัย คันดิน ทางเดิน และขอบสระอาจใช้ปลูกพืชต่าง ๆ ได้ นับพื้นที่รวมกันเป็นพื้นที่ปลูกพืชผสม พืชผสมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้เป็นอาหารประจำวัน ได้แก่ ผัก ผลไม้ สมุนไพร และเครื่องเทศ ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยที่กินกับข้าวมาเป็นเวลาช้านาน เช่นเดียวกับข้าว และปลา โดยเฉพาะพืชผักพื้นเมือง ปัจจุบันมีมากกว่า 160 ชนิด บางชนิดมีพบทั่วทุกภาค ส่วนที่เหลือก็สามารถจำหน่ายเป็นรายได้ ตัวอย่างของพืชที่ควรเลือกปลูกได้แก่
พืชสวน ( ไม้ผล ) เช่น มะม่วง มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน มะพร้าวน้ำหอม มะขาม ขนุน ละมุด ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มโชกุน ฝรั่ง น้อยหน่า กระท้อน มะละกอ ชมพู่ และกล้วย เป็นต้น
                             พืชสวน ( ผักยืนต้น ) เช่น แคบ้าน มะรุม สะเดา ชะอม ขี้เหล็ก ผักหวาน กระถิน เหลียง เนียง สะตอ หมุ่ย ทำมัง ชะมวง มันปู มะอึก มะกอก ย่านาง ถั่วมะแฮะ ตำลึง ถั่วพู และมะเขือเครือ เป็นต้น
                             พืชสวน ( พืชผักล้มลุก ) เช่น พริก กระเพราะ โหระพา ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ชะพลู แมงลัก สะระแหน่ บังบก มันเทศ มันสำปะหลัง เผือก บุก ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม มะเขือ ฟักเขียว ฟักทอง ผักบุ้งไทย ผักบุ้งจีน ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักไผ่ หอม กระเทียม และมะละกอ เป็นต้น
                             พืชสวน ( การปลูกไม้ดอกประดับ ) เช่น มะลิ ดาวเรือง บานไม่รู้โรย กุหลาบ รัก ซ่อนกลิ่น ปทุมมา กระเจียว และดอกไม้เพื่อทำดอกไม้แห้ง เป็นต้น
                             เห็ด เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เป็นต้น
                              สมุนไพรและเครื่องเทศ   (อ่านการปลูกพืชสมุนไพรและเครื่องเทศเพิ่มเติม)   บางชนิดจัดอยู่ในกลุ่มพืชผักแล้ว เช่น พริก พริกไทย กระเพรา สะระแหน่ แมงลัก และตะไคร้ เป็นต้น แต่ยังมีบางประเภทที่ใช้เป็นยารักษาโรคและน้ำมันหอม เช่น ขมิ้นชัน (โรคกระเพาะ) พญายอหรือเสลดพังพอน (โรคเริม) ไพล (ปวดเมื่อย) ฟ้าทะลายโจร (แก้ไข้) มะแว้ง (แก้ไข้ และแก้ไอ) ชุมเห็ด และมะขามแขก (ยาระบายอ่อน ๆ ) ทองพันชั่ง (ความดันสูง) กระเทียม (ความดันสูง) ตะไคร้หอม (ยากันยุง) และแฝกหอม เป็นต้น
                             พืชน้ำ ปลูกในสระ เช่น ผักกระเฉด ผักบุ้งไทย กระจับ หน่อไม้ บัวสาย ผักกูด และโสน เป็นต้น
                             ไม้ยืนต้น (ใช้สอยและเชื้อเพลิง แต่บางชนิดมีส่วนที่กินได้) เช่น ไผ่ มะพร้าว ตาล เสียว กระถิน สะแก ยูคาลิปตัส สะเดา ขี้เหล็ก สัก ยางนา และหลายชนิดมีคุณสมบัติบำรุงดินด้วย เช่น ประดู่บ้าน ประดู่ป่า พยุง ชิงชัน กระถินณรงค์ กระถินพิมาน กระถินเทพา มะค่าโมง ทิ้งถ่อน จามรีป่า จามจุรี ทองหลาง กระถิ่นไทย และมะขามเทศ เป็นต้น
                             พืชไร่ พืชไร่หลายชนิดไม่เหมาะกับการปลูกผสมกับพืชอื่น เพราะต้องการแสงแดดมากและไม่ชอบการเบียดเสียด แต่อาจปลูกได้ในช่วงแรก ๆ ที่ไม้ยืนต้นยังไม่โตไม่แย่งร่มเงามากนัก บางชนิดอาจเก็บเกี่ยวเมื่อผลผลิตที่ยังสดอยู่และรับประทาน หรือจำหน่ายเป็นพืชผักซึ่งจะมีราคาดีกว่าเก็บผลผลิตแก่ พืชไร่เหล่านี้ ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ปอกระเจา อ้อยคั้นน้ำ และมันสำปะหลัง เป็นต้น บางชนิดเป็นพืชยืนต้น อาจปลูกตามริมแปลง หัวไร่ ปลายนาได้ เช่น นุ่น ละหุ่ง และฝ้ายสำลี เป็นต้น ส่วนดีของพืชไร่ คือผลผลิตเก็บไว้ได้นานต่างกับพืชสวนที่ผลิตผลเก็บไว้ไม่ได้นาน จะต้องรีบจำหน่ายรีบบริโภค หรือแปรรูปทันที
พืชบำรุงดิน และพืชคลุมดิน ชนิดที่เป็นพืชล้มลุก ควรปลูกแซมผลไม้ หรือไม้ยืนต้นขณะที่ต้นยังเล็กอยู่ หรือปลูกตามหลังข้าว เช่น ถั่วมะแฮะ ถั่วฮามาต้า โสนอัฟริกัน โสนพื้นเมือง ปอเทือง ถั่วพร้า รวมทั้งถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และถั่วพุ่ม เป็นต้น แต่บางชนิดเป็นพืชยืนต้น อาจปลูกผสมกับพืชอื่น หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนาไว้บางอย่างอยู่ในกลุ่มพืชสวนที่บริโภคได้บางอย่างอยู่ในกลุ่มไม้ใช้สอยและเชื้อเพลิง เช่น ขี้เหล็ก กระถิน ชะอม ถั่วมะแฮะ สะตอ หางไหล มะขาม มะขามเทศ มะขามแขก ประดู่บ้าน ประดู่ไทย ทองหลาง และสะเดาช้าง เป็นต้น สำหรับพื้นที่ที่มีความลาดเท หรือริมบ่อ ริมค้นดิน ควรปลูกแฝกเป็นแถวขวางแนวลาดเอียง เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน
                             แนวทางประกอบการพิจารณาเลือกปลูกพืชผสม พืชหลายชนิดใช้ทำประโยชน์ได้มากกว่าหนึ่งอย่าง หรือเอนกประสงค์ หากเลือกปลูกพืชผสมหลายอย่างในพื้นที่เดียวกันต้องอาศัยคำแนะนำทางวิชาการ และประสบการณ์ หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะพืชบางชนิดจะปลูกร่วมกันได้ บางชนิดไม่ได้
หลักการพิจารณาทั่ว ๆ ไป เลือกปลูกพืชที่มีความสูงของเรือนยอดต่าง ๆ อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยแบ่งเป็นความสูงออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้
                             1.  สูง เช่น มะพร้าว มะขาม ประดู่ ไผ่ ขนุน เหลียง สะตอ เนียง มะตูม เป็นต้น
                             2.  ปานกลาง เช่น มะม่วง ส้ม มะนาว มะรุม ผักหวาน ขี้เหล็ก มะดัน กระท้อน น้อยหน่า กล้วย มะละกอ อ้อย สะเดา มะกรูด ชะมวง หมุ่ย ชะอม มะยม ทองหลาง มะกอกป่า มะเฟือง มะอึก ยอ เป็นต้น
                             3.  ชั้นล่าง เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ สะระแหน่ บัวบก บอน กระชาย ขมิ้น ชะพลู สับปะรด บุก มันต่าง ๆ มะเขือต่าง ๆ พริก กระเจี๊ยบมอญ กระเจี๊ยบแดง ผักโขม เป็นต้น
                             กุศโลบายในการปลูกพืชผสมหลายอย่าง ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ มีแนวทางส่งเสริม การปลูกพืชอาหารด้วยวิธีการแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ เช่น
                             1.  พืชสวนครัว เช่น พริก กระเพรา โหระพา แมงลัก ตะไคร้ มะกรูด พริกไทย มะอึก มะนาว (กะปิ น้ำปลา น้ำตาล) เป็นต้น
                             2.  รั้วกินได้ เช่น ตำลึง ขจร โสน ถั่วพู มันปู กระถิน มะขามเทศ บวบ ฟักเขียว มะระ มะเขือเครือ ไผ่ น้ำเต้า ฟักข้าว ผักแป๋ม เป็นต้น
                              3.  ผักส้มตำ เช่น มะละกอ ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม มะนาว พริก (กระเทียม น้ำตาล น้ำปลา ปู กุ้งแห้ง น้ำปลาร้า)
                             4.  ผักข้าวยำ เช่น กระถิน ส้มโอ มะดัน มะขาม สะตอ ถั่วฝักยาว ตะไคร้ มะม่วง ข่า มะกรูด มะพร้าว (น้ำตาล น้ำปลา น้ำบูดู)
                             5.  ผักแกงแค เช่น ชะอม ชะพลู กระเพราขาว ตำลึง ฝักชีฝรั่ง ผักขี้หูด มะเขือเปราะ หน่อไม้ ผักเผ็ด ถั่วฝักยาว มะเขือพวง ตะไคร้ (พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ น้ำปลาร้า น้ำมัน เกลือ)
                             (หมายเหตุ) องค์ประกอบในวงเล็บเป็นส่วนที่ผลิตจากพืชและสัตว์น้ำ ซึ่งมีการผลิตเป็นการค้า จำหน่ายอย่างแพร่หลายอยู่แล้วและราคาไม่แพงนักใช้จำนวนไม่มากถึงแม้จะผลิตได้เองแต่การซื้อจากตลาดบ้างน่าจะสะดวกกว่า

                             ร้อยละ 10 ส่วนสุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัย ถนน คันดิน และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ รวมประมาณ 1.5 ไร่ พื้นที่ส่วนนี้จะรวมคอกสัตว์เลี้ยง เรือนเพาะชำ ฉางเก็บผลิตผลเกษตร ปัจจัยการผลิต และเครื่องมือเครื่องทุ่นแรง ฯลฯ อาจรวมสวนรอบบ้านด้วย
                             การเลี้ยงสัตว์ ควรเลือกเลี้ยงสัตว์บก เช่น วัวนม  สุกร  ไก่ใข่  ไก่เนื้อ  เป็ดไข่ และสัตว์น้ำ เช่นปลาตะเพียน ปลาสลิด ปลานิล ปลาทับทิม  กุ้งก้ามกราม หอยขม ฯลฯ ได้เหมาะสมกับแรงงาน เงินทุน และพื้นที่ที่เหลือ ตลอดจนอาหารบางส่วนที่ได้จากในแปลงพืช (ต้นพืช รำข้าว ฟางข้าว มูลสัตว์ ฯลฯ ) โดยไม่เน้นเป็นรายได้หลัก แต่เพื่อเป็นรายได้เสริม และอาหารประจำวัน โดยเฉพาะปลาซึ่งเป็นอาหารประจำวันของคนไทยที่บริโภคร่วมกับข้าวและผักมาตั้งแต่โบราณกาล สำหรับเทคนิคของการเลี้ยงคงจะต้องเป็นไปตามคำแนะนำของนักวิชาการเช่นเดียวกับการปลูกพืช เช่น การสร้างคอกหรือเล้าสัตว์ คล่อมริมบ่อปลา เพื่อใช้มูลสัตว์เป็นอาหารปลา หรือการขุดบ่อปลา ให้มีระดับความลึกต่าง ๆ กัน เป็นต้น

                             การเกษตร ทฤษฎีใหม่ ตามหลักการที่ได้กล่าวมานี้จะมุ่งเน้นในเขตเกษตรน้ำฝนไม่มีน้ำชลประ ทาน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวนา และชาวไร่ ปัจจุบันเขตดังกล่าวมีพื้นที่รวมกันประมาณ 102.6 ล้านไร่ หรือร้อยละ 69.0 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด (แบ่งเป็นนาในเขตเกษตรน้ำฝน ประมาณ 48.5 ล้านไร่ หรือร้อยละ 12.6 ข้าวและพืชในที่ดอน ประมาณ 35.7 ล้านไร่ หรือร้อยละ 24.0 ที่เหลือเป็นทุ่งหญ้าและที่รกร้างอีกประมาณ 18.4 ล้านไร่ หรือร้อยละ 12.4 ) เขตเหล่านี้เป็นเขตที่ผลิตผลการเกษตรค่อนข้างปรวนแปรไม่แน่นอนมีความเสี่ยงจากความเสียหายเนื่องจากศัตรูพืช และฝนฟ้าอากาศแปรปรวนอยู่เสมออาจมีฝนแล้งและน้ำท่วมภายในปีเดียวกันห่างไกลชุมชน การคมนาคมไม่ค่อยสะดวกหลายรายยังไม่ได้รับเอกสารกรรมสิทธิ์ที่ดิน และมักจะได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ทางราชการ ธนาคาร และธุรกิจเอกชนค่อนข้างน้อย ดังนั้นควรจะเป็นเขตเป้าหมายอันดับแรกของโครงการเกษตร ทฤษฎีใหม่และควรได้รับการสนับสนุนจากทางราชการและธนาคารในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะการขุดสระน้ำสำหรับเก็บน้ำฝนตามธรรมชาติ
                             การเกษตร ทฤษฎีใหม่ในเขตใช้น้ำฝน ถึงแม้จะหวังพึ่งน้ำจากการเก็บกักน้ำฝนตามธรรมชาติ แต่ถ้ามีแหล่งน้ำชลประทานของรัฐเสริมให้บ้างบางครั้งบางคราว ถึงแม้จะปริมาณน้อยแต่ก็ทำให้เป็นระบบการ เกษตร ทฤษฎีใหม่ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
                             สำหรับเขตชลประทาน และเขตพืชอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่รวมกันประมาณ 46.1 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31.0 (นาชลประทานประมาณ 25.7 ล้านไร่ หรือร้อยละ 17.3 และเขตปลูกพืชอุตสาหกรรม เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ สวนกาแฟ ผัก และไร่สับปะรดส่งโรงงาน เป็นต้น ประมาณ 20.4 ล้านไร่ หรือร้อยละ 13.7 ) เป็นเขตที่มีผลิตผลการเกษตรที่ค่อนข้างไม่ปรวนแปร มีความเสี่ยงจากสภาพฝนฟ้าอากาศน้อย การคมนาคมค่อนข้างสะดวก ใกล้ชุมชน และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ธนาคาร และธุรกิจภาคเอกชนค่อนข้างมาก มีกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือเอกสารการถือครองที่ดินค่อนข้างแน่นอน จึงเป็นเขตที่ไม่ค่อยเดือดร้อน ช่วยตัวเองได้อยู่แล้ว เกษตรกรในเขตดังกล่าวนี้ จึงอาจจะทำการเกษตรแบบก้าวหน้าเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่งแต่ควรจะต้องปรับใช้วิธีการที่พึ่งตนเองให้มากขึ้น ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประ เทศให้น้อยลง เช่น พันธุ์พืชและวัสดุการเกษตร เป็นต้นนอกจากนี้ควรพยายามปลูกพืชผสมผสานให้มากกว่าหนึ่งชนิด และอย่าเสี่ยงการเพิ่มทุนหรือเพิ่มหนี้สินที่เกินกำลัง
                             สำหรับพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน หรือมีแหล่งน้ำธรรมชาติสมบูรณ์หรือมีปริมาณฝนตกชุก เช่น ภาคใต้หรือภาคตะวันออก โดยทั่วไปจะมีการเกษตรกรรมแบบผสมผสานคล้ายคลึงกับการเกษตร ทฤษฎีใหม่อยู่บ้างแล้วและเกษตรกรรู้จักกันมาช้านานอย่างดีแต่สมมติฐานเบื้องต้นยังมิได้ตรงกับการ เกษตร ทฤษฎีใหม่นัก เช่นมีน้ำชลประทานสมบูรณ์ ใช้น้ำอย่างเต็มที่ มีพื้นที่มาก บางแห่งใช้เครื่องมือทุ่นแรง จ้างแรงงานทำงานแทน ข้อสำคัญคือไม่เดือดร้อนและไม่ยากจนนักหากจะทำการเกษตร ทฤษฎีใหม่ก็ทำได้ แต่เป็นการทำแบบประยุกต์ โดยจะต้องยึดหลักการปฏิบัติที่สำคัญ 2 ประการ คือ
1.)แบ่งพื้นที่ทำกิจกรรมออกเป็นสัดส่วน 30: 30: 30:10 โดยประมาณ และอาจจะแบ่งเป็นแปลงย่อย ๆ หลายแปลงหรือแปลงใหญ่น้อยแปลงก็ได้
2.)จะต้องใช้น้ำอย่างประหยัด น้ำที่เคยได้รับจากธรรมชาติหรือจากโครงการชลประทานของรัฐบาลอย่างสมบูรณ์จะต้องเปลี่ยนไปสร้างสระเก็บไว้ใช้ส่วนตัว แล้วบริหารจัดการน้ำโดยตัวเอง โดยไม่หวังพึ่งน้ำจากรัฐบาลมากนัก ตลอดจนการช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายอื่น ๆ ที่อยู่ห่างคลองส่งน้ำของรัฐบาลมีโอกาสได้รับประโยชน์จากน้ำชลประทานเพิ่มมากขึ้น
                             ดังนั้นการเกษตร ทฤษฎีใหม่ไม่ว่าจะอยู่ในเขตใช้น้ำฝนหรือเขตใช้น้ำชลประทาน ถ้าหากหวังอาศัยน้ำชลประทานของรัฐบาลมาเสริม ก็ต้องยึดหลักการใช้น้ำและจัดการน้ำโดยประหยัด ดังกล่าวมาแล้ว และหลักการเช่นนี้จะทำให้ประโยชน์ของน้ำชลประทานมีคุณค่าแก่ประชาชนมากขึ้น และทำให้เขตพื้นที่ชลประทานขยายเพิ่มขึ้นกว่าการใช้น้ำชลประทานแบบดั้งเดิม ตั้งแต่ 3-6 เท่า จึงเป็นการขยายความชุ่มชื้น ความสุขและความสมบูรณ์พูลสุขให้แก่ประชาชนเพิ่มมากขึ้นและเป็นการก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกรและสังคมในเขตชลประทานและในเขตชนบทมากขึ้นกว่าเดิมการผลิตเป็นการผลิตให้พึ่งพาตนเองได้ ด้วยวิธีง่าย ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลัง ให้พอมีพอกิน ไม่อดอยาก โดยมีแนวทางสำคัญ ประกอบด้วย
1.ให้เกษตรกรมีความพอเพียง โดยเลี้ยงตัวเองได้ (Self Sufficiency) ในระดับชีวิตที่ประหยัดก่อน
2.ทั้งนี้ ต้องมีความสามัคคีในท้องถิ่น
3.มีการผลิตข้าวบริโภคพอเพียงประจำปีโดยถือว่าครอบครัวหนึ่ง ทำนา 5 ไร่ จะมีข้าวพอกินตลอดปี ข้อนี้เป็นหลักสำคัญของทฤษฎีนี้ "หากชาวนาต้องซื้อข้าวกิน ก็หมดสิ้นความเป็นเกษตรกรไทย"
4.ต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่แต่ละแปลง (15 ไร่) ทำนา 5 ไร่ ทำพืชไร่หรือไม้ผล ฯลฯ 5 ไร่ (= 10 ไร่) จะต้องมีน้ำ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
โดยสูตรคร่าวๆ แต่ละแปลงประกอบด้วย
1.  นา 5 ไร่
2.  พืชไร่ และสวน ฯลฯ (เช่นไม้สร้างบ้าน สมุนไพร ไม้ใช้สอย ไม้ไผ่ ไม้ผล เป็นต้น) 5 ไร่
3.  สระน้ำ 3 ไร่ลึก 4 เมตรความจุประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร (19,200) ปล่อยปลาในสระน้ำ
4.  ที่อยู่อาศัยและอื่นๆ (โรงเห็ด เล้าสัตว์เลี้ยง แปลงไม้ดอก ฯลฯ) 2 ไร่
รวมประมาณ 15 ไร่ ถ้ามีที่ดินน้อยกว่านี้ เช่น 10 ไร่ ก็แบ่งตามสัดส่วนโดยประมาณ แต่ที่สำคัญต้องทำข้าวให้พอกินทั้งปี
7.2  ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง
เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของคนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สองคือ ให้เกษตรกรรวมพลังในรูป กลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในด้าน
                1. ผลผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ) - เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ ขั้นเตรียมดินการหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การจัดหาน้ำ และอื่นๆ เพื่อกาเพาะปลูก
                2. การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต) - เมื่อมีผลผลิตแล้วจะต้องเตรียมการต่างๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดีและลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
                                3. การเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) -ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่างๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
                                4. สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้) - แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิภาพและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้หรือมีกองทุนไว้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
                                5. การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา) - ชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง
                                6. สังคมและศาสนา - ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ
7.3  ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม
เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคารหรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและผ่ายธนาคาร หรือบริษัทเอกชน จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
1.  เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
2.  ธนาคาร หรือบริษัทเอกชนสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
3.  เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก
(เป็นร้านสหกรณ์ ราคาขายส่ง)
4.  ธนาคาร หรือบริษัทเอกชน จะสามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น 

8.  ประโยชน์และความสำคัญของเกษตรทฤษฎีใหม่
"เกษตรทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหนึ่งซึ่งเป็นความหวังที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยรวมมีความเข้มแข็งและมั่นคงตลอดไปเนื่อง จากการเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นการพัฒนาการประกอบอาชีพของเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  เมื่อเกษตรกรมีอาหารไว้บริโภค มีงานทำมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และครอบครัวอยู่อย่างอบอุ่นและมีความสุข  ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีสภาพเช่นนี้แล้ว  ก็จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงทั้งระบบ  ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง  เกษตรทฤษฎีใหม่  จึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อประเทศชาติยิ่ง  ความสำคัญของเกษตรทฤษฎีใหม่  สรุปได้ดังนี้
1. เกษตรทฤษฎีใหม่สามารถลดและแก้ปัญหาภัยแล้งได้                                                                      
                                เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า  พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ของประเทศไทย คือ กว่าร้อยละ 70 อยู่นอกเขตชลประทานซึ่งเป็นเขตการเกษตรที่อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียวหรือถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประเทศ ไทยมีระบบชลประทานทั้งประเทศประมาณร้อยละ21 ของพื้นที่การเกษตรเท่านั้นหลักการของเกษตรทฤษฎี ใหม่ก็คือ  การขุดสระน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในช่วงที่มีฝนตกสำหรับเก็บไว้ใช้ในการเกษตรยามขาดแคลน  ซึ่งจะทำให้เกษตรกร  โดยเฉพาะเกษตรกรในเขตน้ำฝนของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีน้ำไว้ใช้ในยามที่ขาดแคลน  นับว่าเกษตรทฤษฎีใหม่นี้สามารถแก้ปัญหาหรือลดปัญหาความแห้งแล้งที่เกษตรกรประสบอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบันได้ในระดับหนึ่ง
2. เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้การใช้พื้นที่การเกษตรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
                               จากหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีการจัดสรรพื้นที่ปลูกพืชอย่างเหมาะสม  เช่น แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว และปลูกพืชชนิดอื่นๆ  ได้แก่ พืชไร่  ไม้ผล  พืชผัก  สมุนไพร  และไม้ใช้สอย  รวมทั้งมีการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย  และในบริเวณที่อยู่อาศัยนี้เอง  สามารถใช้เป็นที่ปลูกผักสวนครัว  เพาะเห็ด  และเลี้ยงสัตว์ไว้บริโภค  การจัดสรรพื้นที่แบบนี้จะทำให้พื้นที่ทุกส่วนได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่  สามารถใช้พื้นที่ได้ตลอดทั้งปี  ผิดกับเมื่อก่อนที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักจะปลูกพืชชนิดเดียว  พื้นที่ก็ไม่ได้นำมาใช้เต็มที่  มีการใช้เฉพาะที่หรือบางฤดูกาลเท่านั้น
3.  เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้เกษตรกรมีอาหารไว้บริโภคอย่างเพียงพอ
                                            การแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ  อันได้แก่  ส่วนแรกประมาณร้อยละ 30 สำหรับขุดสระน้ำ  สามารถใช้เลี้ยงปลาไว้บริโภคในครัวเรือนได้     ส่วนที่ 2 ประมาณร้อยละ 30 ใช้สำหรับปลูกข้าว จะทำให้เกษตรกรมีข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักไว้บริโภคภายในครัวเรือนอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี   ส่วนที่ 3 ประมาณร้อยละ 30 ใช้สำหรับปลูกพืชชนิดอื่นๆ  เช่น พืชไร่  ไม้ผล  พืชผัก  ผลิตผลจากพืชเหล่านี้ก็สามารถนำมาบริโภคได้เช่นกัน  นอกจากนี้ บริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัยก็สามารถใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ เพาะเห็ด  สำหรับใช้เป็นอาหารบริโภคภายในครัวเรือนจึงถือได้ว่าเกษตรทฤษฎีใหม่นี้สามารถทำให้เกษตรกรมีอาหารไว้บริโภคอย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
4.  เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
                           เนื่องจากเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นระบบการเกษตรที่จัดให้มีแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร  มีการจัดสรรพื้นที่สำหรับปลูกพืชหลายชนิดอย่างเหมาะสมและหมุนเวียนปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี เป็นการใช้ประ โยชน์จากพื้นที่อย่างคุ้มค่า และมีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปีโดยรวมแล้วจึงทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกพืชชนิดเดียวหรือมีเพียงครั้งเดียวในหนึ่งปีจึงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ
5.  เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้เกษตรกรมีงานทำตลอดทั้งปี
                                โดยปกติแล้วเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานนั้น จะประกอบอาชีพหรือปลูกพืชเพียงปีละครั้ง  มีช่วงระยะเวลาการทำงานในแต่ละปีประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น เวลาที่เหลือก็เป็นการว่างงานตามฤดูกาล บางรายก็ต้องเดินทางไปทำงานที่อื่นแต่เมื่อเกษตรกรเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่แล้ว ทำให้มีงานทำตลอดทั้งปี ไม่ต้องไปหางานทำที่อื่น นับว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ช่วยแก้ปัญหาการว่างงานในท้องถิ่นที่เป็นการว่างงานตามฤดูกาลได้เป็นอย่างดีนอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานของประชากรในระดับชุมชนและระดับประเทศได้ เพราะถ้าหากเกษตรการมีงานทำมีรายได้ในท้องถิ่นของตนเองแล้วก็ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปทำงานที่อื่น
6.  เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้ปัญหาสังคมลดลง
                                จากที่กล่าวมา นับว่าเกษตรทฤษฎีใหม่สามารถทำให้เกษตรมีอาหารไว้บริโภค  มีงานทำ  มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพเกษตรกรก็ไม่ต้องไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมหรือบริการตามเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ๆ ของประเทศ  เพราะการที่เกษตรกรต้องอพยพไปอาศัยอยู่ตามเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่นั้นก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องที่อยู่อาศัยและชุมชนแออัด นอกจากนี้  ยังเกิดปัญหาในด้านครอบครัวของเกษตรกรเองเพราะเมื่อเกษตรกรออกไปทำงานที่อื่นทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวตาม มามากมาย เช่น บุตรหลานไม่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากบิดามารดาขาดการศึกษาติดยาเสพติด ซึ่งล้วนแต่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ  แต่เมื่อเกษตรกรทำการเกษตรทฤษฎีใหม่  จะทำให้เกษตรกรมีงานทำอยู่กับบ้าน  มีเวลาอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน  ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะลดน้อยลง
7.  เกษตรทฤษฎีใหม่สามารถลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศได้
                                ลักษณะของเกษตรทฤษฎีใหม่นั้น จะเน้นการใช้แรงงานภายในครอบครัวถ้าเกษตรกรมีสมาชิกภาย ในครอบครัว 5-6 คน ก็จะสามารถมีแรงงานเพียงพอสำหรับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ได้การดำเนินงานก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องจักรและอุปกรณ์จากภายนอกหรือจากต่างประเทศมากนัก อีกประ การหนึ่งแนวทางของเกษตรทฤษฎีใหม่ มักจะเน้นการใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักในการปลูกพืช และการใช้สารสกัดจากธรรมชาติหรือสมุนไพร ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช
8.  เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมั่นคงยิ่งขึ้น
                                ดังคำที่กล่าวกันมาตั้งแต่อดีตว่า  "ชาวนา คือ กระดูกสันหลังของชาติ"  เกษตรทฤษฎีใหม่จะทำให้เกษตรกรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติมีความมั่นคง เนื่องจากมีงานทำ  มีอาหารบริโภค  มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ  จึงทำให้เกษตรกรมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอยตามอัตภาพ ดังนั้นเมื่อเกษตรกรซึ่งเป็นฐานของประเทศมีความมั่นคง   ก็จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงระบบเศรษฐกิจของประเทศส่วนรวมก็จะมั่นคงตามมาด้วย และถ้าหากเกษตรกรไทยปฏิบัติหรือทำเกษตรทฤษฎีใหม่และยึดหลักการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมาเป็นเวลานานแล้วประเทศชาติก็คงไม่ต้องประสบภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบัน
9.  เกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
                                เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นทฤษฎีที่สามารถนำ ไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม  เมื่อนำทฤษฎีนี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง  รวมทั้งยึดหลักการพัฒนาประเทศตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเคร่งครัด  ก็จะเป็นที่มั่นใจได้ว่าประชากรจะมีแต่ความสมบูรณ์พูนสุขไม่มีปัญหาการว่างงานและขาดแคลนอาหารบริโภค  ปัญหาต่าง ๆ ของสังคมก็จะลดน้อยลง  ประเทศชาติก็จะมั่นคงแข็งแรง ลดการพึ่งพาจากภายนอกหรือต่างประเทศ ดังนั้นการพัฒนาการประกอบอาชีพการเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นี้จะเป็นการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนตลอดไป

9.  เกษตรยั่งยืนและระบบเกษตรธรรมชาติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นความสำคัญในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาในลักษณะที่จะมุ่งใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ซึ่งจะมีความสอดคล้องกับวิธีการที่สำคัญของพระองค์อีกประการหนึ่งคือ การประหยัด ทรงเน้นความจำเป็นที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำมาหากินของเกษตรกรลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติเป็นปัจจัยสำคัญ วิธีการของพระองค์มีตั้งแต่การสนับสนุนให้เกษตรกรใช้โคกระบือในการทำนามากกว่าการใช้เครื่องจักร ให้มีการปลูกพืชหมุนเวียน โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ยหรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยก็ทรงสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยธรรมชาติแทนปุ๋ยเคมี ซึ่งมีราคาแพงรวม ทั้งให้หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพของดินในระยะยาวทำให้ราษฎรอยู่ในชุมชนและสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของ
                                ระบบเกษตรยั่งยืนควรมีลักษณะการจัดการทรัพยากรการผลิตทางการเกษตรที่เลียนแบบระบบนิเวศของป่าธรรมชาติ คือมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีกลไกควบคุมตัวเอง มีการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกน้อยที่สุดตามความจำเป็น สำหรับการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชพยายามลดการใช้สารเคมี โดยการใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน กล่าวคือควรให้ความสำคัญกับระบบการปลูกพืชที่เกื้อกูลกันเพื่อสร้างความสมดุลตามธรรมชาติในระบบการเกษตร
                                ในปัจจุบันนี้นั้น มีการทดลองวิธีการเกษตรยั่งยืนในพื้นที่ศูนย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ เป็นต้น มีกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นไปตามแนวพระราชดำริและสอดคล้องกับหลักการของเกษตรยั่งยืน ที่สำคัญได้แก่ ระบบการปลูกพืชหมุนเวียน ระบบการเกษตรแบบผสมผสาน ระบบวนเกษตร และระบบเกษตรธรรมชาติ 
10.  ตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรทฤษฎีใหม่ของเกษตรกร
10.1  โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแดนสามัคคี อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์
ประวัติความเป็นมา
                                เมื่อวันที่  25  พฤศจิกายน  2535   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เสด็จที่อำเภอเขาวงจังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อสำรวจแหล่งที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำ  สำหรับแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกแก่ราษฎร โอกาสนั้นพระองค์ได้มีพระราชปฏิฐานกับราษฎรในละแวกนั้น และทรงทอดพระเนตรผลผลิตข้าวของราษฎรซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวพระองค์พบว่าข้าวของราษฎรมีลักษณะเป็นเมล็ดลีบเกือบทั้งหมดมีเมล็ดดีเพียง   2 - 3 เมล็ดต่อรวงหากคิดเป็นปริมาณต่อไร่ก็ประมาณ 1 - 2 ถัง   สาเหตุเนื่องมาจากฝนตกไม่สม่ำเสมอหรือฝนทิ้งช่วงระยะข้าวกำเนิดช่อดอก พระองค์จึงทรงคิดหาทางช่วยเหลือราษฎร  โดยรับสั่งให้จัดซื้อที่ดินในบริเวณนั้น(บริเวณบ้านกุดตอแก่น) ประมาณ 10 ไร่ เพื่อทำโครงการที่เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้านและนำไปปฏิบัติในพื้นที่ของตนเอง  ต่อมาได้มีราษฎรจำนวน 2 ราย  จะขอน้อมเกล้าถวายที่ดินรายละ 5 ไร่ รวมเป็น 10 ไร่ เพื่อทำโครงการตามพระราชดำริ   และต่อมาอีกไม่นานก็มีราษฎรอีก  จำนวน 3 ราย  น้อมเกล้าถวายที่ดินรายละ 1 ไร่ เศษ  รวมพื้นที่ทั้งหมดเป็น 13 ไร่  3  งาน  กรมชลประทานได้พิจารณาจัดสร้างแหล่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกโดยดำเนินการขุดสระเก็บน้ำตามทฤษฎีใหม่ เหมือนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ ดำเนินการที่  โครงการพัฒนาวัดมงคลชัยพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เพื่อเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นว่าแม้มีพื้นที่ถือครองขนาดเล็ก  และมีสภาพแห้งแล้งก็สามารถจะพัฒนานำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อมาเมื่อกรมชลประทานขุดสระเก็บน้ำ (ประมาณเดือนกันยายน2536) คณะทำงานงานศึกษาและพัฒนาเกษตร กรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ จังหวัดสกลนคร  ก็ได้เข้าวางรูปแบบและดำเนินการในลักษณะทฤษฎีใหม่  เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ราษฎร  จนกระทั้งปัจจุบัน
ที่ตั้งโครงการและสภาพพื้นที่
                                โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้านบ้านแดนสามัคคีอำเภอเขาวงจังหวัดกาฬสินธุ์   อยู่ติดกับถนนเชื่อมระหว่างบ้านแดนสามัคคี และหมู่บ้านดอนไม้คุ้ม  ห่างจากหมู่บ้านแดนสามัคคี ประมาณ 2 กิโลเมตร บริเวณโครงการมีพื้นที่ทั้งหมด 13 ไร่ 3 งานสภาพพื้นที่เป็นท้องทุ่งลักษณะลาดเอียงเล็กน้อยดินในพื้นที่เป็นดินชุดร้อยเอ็ดมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำจากผลการวิเคราะห์ดิน  โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 พบว่าดินมีสภาพเป็นกรด มีค่า PH 5.1 มีอินทรีย์วัตถุต่ำมากคือ 0.52 %  ธาตุอาหารฟอสฟอรัสน้อยคือ 8.8 ppm  และธาตุอาหารโปแตสเซี่ยม  52.2  ppm
หน่วยงานรับผิดชอบ
                                สำนักงาน กปร.  งานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรม   ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ  จังหวัดสกลนคร และหน่วยงานราชการอื่น ๆ

การดำเนินการ
                                กรมชลประทานได้ดำเนินการขุดสระเก็บน้ำ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2536 สระมีขนาด 50x98 ตารางเมตร มีความลึก 4 เมตร ซึ่งสามารถบรรจุน้ำได้ประมาณ 12,000 ลูกบาศ์กเมตร น้ำในสระได้มาจากน้ำจากฝนเพียงแห่งเดียวคณะทำงานจากงานศึกษาและพัฒนาเกษตรกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ได้เข้ามาดำเนินงานหลังจากขุดสระเก็บน้ำเสร็จ โดยแบ่งพื้นที่ 13 ไร่ 3 งาน เป็น 4 ส่วน ดังนี้
1 . สระน้ำ มีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ใช้เป็นแหล่งน้ำในการเกษตร, อุปโภค และเลี้ยงปลา
2 . นา มีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ ใช้ปลูกข้าวและพืชไร่หลังนา
3 . พื้นที่ปลูกไม้ผล , พืชไร่ และพืชผัก ประมาณ 6 ไร่
                4 . พื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย , ถนน และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ประมาณ 1 ไร่ 3 งานการดำเนินการจะเป็นในรูปแบบเกษตรกรรมผสมผสานมีการปลูกพืชร่วมกัน , เลี้ยงหมูร่วมกับการเลี้ยงปลา โดยเน้นการใช้ปัจจัยจากพื้นที่
ผลการดำเนินงาน
                                1. งานข้าว ศึกษาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปลูกข้าวนาน้ำฝน ฤดูฝนปี 2538 ใช้พันธุ์ข้าว 3 พันธุ์ ปลูกโดยวิธีหว่านและ ปักดำ ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร (16-16-8) รองพื้น อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ และแต่งหน้าด้วยปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 10 กก./ไร่ ในระยะข้าว กำเนิดช่อดอก พื้นที่ปลูก รวม 2 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา ได้ผลผลิตรวม 1,148.5 กิโลกรัม หรือ 470 กิโลกรัม/ไร่ ถ้าจำหน่าย ข้าวเปลือกในราคากิโลกรัมละ 4.50 บาท จะมีมูลค่ารวม 5,168.25 บาท/ไร่
                                2. การปลูกพืชไร่หลังนา  ศึกษาความเป็นไปได้การปลูกพืชไร่ฝักสดหลังนา ในสภาพพื้นที่เกษตรใช้น้ำฝน บ้าน แดนสามัคคี อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรจะปลูกข้าวเป็นพืชหลัก ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ส่วนใหญ่จะปลูกพันธุ์ กข 6 ข้าวเหนียวสันป่าตอง และข้าวจ้าวหอมมะลิ 105 เพียงเล็กน้อย และ จะเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับทฤษฎีใหม่นั้น จะมีการขุดสระเก็บน้ำในเนื้อที่ 30 % ของพื้นที่ เพื่อใช้ในการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ในระหว่างการเพาะปลูกข้าว นอกจากนี้น้ำที่เหลือใช้ ได้กลับมาพัฒนาการปลูกไม้ผล พืชผัก และพืชไร่ในฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าว ดังนั้นจึงได้ศึกษาความเป็นไปได้การปลูกพืชไร่ฝักสด ได้แก่ ข้าวโพดหวานพิเศษ ฮาวาย-เฮี้ยน ถั่วพุ่มพันธุ์ KVC 7 และถั่วลิสง พันธุ์ไทนาน-9 ในสภาพนาไม่มีการเตรียมดิน โดยขุดหลุมปลูกข้าวตอซัง โดยปลูกช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม 2538ผลของการศึกษาพบว่าข้าวโพดหวานพิเศษ ให้ความสูงเฉลี่ย 153 เซนติเมตร ให้การติดฝัก1 ฝักต่อต้น % การติดฝักดี 85% มี % ฝักเสีย เนื่องจากการหักล้มและถูกหนูทำลาย 15 % ฝักอยู่ในเกณฑ์ปานกลางและขนาดใหญ่ มีความยาวฝัก 26 เซนติเมตร ให้ ผลผลิตฝักที่อยู่ในเกณฑ์ปานกลางและขนาดใหญ่ มีความยาวฝัก 26 เซนติเมตร ให้ผลผลิตฝักสดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลาด 7,200 ฝัก/ไร่ ถั่วพุ่มฝักสดพันธุ์ KVC 7 ให้ความสูงถึงทรงพุ่ม 66 เซนติเมตร จำนวน 12 ฝัก/ต้น ฝักดี 100 % ไม่พบโรคราที่ฝักที่มีหนอน เจาะฝักเพียงเล็กน้อย ความยาวฝัก 22 เซนติเมตร ให้ผลผลิตฝักสด 858 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับถั่วลิสงฝักสดให้ความสูง 29 เซนติเมตร จำนวน 16 ฝักต่อต้น มีฝักเต็ม 66% และพบว่ามีฝักเสียเนื่องจากฝักอ่อนและเสี้ยนดิน 34 % ให้ผลผลิตฝักสด 240 กิโลกรัม ในลักษณะของเกษตรกรที่ปฏิบัติไร่นาส่วนใหญ่จะใช้แรงงานในครัวเรือน แต่เมล็ดพันธุ์จะซื้อจากทางราชการ หรือร้านค้า เมื่อวิเคราะห์ผลการกำไรขาดทุน พบว่าการปลูกข้าวโพดฝักสดจะให้กำไรสุทธิสูงสุด 7,040 บาท และมีการปฏิบัติและการดูแลรักษาน้อย กว่าถั่วพุ่ม สำหรับถั่วลิสง จะให้รายได้สุทธิต่ำสุด เมื่อสำรวจความชอบของเกษตรกร เกษตรกรยอมรับการปลูกข้าวโพดฝักสด ถั่ว ลิสงฝักสดมากกว่าการปลูกถั่วพุ่ม เพราะตลาดของถั่วพุ่มแคบ และถั่วพุ่มมีปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลงมากกว่า มีการดูแลรักษาและพ่น สารเคมีมากกว่า เมื่อคำนึงถึงการผลิตแล้วถั่วลิสง จะมีการใช้แรงงานมากกว่าข้าวโพดฝักสด และถั่วพุ่มฝักสดในช่วงเก็บเกี่ยว เพราะว่า ถั่วลิสง จะต้องถอน ปิดฝักและทำความสะอาด ถ้าขายรูปเมล็ดแห้งก็ต้องตากแดด ดังนั้นถั่วพุ่มอาจจะเป็นทางเลือกใหม่เพื่อ ทดแทนถั่วลิสง เมื่อขาดแรงงานในครอบครัวและถ้าตลาดถั่วพุ่มกว้างมากกว่านี้
                                3. งานพืชสวน บริเวณที่ดอน พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ปฏิบัติดูแลรักษา,ใส่ปุ๋ย,พรวนดิน,คลุมโคลน,รดน้ำ, ปลูกซ่อมและตอนกิ่งไม้ผล และพืชรวมต่าง ๆ ดังนี้
3.1 ไม้ผลหลักได้แก่ ขนุน มะพร้าว กระท้อน มะขาม ละมุด มะกอกน้ำ มะม่วง ไผ่ตง
3.2 ไม้ผลรอง (ปลูกร่วมไม้ผลหลัก) ได้แก่ มะนาว น้อยหน่า ส้มโอ ฝรั่ง
3.3 พืชพื้นเมืองและไม้ดอกไม้ประดับ
3.3.1 งานดูแลรักษา ได้แก่ ชะอมหวาน แค ตะไคร้ มะลิ บานไม่รู้โรย และหวาย
3.3.2 ปลูกเพิ่มในปี 2539 ได้แก่ นุ่น สะเดา ขี้เหล็ก มะขามป้อม มะเขือพวง ข่า กระชาย และถั่วพุ่ม
                3.4 พืชสวน พืชผักอายุสั้นที่ปลูก เช่น มะเขือเทศ ผลสดพันธุ์สีดาทิพย์ โดยปลูกแซมแปลงมะม่วง (ระหว่างแถว) พื้นที่ 650 ตารางเมตร ปลูกช่วงระยะเดือน มิถุนายน 2539 - สิงหาคม 2539 ได้ผลผลิตรวม 261 กก. (642.4กก./ไร่) มีรายได้ทั้งหมด 2,695 บาท/พื้นที่ปลูก กำไรสุทธิ 2,195 บาท/พื้นที่ 5,403 บาท/ไร่ หมายเหตุ : จำหน่ายมะเขือเทศผลสด ในราคากิโลกรัมละ 10-15 บาท
                                4. งานปศุสัตว์ เลี้ยงสุกรพันธุ์เหมยซาน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่ายและให้ลูกดก จำนวน 3 ตัว(เป็นแม่พันธุ์) โดยสร้างคอกบน สระเก็บน้ำขนาด 2X4 วัตถุประสงค์ : เพื่อขยายพันธุ์ และใช้ข้อมูลเป็นอาหารปลา/ปรับปรุงคุณภาพน้ำช่วงระยะ ตค.38 - กย.39 เลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ พันธุ์เหมยซาน จำนวน 2 ตัว ให้อาหารโดยใช้ รำ,เศษผักที่มีในพื้นที่ เช่น ผักบุ้ง,มันสำปะหลัง และเศษอาหาร ปรากฏว่า มีมูลค่า ทั้งหมด 6,300 บาท มีต้นทุนผันแปร 2,735 บาท ดังนั้นกิจกรรมการเลี้ยงสุกร จะได้ผลตอบแทนทั้งสิ้น 3,565 บาท/ปี
                                5. สระเก็บกักน้ำ พื้นที่ 3 ไร่ มีความลึก 4 เมตร สามารถจุน้ำได้ประมาณ 10,000 - 12,000 ลูกบาศก์เมตร รับน้ำฝนเพียง อย่างเดียว ใช้น้ำจากสระกับกิจกรรมทางการเกษตรในบริเวณพื้นที่โครงการ โดยใช้กับข้าวในระยะทิ้งช่วง ส่วนฤดูแล้งใช้กับไม้ผล พืชผัก และพืชไร่หลังนา ผลการใช้น้ำจากสระในรอบ 3 ปี ปรากฏว่าน้ำที่เก็บกัก ไว้ในสระ ในรอบ 1 ปี มีความเพียงพอ ในการนำ ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการ ซึ่งทั้งนี้การจัดสรรกิจกรรมต้องเป็นไปอย่างละเอียด ประณีต เช่น การปลูกพืชควรเน้นปลูกพืชที่มี ความต้องการน้ำในปริมาณน้อย และใช้น้ำไม่ฟุ่มเฟือย เป็นต้น จากการตรวจวัดระดับน้ำในช่วงแล้งที่สุด (เดือนเมษายน) ระดับน้ำวัด ได้จากก้นสระถึงระดับผิวน้ำ ความลึกของน้ำในสระอยู่ระหว่าง 1.50-1.75 เมตร แสดงว่าน้ำที่เก็บกักไว้ในสระจะเหลือใช้ประโยชน์ (เมื่อถึงฤดูฝนในปีถัดไป) ประมาณ 4,000-5,000 ลูกบาศก์เมตรสระน้ำนอกจากจะเก็บกักน้ำไว้ใช้แล้วยังสามารถปล่อยปลาได้อีก ปลาที่ปล่อย ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลานวลจันทร์ เทศจำนวนปลาที่ปล่อยประมาณ 20,000 ตัวต่อบ่อ โดยปล่อยตั้งแต่ระยะขุดสระเสร็จ (ประมาณเดือนสิงหาคม 2536) ให้อาหาร โดยทำ ปุ๋ยคอกหมักที่มุมบ่อ ขนาด 1.50 - 1.50 เมตร จำนวน 2 คอก และมูลสุกร ขณะนี้ยังไม่ได้เก็บผลผลิต เนื่องจากสระมีความลึกมาก จับปลาลำบาก คาดว่าจะเก็บผลผลิตจำหน่ายช่วงระยะฤดูแล้งปี 2540
สรุป
                                ในโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนบ้านแดนสามัคคี   อำเภอ เขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ดำเนินมาเป็น เวลา 3  ปีได้พิสูจน์พระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฏีใหม่ว่า มีความเหมาะสมสำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำในการเกษตร ข้าวที่ปลูกไม่ประสบปัญหาขาดน้ำตลอดฤดูปลูกเพราะสามารถรับน้ำจากสระได้ส่ง ผลให้ข้าวเพิ่มผล ผลิตจากเดิมประมาณ 70% ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรสามารถปลูกข้าวในพื้นที่จำกัดแต่ได้ผลผลิตเพียงพอสำหรับ บริโภคตลอดปีน้ำที่เหลือจากการปลูกข้าวก็สามารถนำไปใช้ในการปลูกพืชไร่หลังนาและไม้ผล  ได้พืชไร่มารับประทานฝักสดเป็นพืชที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ เนื่องจากเกษตรกรสามารถใช้บริโภคและขายได้ในตลาดท้องถิ่น  โดยเฉพาะข้าวโพดฝักสดให้รายได้สุทธิสูงเหมาะสม   ส่วนสุกรพันธุ์เหมยซานเป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย    โดยใช้อาหารในพื้นที่  ของเสียจากสุกรสามารถเป็นแหล่งอาหารของปลาที่เลี้ยงในสระอีกด้วย  ส่วนไม้ผลที่ปลูกในพื้นที่คาดว่าเป็นรายได้แหล่งใหญ่ในอนาคตของเกษตรกร    และเกษตรกรสามารถใช้ผลิตผลจากพื้น ที่เป็นปัจจัยในการดำรงชีพและเพิ่มรายได้  โดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งอื่น
 10.2  ไร่นาสวนผสมรุ่งพิทักษ์
ไร่นาสวนผสมรุ่งพิทักษ์เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริพระเจ้าอยู่หัว เป็นการทำการเกษตรกรรมแบบยั่งยืนและดำรงชีวิต โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ประวัติและที่มาของไร่นาสวนผสมรุ่งพิทักษ์
                                คุณพ่อทวี และ คุณแม่ สมหมาย เสนาพรมคือผู้ริเริ่มทำไร่นาสวนผสมรุ่งพิทักษ์ โดยใช้ชื่อ บุตรสาว ชื่อรุ่งทิวา และบุตรชาย ชื่อพิทักษ์ รวมกันมาตั้งเป็นชื่อไร่นาสวนผสมแห่งนี้จากอดีตท่านได้ทำการเกษตรเพียงแค่ปลูกข้าวปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ช่วงแรกก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่นัก เพราะขาดความรู้และประสบการณ์จึงได้เริ่มศึกษาจากการอ่านหนังสือและการได้ออกไปศึกษาดูงานจริงตามโครงการต่างๆ จึงได้นำความรู้นั้นมาวางแผนประยุกต์และทดลองใช้จนประสบความสำเร็จในที่สุด”  คำกล่าวของ คุณพ่อทวี เสนาพรม และทุกวันนี้ที่ไร่นาสวนผสม รุ่งพิทักษ์เป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้การเกษตรอินทรีย์และได้รับรางวัลชนะเลิศของจังหวัดยโสธร สาขาไร่นาสวนผสม รวมทั้งประกาศนียบัตรและรางวัล อื่นๆอีกมากมาย ไร่นาสวนผสมรุ่งพิทักษ์ มีทั้งหมด 17 ไร่ โดยมีการแบ่งพื้นที่ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ด้วยสัดส่วน 30:30:30:10 ขุดบ่อเลี้ยงปลา และสำหรับกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร 5.1 ไร่ สำหรับเลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสลิด และ ปลาชนิดอื่นๆ รวมทั้งกบ นอกจากนี้ยังแบ่งพื้นที่ 5.1 ไร่ ปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งหมดมีหลากหลายสายพันธุ์ ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 5.1 ไร่ ก็ปลูกพืชผักผลไม้ อาทิเช่น แก้วมังกร มะนาว ขนุน มะพร้าวน้ำหอมกล้วยและผลไม้ต่างๆพืชสมุนไพรรวมทั้งพืชผักสวนครัวทุกชนิดและ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 1.7 ไร่ สำหรับปุ๋ยที่ใช้ในการบำรุงพืชผักและผลไม้ คุณพ่อทวี ได้หมักด้วยตัวเอง ทั้ง ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตและปลอดภัยจากสารพิษ
เกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานที่ไร่นาสวนผสมรุ่งพิทักษ์
                                ประเพณีและวัฒนธรรมบรรยากาศยามเช้าที่เย็นสบาย กับทุ่งนาสีเขียวแหล่งท่องเที่ยวขจีของต้นไม้ใบหญ้า ณ สวนแห่งนี้ปลอดภัยจากสารเคมี   เพราะที่นี่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ คือไม่ใช้สารเคมีขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงใช้วัสดุธรรมชาติที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดพิษภัยที่จะเกิดจากสารเคมีซึ่ง  โครงการคิดอย่างยั่งยืน     ที่สวนนี้จะคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและรักษาเกษตรพอเพียงสมดุลของธรรมชาติ 
10.3 ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดนราธิวาสทฤษฎีใหม่ พื้นที่ 23 ไร่
ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดนราธิวาส ได้นำแนวพระราช ดำริทฤษฎีใหม่ซึ่งกำหนดการจัดแบ่งพื้นที่ 10-30-30-30 10% สร้างบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวก 30% ขุดสระ 30% ปลูกข้าว 30% ปลูกพืชไร่พืชสวน มาศึกษา และปรับสัดส่วนให้เหมาะสมกับสภาพภูมิ ประเทศในภาคใต้โดยลดพื้นที่แหล่งน้ำลงเหลือ 20% ของพื้นที่ เนื่องจากภาคใต้มีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยสูงกว่าภาคอื่น ๆ และเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชไร่พืชส่วนเป็น 40% ของพื้นที่ เพราะว่าเกษตรกรภาคใต้มีความรู้พื้นฐานทางด้านการทำสวนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วซึ่งจะได้สูตรการจัดแบ่งพื้นที่ 10-20-30-40 แล้วจัดรูปแบบ การเกษตรแบบผสมผสานในลักษณะของเกษตรกรครอบครัวหนึ่งมีอยู่ 5 คน ที่ทำกิน 23 ไร่ ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด
สัดส่วนการดำเนินการ
1.ที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวก 2.25 ไร่ (10% ของพื้นที่) ใช้สร้างที่พักอาศัย โรงเก็บเครื่องมือเกษตร คอกไก่เป็ด เรือนเพาะชำ โรงเพาะเห็ดและถนนหางเพื่ออำนวยความสะดวกภายในพื้นที่
2.พื้นที่แหล่งน้ำ พื้นที่ 4.5 ไร่ (30% ของพื้นที่) แหล่งเก็บน้ำในโครงการมี 2 แหล่งคือ
2.1   สระน้ำจุน้ำได้ 5,000 ลบ.ม.
2.2   คูน้ำ กักเก็บน้ำได้ 7,000 ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่กักเก็บได้ภายในโครงการทั้งสิ้น 12,000 ลบ.ม.
3.นาข้าว พื้นที่ 7 ไร่ (30% ของพื้นที่)  แบ่งแปลงปลูกข้าวออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกปลูกข้าวอย่างเดียว และส่วนที่ 2 ทดสอบการเลี้ยงปลาในนาข้าว ส่วนคันดินรอบแปลงนาได้ปรับปรุงดินปลูกชมพู่ เป็นพืชหลักแซมด้วยกล้วยและมะละกอ
4.พืชไร่ พืชสวน พื้นที่ 9.25 ไร่ (30% ของพื้นที่)
4.1 แปลงพืชไร่ พื้นที่ 2 ไร่ ขุดยกร่องปรับปรุงดินแล้วดำเนินการปลูกพืชไร่ชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวโพดหวาน และถั่วเขียวหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี
                                4.1.1  สวนผัก พื้นที่ 0.75 ไร่ ขุดยกร่องจากนั้นใส่หินปูนฝุ่นเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดของดินและ ใส่ปุ๋ยคอกเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินแล้วปลูกผักชนิดต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับฤดูกาล
                                4.1.2  พืชส่วน พื้นที่ 6.25 ไร่ ได้ดำเนินการขุดยกร่องแล้วใส่หินปูนฝุ่นเพื่อปรับสภาพความเป็นกรด ของดินอัตราส่วน 2 ตัน/ไร่ ปลูกขนุน กระท้อน ชมพู่ ทุเรียน มะม่วง ละมุด และเงาะ เป็นพืชหลัก แซมด้วย กล้วย สับปะรด และหมาก
                                4.1.3  ไม้ดอก พื้นที่ 0.25 ไร่ ขุดยกร่องใส่หินปูนฝุ่นและปุ๋ยคอกเพื่อปรับปรุงบำรุงดินและปลูกมะลิ
การให้น้ำกับพืช
1.  พื้นที่ทั้งหมด 23 ไร่
2.  พื้นที่ทำการเกษตร 16.25 ไร่
3.  ปริมาณน้ำที่เก็บได้ 12,000 ลบ.ม.
4.  พืชต้องการน้ำ 9,880 ลบ.ม./ปี (ปริมาณน้ำเพียงพอเพื่อการเพาะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี)
ผลการดำเนินการ
                             การทำการเกษตรโดยยึดหลักการจัดแบ่งพื้นที่ตามทฤษฎีใหม่ เป็นการศึกษาการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสานให้มีพืชหลายชนิด และใช้สารสกัดจาก ธรรมชาติป้องกันศัตรูพืชช่วยลดการทำลายของแมลงศัตรูพืช พบว่ามีสัตว์ที่เป็นประโยชน์มาอาศัยอยู่ในแปลงเพิ่มขึ้น การปลูกพืชเน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลักหมุนเวียนอินทรียวัตถุโดยไม่นำออกจากแปลงเพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ พืชสามารถเจริญเติบโต ได้อย่างดีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่เกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาในนาข้าว พบว่าผลผลิตข้าวที่ได้โดยเฉลี่ยสูงกว่าแปลงที่ปลูกข้าวอย่างเดียว ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และมีผลตอบแทนที่ได้จากปลาอีกด้วย เกษตรกรสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้ โดยมีข้าว ผัก พืชไร่ และผลไม้ มีอาหารโปรตีนจากปลา เป็ด ไก่ไข่ ที่เลี้ยง ไว้รับประทานเอง มีรายได้ประจำวัน จากแปลงมะลิ ส่วนผลผลิตที่เหลือสามารถจำหน่ายเพื่อเป็นรายได้ในครอบครัว ซึ่งคาดว่าผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม้ผลเริ่มให้ผลผลิตการดำเนินงานเช่นนี้เกษตรกรสามารถหมุนเวียนการใช้แรงงานในการจัดการพืชและเลี้ยงสัตว์ให้มีรายได้ตลอดทั้งปีช่วยให้เกษตรกรอาศัยอยู่ในพื้นที่ ของตนเองลดปัญหาการอพยพแรงงานเข้าสู่ตัวเมือง ผลการศึกษานี้สามารถใช้เป็นต้นแบบให้เกษตรกรนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองได้ 
10.4 บุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการใช้ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
                                นายคงเดช ใบกว้าง อายุ 23 ปี อยู่ที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ได้ลงมือทำอย่างจริงจังมาแล้ว 2 ปี เริ่มต้นด้วยที่นาที่พ่อแม่ยกให้จำนวน 15 ไร่ คงเดชดำเนินการจัดแยกพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น แหล่งน้ำ 4 ไร่ ทำนาข้าว 4 ไร่ ทำพืชสวนและพืชไร่ 4 ไร่ ปลูกที่อยู่อาศัยและโรงเรือน 3 ไร่ หลังจากแบ่งพื้นที่ชัดเจนแล้ว เขาทำการปลูกข้าว 4 ไร่ ปลูกฝรั่งพันธุ์ต่างๆ ปลูกชมพู่ มะขามเทศ กล้วย ขนุน และมะม่วง อย่างละ 1 ไร่ เลี้ยงเป็ดไข่ 80 ตัว เป็ดเทศ 50 ตัว ไก่พื้นเมือง 100 ตัว ขุดบ่อเลี้ยงปลา 10 บ่อ สองข้างทางเดินยังปลูกไม้ใหญ่และต้นอินทผลัม ซึ่งถ้ามีอายุ 5 ปี ก็จะขายได้ ต้นละประมาณ 30,000 บาท พร้อมกันนี้ก็ได้ทำการปลูกพืชผักสวนครัวทุกอย่างเอาไว้กินเอง ในขณะที่ ไม้ยืนต้นยังไม่ได้ผล เขามีรายได้จากการขายลูกปลา ขายไข่และไก่ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว เดือนหนึ่งจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท รายได้หลักที่เป็นกอบเป็นกำได้แก่เวลาที่จับปลาในบ่อขาย เคยจับขายเพียงบ่อเดียวได้เงินถึง 500,000 บาท นอกจากนั้นเขายังพัฒนาการเลี้ยงปลากรายให้มีขนาดใหญ่ สามารถขายได้กิโลกรัมละ 80 ถึง 100 บาท คงเดชกล่าวว่า การทำการเกษตรโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ แม้พื้นที่การเพาะปลูกมีขนาดเล็กแค่ 15 ไร่ ดีกว่าการปลูกข้าวอย่างเดียว 100 ไร่ เพราะสามารถมีกินมีใช้ได้ตลอดปีไม่ต้องเสี่ยงต่อการขาดทุน สำหรับพื้นที่ปลูกข้าว 4 ไร่ ก็สามารถเก็บไว้กินได้ทั้งปี หากลงมือทำแล้ว ขอให้สนใจดูแลด้วยความขยันอดทน รับรองว่าไม่มีจนและไม่พบความลำบากแน่นอน
                                นายเฉลา บดีรัฐ อายุ 41 ปี อยู่ที่ อ.บางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อดีตทำนาในพื้นที่ 10 ไร่ มีรายได้ไม่เพียงพอและการทำนาได้ผลไม่ดี เพราะมีแมลงระบาดมากและเกิดน้ำท่วมขังทุกปี เขาจึงเปลี่ยนมาทำไร่นาสวนผสมตามทฤษฎีใหม่ โครงการพระราชดำริในปี พ.ศ. 2538 เฉลา ขุดบ่อขนาดใหญ่ 3 บ่อ ไว้ใช้เป็นแหล่งน้ำตลอดปีและใช้เลี้ยงปลาหลายชนิด ยกร่อง รอบพื้นที่นาเพื่อป้องกันน้ำท่วม และใช้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกไม้ผล พื้นที่ว่างระหว่างไม้ผล เขาปลูกพืชผักแซม เช่น ชะอม พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว ข่า และแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ทำนา พื้นที่ว่างบริเวณรอบๆ บ้านพัก ใช้เลี้ยงไก่ เป็ดเทศ เป็ดไข่ และสุกร หลังทำนาเขาปลูกถั่วเหลืองและถั่วเขียวในพื้นนา ผลจากความขยันอดทนและเอาใจใส่ทำให้เขาสะสมเงินรายได้ก้อนใหญ่ จึงได้ซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 11 ไร่ สำหรับการเพาะปลูก และขุดบ่อเพิ่มขึ้น เขาใช้ปุ๋ยหมักจากการทำขึ้นเองสำหรับบำรุงพืช และใช้สารสะเดาหรือยาสมุนไพร สำหรับไล่หรือฆ่าแมลง ทุกวันนี้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้น 
10.5  กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านเจดีย์แม่ครัว
การจัดตั้งกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่  บ้านเจดีย์แม่ครัว  ม.3  ต.แม่แฝกใหม่  อ.สันทราย
จ.เชียงใหม่ เลขที่ 102 ม.3 ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ คุณลุงพรหม ใจเมคา ประธานกลุ่มเกษตรทฤษฏีใหม่ฯ ซึ่ง กลุ่มเกษตรทฤษฏีใหม่ฯ เริ่มจัดตั้งเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 เริ่มต้น มีจำนวนสมาชิก 15 ราย  การจัดตั้งกลุ่มโดยใช้กิจกรรมออมทรัพย์ (กลุ่มสัจจะ) ทุกวันที่ 25 ของเดือน เป็นจุดเริ่มต้นของการพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสมาชิกทำให้กลุ่มสามารถขยายกิจกรรมในการดำเนินงานของสมาชิกออกเป็น 8 กลุ่มย่อย และมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 77 ราย มีพื้นที่ที่ทำประโยชน์ของสมาชิก รวมทั้งสิ้น 213 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
วัตถุประสงค์ของกลุ่ม
1. เพื่อเป็นการออมทรัพย์
2. เพื่อให้สามารถร่วมกันซื้อ ร่วมกันขาย และมีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
3. เพื่อทำการเกษตรแบบครบวงจร
4. เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิด และ ประสบการณ์ร่วมกัน
5. เพื่อจัดให้มีศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการเกษตร เพื่อจำหน่ายผลผลิตของกลุ่ม
6. รวมกันผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ
กิจกรรมของกลุ่มสมาชิก แยกเป็น 8 กลุ่มย่อย
1. กลุ่มออมทรัพย์ จำนวน 77 ราย
2. กลุ่มการเกษตรผสมผสาน (ทฤษฏีใหม่) จำนวน 75 ราย
3. กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 15 ราย ทำต่อเนื่อง 3 ราย
4. กลุ่มผู้เลี้ยงปลา จำนวน 15 ราย ทำต่อเนื่อง 5 ราย
5. กลุ่มผู้เลี้ยงวัวนม - วัวเนื้อ จำนวน 3 ราย ทำต่อเนื่อง 3 ราย  แยกเป็นวัวนม 1 ราย และ วัวเนื้อ 2 ราย
6. กลุ่มเพาะเห็ด จำนวน 7 ราย ทำต่อเนื่อง 1 ราย
7. กลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จำนวน 44 ราย
8. กลุ่มผู้ปลูกพืชผักปลอดภัยจากสารพิษ จำนวน 4 ราย  ทำต่อเนื่อง 1 ราย
นอกจากนี้ฟาร์มลุงพรหม ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐในระดับจังหวัด และ ประเทศ ประชาชนทั่วไป และ สถานศึกษาที่สนใจ
ชุมชนบ้านเจดีย์แม่ครัว
ชื่อผู้นำชุมชน  นายพรหม ใจเมคา  เบอร์ติดต่อ: 0813665944
ที่อยู่ชุมชน  เลขที่ 102 หมู่ 3 บ้านเจดีย์แม่ครัว ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50290  
ประวัติประธานกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่
                                นายพรหม ใจเมคา เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 อายุ 56 ปี จบการศึกษาชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านเจดีย์แม่ครัว ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย  จ.เชียงใหม่  สมรสกับนางถนอมจิตร ใจเมคา มีบุตร 2 คนเป็นหญิง 1 คน สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ สาขาการจัดการทั่วไป และบุตรชายสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเขตพื้นที่ภาคพายัพสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม
  
ลักษณะเด่นของชุมชน
                ชุมชนบ้านเจดีย์แม่ครัว ตั้งอยู่ ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50290 เป็นชุมชนที่ ยึดหลักแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัว ส่วนมากประชากรในชุมชนจะประ กอบอาชีพทางด้านการเกษตร มีการรวมกลุ่มในการทำเกษตรแบบพึ่งพากัน โดยเฉพาะการจัดตั้งกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านเจดีย์แม่ครัว ซึ่งแยกเป็น 8 กลุ่มย่อย คือ
1.กลุ่มออมทรัพย์ จำนวน 77 ราย
2.กลุ่มการเกษตรผสมผสาน ( ทฤษฎีใหม่ ) จำนวน 75 ราย
3.กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 15 ราย ทำต่อเนื่อง 3 ราย
4.กลุ่มผู้เลี้ยงปลา จำนวน 15 ราย ทำต่อเนื่อง 5 ราย
5.กลุ่มผู้เลี้ยงวัวนม วัวเนื้อ จำนวน 3 รายทำต่อเนื่อง 3 ราย เป็นวัวนม 1 ราย วัวเนื้อ 2 ราย
6.กลุ่มผู้เพาะเห็ด จำนวน 7 รายทำต่อเนื่อง 1 ราย
7.กลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ จำนวน 44 ราย
8.กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดสารพิษ จำนวน 4 ราย ทำต่อเนื่อง 1 ราย
                จะเห็นได้ว่า ชุมชนบ้านเจดีย์แม่ครัว เป็นชุมชนที่เกื้อกูลกัน และเป็นชุมชนต้นแบบอย่างแท้จริงนอก จากนี้ฟาร์มลุงพรหม ยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐในระดับจังหวัด และประเทศ ประชาชนทั่วไป และ สถานศึกษาที่สนใจ
รางวัลต่างๆ ที่ได้รับ
1. รางวัลครอบครัวตัวอย่าง ประจำปี 2540 จากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
                2. รางวัลชมเชยโครงการคัดเลือกแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการ พิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
                                3. รางวัลหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านดีเด่น ประจำปี 2545 จากกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
การฝึกอบรม
                1. อบรมหลักสูตร คณะกรรมการบริหารศูนย์บริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล จากสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
                2. อบรมหลักสูตรประมงอาสารุ่นที่ 3 จากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
                3. อบรมหลักสูตร การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่
                4. อบรมหลักสูตร การพัฒนาหมอดินอาสาประจำตำบลประจำปีงบประมาณ 4546 จากสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ร่วมกับสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
                5. อบรมหลักสูตร การบริหารจัดการกลุ่ม รุ่นที่ 2/2547 ตามโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาชนบท ของธนาคารออมสินภาค 7
พื้นที่สระน้ำขนาด 1,260 ลบ.เมตร ในพื้นที่ของลุงพรหม ใจเมคา ที่มีการเลี้ยงปลา ต่างๆ คือปลานิล ปลาดุก และปลาตะเพียน ซึ่งมีการดูแลและให้อาหารโดยใช้วัตถุดิบ ในชุมชน เป็นการลดต้นทุน รวมถึงปลูกผัก ในบ่อปลาด้วย คือผักกะเฉดและผักบุ้ง เป็นการเพิ่มรายได้และใช้เนื้อที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด 
10.6  เกษตรทฤษฎีใหม่ที่สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้
                แหล่งเรียนรู้ที่ผู้สนใจด้านการเกษตรพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ สามารถที่จะไปเก็บเกี่ยวความรู้ได้อีกแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ก็คือ สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ที่นี่เราจะได้พบกับแปลงสาธิตที่กว้างใหญ่บนพื้นที่ถึง 907 ไร่ โดย อ.อนันต์  ปินตารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัย   มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เล่าให้ฟังว่า สำนักฟาร์มฯ  ก่อตั้งและดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 พร้อมกับโครงการพัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เพื่อเป็นหน่วยงานด้านการพัฒนาทางการเกษตรแบบครบวงจรเป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคคลทั่วไป โดยนำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ภูมิปัญญาท้อง ถิ่นนำมาใช้และถ่ายทอดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม เป็นการสนองงานโครงการตามแนวพระราช ดำริ  ซึ่งนอกจากพื้นที่ 907 ไร่ นี้แล้ว ยังมีพื้นที่ที่สำนักฟาร์ม ดูแลใกล้เคียงอีก 2 พื้นที่ คือ ป่าอนุรักษ์บ้านโปงที่ดูแลร่วมกับชาวบ้านโปง และ พื้นที่แปลงเกษตร 1 พันกว่าไร่ ที่อำเภอพร้าว   ทั้งนี้ในพื้นที่แรก 907 ไร่ ที่ ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่นี้ ถือเป็นพื้นที่ ที่ผู้สนใจจะได้เรียนรู้ด้านการเกษตร อย่างมากมาย
ส่วนต่าง ๆ  ภายในสำนักฟาร์ม
                               สำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้นี้เราก็มีการพัฒนาสำนักฟาร์มมาประมาณ 3 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการเรานี้เริ่มต้นมาจากโครงการพัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งอันนี้เรามีพื้นที่รับผิดชอบอยู่ตอนนี้แปลงที่หนึ่ง  เรามีพื้นที่เกี่ยวกับงานวิจัยทางด้านงานเกษตรต่าง ๆ หลาย ๆ กิจกรรม พื้นที่แรกก็มี 907 ไร่ อยู่ที่ ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ แล้วแปลงที่สองอยู่ใกล้ ๆ กัน เราก็มีพื้นที่รับผิดชอบอีก เป็นพื้นที่ป่า 3,686 ไร่ ซึ่งอันนี้เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ รวมพื้นที่รับผิดชอบที่ออกจากมหาวิทยาลัยไปอีกประมาณ 70 กิโลเมตร ที่ อ.พร้าว อีกประมาณ 1,300 ไร่ แต่แปลงแรก 907 ไร่ เราก็จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ภายในแปลง หลากหลายกิจกรรม หลัก ๆ อันหนึ่งก็คือ ศูนย์วิชาการทางด้านลำไย ซึ่งอันนี้เรามีงานวิจัยทางด้านลำไยอยู่ในฟาร์ม 907 ไร่ ของเรา ค่อนข้างครบวงจร นะครับ และนอกจากนั้น เราก็จะมีพื้นที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ ซึ่งตอนนี้เรามีโรงงานผลิตปุ๋ยอยู่ในพื้นที่ 907 ไร่ เราสามารถที่จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพออกจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่ต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มีโรงงานมีวิธีการผลิตมีการสาธิตทำปุ๋ยอะไรต่าง ๆ ในพื้นที่นี้ด้วย และนอกจากนั้นเราก็มีสวนผักอินทรีย์ เรามีการปลูกผักอินทรีย์ตลอดทั้งปี ตามฤดูกาลและก็มีการจำหน่ายผักเพื่อให้เกิดรายได้กับสำนักฟาร์ม และที่เกิดรายได้กับสำนักฟาร์มก็คือ เราจะมีการปลูกไม้ตัดดอกเพื่อการค้านะครับ นอกจากกิจกรรมหลักพวกนี้แล้ว ก็จะมีกิจกรรมที่เรารับฝึกงานนักศึกษาเกษตรทั่วประเทศไทย ที่เข้ามาฝึกงานกับสำนักฟาร์มเรา และนอกจากนั้นเรายังมีกิจกรรมพืชสมุนไพรในสำนักฟาร์มเรา เราก็จะมีการศึกษาพืชสมุนไพร และเรากำลังจะทำพืชสมุนไพร่ ซึ่งโอกาสต่อไปเราจะเป็นฐานสำหรับสนับสนุนการเรียนการสอน เค้าจะเปิดหลักสูตรทางด้านพืชสมุนไพรของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วย สำนักฟาร์มก็จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับพืชสมุนไพรต่าง ๆ ด้วย และนอกจากนั้นในบริเวณพื้นที่เรา เราก็พยายามทำการศึกษาวิจัยทางด้านยางพาราแบบครบวงจร กิจกรรมหนึ่งในพื้นที่เราก็จะมีสวนพฤกษศาสตร์ร้อยปีสมเด็จย่าอยู่นะครับ ซึ่งอันนี้เราก็จะต้องมีการปลูกต้นไม้เอากล้วยไม้พันธุ์พื้นเมืองต่าง ๆไปติดตามต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งอันนี้เป็นโครงการสวนพฤกษศาสตร์ร้อยปีสมเด็จย่า ซึ่งก็อยู่ภายในพื้นที่ 907 ไร่และในกิจกรรมล่าสุดที่เรากำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้ ก็จะมีโครงการของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ซึ่งจะมาสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทางด้านการผลิตกล้วยไม้ทำทิชชูเคาเจอร์ทำรากกล้วยไม้เพื่อส่งออกต่างประเทศด้วย ทั้งนี้การดำเนินรอยตามแนวทางพระราชปรัชญาในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯอันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนที่สำนักฟาร์มแห่งนี้ได้เผยแพร่แนวความรู้ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่สำหรับประชาชนในพื้นที่ และชุมชนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ด้วย
                ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่สำนักฟาร์มเราได้ช่วยชุมชนรอบ ๆ  นี้  เรามีการส่งเสริมประชาชนปลูกไม้ดอก ยกตัวอย่างเช่นดอกเบญจมาส ต่าง ๆ เช่นแต่ละปี ก็ช่วยทำให้เกษตรกรที่อยู่ในชุมชนให้มีโอกาสได้เกิดรายได้ในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงไปอีกระดับหนึ่งเราก็จะมีโครงการทฤษฏีใหม่ เราจะมีแปลงสาธิต ที่จะถ่ายทอดแนวคิดในรูปแบบทฤษฎีใหม่ เกษตรกรบางรายมีแรงงานในครอบครัวไม่มาก ก็จะให้มาศึกษาดู ซึ่งก็จะมีความเข้าใจในการใช้ประโยชน์ที่ดิน และในขณะเดียวกัน นักวิชาการ ก็มีแนวคิดในเชิงเศรษฐกิจพอเพียงที่จะถ่ายทอดให้กับชุมชนหมู่บ้านโปงเรา หรือว่าไม่เฉพาะชุมชนบ้านโปงแต่ชุมชนรอบ สำนักฟาร์ม ก็สามารถเข้ามาศึกษาเช่นอาจจะมีการฝึกอบรมในโอกาสต่อไปในแง่ของแนวคิดเศรษฐกิจพอ เพียงต่าง ๆเพียงแค่ความตั้งใจที่อยากจะเรียนรู้ ในแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ ที่สำนักฟาร์มแห่งนี้ ก็พร้อมที่จะให้เราได้เก็บเกี่ยวความรู้อย่างมากมายตลอดเส้นทางแห่งความพอเพียง 

11.  ดูงานสวนเกษตรกรตัวอย่างการเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ
11.1 ประวัติเกษตรกรโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่
ชื่อ                                                          นายมนูญ เทศนำ
เพศ                                                        ชาย
วัน/เดือน/ปีเกิด                                                  26 ตุลาคม พ.ศ. 2505        อายุ  48  ปี
สถานะภาพในการสมรส                   สมรสแล้ว
ระดับการศึกษาสูงสุดที่ได้รับ           ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) สาขาธุรกิจการเกษตร
จำนวนสมาชิกในครัวเรือน              5 คน พ่อ 1 คน แม่ 1 คน ลูกชาย 2 คน ลูกสาว 1 คน
การถือครองที่ดิน                                การถือครองที่ดิน จำนวน 15 ไร่ แบ่งเป็น
                                                                                                1. พื้นที่อยู่อาศัย จำนวน 0.25 ไร่
                                                                                                2. พื้นที่เพาะปลูกไม้ผลและผัก จำนวน 6.5 ไร่
                                                                                                3. พื้นที่การปลูกข้าว จำนวน 6 ไร่
                                                                                                4. พื้นที่การขุดสระ จำนวน 1 ไร่
                                                                                                5. พื้นที่โรงเพาะเห็ด จำนวน 0.5 ไร่
                                                                                                6. พื้นที่เพาะเลี้ยงกบ จำนวน 0.5 ไร่
                                                                                                7. พื้นที่บรรยายวิชาการ จำนวน 0.25 ไร่
สถานะก่อนการเข้าร่วมโครงการ
ประกอบอาชีพหลัก                            เกษตรกรรม ประกอบอาชีพรอง รับจ้างทั่วไป
รายได้เฉลี่ย/ครัวเรือน                       40,000 บาท/ปี แบ่งเป็น
1. รายได้จากภาคการเกษตร 10,000 บาท/ปี 
2. รายได้อื่นๆ จำนวน 30,000 บาท/ปี
เข้าร่วมโครงการ                                 ปี พ.ศ. 2543 ปัจจุบันดำเนินการต่อเนื่อง
ระยะเวลาเข้าร่วมโครงการ               9  ปี
สถานะหลังเข้าร่วมโครงการ
ประกอบอาชีพหลัก                            เกษตรกรรม
รายได้เฉลี่ย/ครัวเรือน                       400-500 ต่อวัน หรือ 156,400 บาท/ปี แบ่งเป็น
1. รายได้จากภาคการเกษตร จำนวน 80,000 บาท/ปี
(ข้าว ไม้ผล พืชผัก หมูป่า)
                                                                                                2. รายได้จากภาคอื่นๆ 76,400 บาท/ปี
โดยรายได้ทั้งหมดจากภาคการเกษตรคิดเป็นเปอร์เซ็นได้ ดังนี้
รายได้จากข้าว ข้าวโพด พืชผัก        คิดเป็น 30% ของรายได้ทั้งหมดของภาคการเกษตร
รายได้จากการเลี้ยงโคเนื้อ                 คิดเป็น 20 % ของรายได้ทั้งหมดของภาคการเกษตร
รายได้จากการเลี้ยงหมูป่า                  คิดเป็น 20 % ของรายได้ทั้งหมดของภาคการเกษตร
รายได้จากการเลี้ยงปลา                      คิดเป็น 15%  ของรายได้ทั้งหมดของภาคการเกษตร
รายได้จากการปลูกไม้ผล                   คิดเป็น 10 % ของรายได้ทั้งหมดของภาคการเกษตร
รายได้จากการเลี้ยงกบ                        คิดเป็น 5% ของรายได้ทั้งหมดของภาคการเกษตร
การตลาด                                             จำหน่ายทั้งในหมู่บ้านและใกล้บ้าน
แรงงาน                                                 ใช้แรงงานในครัวเรือนของตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสีย      
ค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงาน
*หมายเหตุ : ในปี 2547-2548 รายได้ลดลงเพราะพื้นที่เกือบครึ่งได้ใช้ทำโรงเพาะเห็ด ซึ่งได้ลงทุนส่วนตัว

11.2 บทสัมภาษณ์นายมนูญ เทศนำ
พื้นที่บ้านเป็นอย่างไรบ้าง ?
พื้นที่บ้านนี้เป็นพื้นที่หมู่บ้านรอบบริเวณศูนย์ฯ คือเป็นหมู่บ้านที่ติดกับบริเวณศูนย์ ที่นี่จะเน้นอยู่แบบง่ายๆ  ไม่มีไฟฟ้าใช้ คนที่มาฝึกงานอยู่ที่นี่หลายคนก็ต้องจำเป็นยอมรับสภาพครับ
ทำไมจึงมีที่อยู่ใกล้ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ?
                                เดิมเป็นที่ของพ่อกับแม่ผมครับ ผมเกิดที่นี่ โตที่นี่ พ่อแม่ทำนา ผมมีโอกาสไปเรียนหนังสือที่วิทยาลัยเกษตรกรรมลำพูน จบแล้วก็ไปหางานทำ เปลี่ยนไปเรื่อยตามประสาหนุ่มชอบผจญภัย ได้ใช้วิชาความรู้ประสบการณ์หลายอย่าง จนแต่งงานก็กลับมาอยู่ที่นี่ ปลูกพืชเลี้ยงเดี่ยว ข้าว หอม กระเทียม
บริเวณรอบบ้านมีเกษตรกรใดบ้างที่ทำเกษตรแบบนี้ ?
                                ก็มีบ้างครับแต่ส่วนใหญ่เขาทำอาชีพรับจ้าง โดยเขามีที่ดินทำกินแต่เขาไม่ทำกัน จะมาซื้อที่ตลาดมากกว่าที่จะปลูกไว้กินเองครับ
มีการลงทุนไปเท่าไหร่ในการทำสวนนี้ ?
                ถ้าถามว่าเป็นเงินคงหลายบาทอยู่ครับเพราะที่นี่แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เอาเงินก้อนมาลงทุนที เดียวเลยโดยเริ่มทำอย่างล่ะน้อย ๆ  ทีละอย่างสองอย่าง เมื่อถึงเวลาเกือบสิบปีก็จะค่อยเพิ่มเยอะขึ้น กิจกรรมที่ทำก็จะเยอะขึ้น
ในการทำเกษตรแบบนี้ เริ่มแรกได้ทำอะไรก่อน ?
                                แต่ก่อนนี้ทำพืชเชิงเดี่ยว พอมีเวลาเหลือก็ไปรับจ้างก่อน แล้วพอมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในช่วงแรกเราก็ต้องดูว่ารายได้เรายังไม่เกิดต้องไปรับจ้างเขาก่อนเพื่อนำรายได้มาเสริม พอทำไปได้สักระยะสิ่งที่เราปลูกให้ผลผลิตมากขึ้นเราเริ่มอยู่ตัวขึ้น งานข้างนอกก็ต้องเริ่มลดลง
ทำพืชเดี่ยวแล้วได้ผลอย่างไร ?
                                แรก ๆ  ก็ดี ดินยังดี ข้าวก็ออกมาดี ปลูกข้าวโพดก็สูงท่วมหัว แต่ไม่นานก็เริ่มมีปัญหา ปีแรก ๆ  กำไรดีต่อมาก็เริ่มขาดทุนเพราะต้องลงทุนมากขึ้น ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี ดินก็เสื่อมลง แมลงก็มา โรคก็มา ระบบรากของพืชเสียหมด ดินเป็นกรวด แมลงเข้ามาก็เอาสารเคมีไล่ เอาชีวภาพไล่ไม่ได้ผล สิ่งแวดล้อมตายหมด ใช้ยาฆ่าหญ้ามาก ก็ต้องจำเป็นที่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเป็นหลักแสน สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ กู้หนี้จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง สุดท้ายต้องประนอมหนี้ไม่อยากขายที่ไปใช้หนี้ เพราะเหมือนคนยอมจำนน
คิดว่าน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่านี้หรือเปล่า ?
                                ใช่ครับ เหมือนกับผมถูกบังคับหรือได้จังหวะพอดีก็เป็นได้ตอนที่ผมกลับมาจากบ้านก็ทำพืชเดี่ยวอยู่เกือบ 10 ปี ระหว่างนั้นผมก็ออกไปทำงานรับจ้างด้วย ที่ศูนย์ห้วยฮ่องไคร้นี่แหละ ผมโชคดีย้ายไปงานโน้นงานนี้ได้เรียนรู้มาก งานพัฒนาป่า งานประมง ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ได้เห็นแนวคิดของพระเจ้าอยู่หัวว่าลึกซึ้งมาก ผมก็เอาแนวคิดนี้มาทำกับตัวเอง
  
เป็นการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงที่ยากไหม ?
                                ไม่ง่ายเลยครับแต่ผมหารือกับครอบครัวว่า ถ้าเราทำแบบเก่าไปไม่รอดแน่ ๆ  ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่และหาวิธีใหม่ก็เอาวิธีของพระเจ้าอยู่หัวนี่แหละมาทำค่อย ๆ  ทำจนสามารถทำแบบผสมผสานและใช้ชีวภาพได้เต็มพื้นที่เมื่อปี 2545
กบที่เลี้ยงเป็นอย่างไรบ้าง ?
                                กบที่เลี้ยงเป็นแบบครบวงจรเลย เราทั้งเพาะพันธุ์เองแล้วส่วนใหญ่จะขายประมาณ 70% เป็นกบเล็กเพื่อให้เขาเอาไปเลี้ยงต่อ เหลืออีกส่วนหนึ่งเราก็ขุนมันให้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ กบที่นี่จะเลี้ยงแต่กบเมืองเท่านั้น กบที่หัวเขียว ๆ  จะพันธุ์ใหญ่เอาไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ เวลาขายตัวใหญ่กิโลกรัมละ ประมาณ 60-80 บาท
โครงการขยายผลนี้ให้ทำอะไรบ้าง ?
                                มีการฝึกอบรมเรื่องต่าง ๆ  เป็นความรู้เฉพาะกิจกรรม เช่น ปศุสัตว์ สัตว์ใหญ่ สัตว์เล็ก พัฒนาป่าไม้ พัฒนาสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ ปลูกพืช ไม้ผล การเพาะเห็ด หลายๆ อย่างผมพอจะรู้แต่ก็ไปร่วมหมดได้ประโยชน์ เอามาปรับทำในพื้นที่ของผม โดยทางศูนย์ก็ให้การสนับสนุนเป็นทุนเบื้องต้นบ้างเล็กน้อย เช่น ไม้ผลก็ให้ส้มโอ ลำไย 5 ต้น กบ เป็ด ไก่ อย่างล่ะ 5 ตัว 10 ตัว ปลาก็ 100-200 ตัว แต่ก็ให้เราคืนไปส่วนหนึ่ง เพื่อจะได้ขยายพันธุ์ให้คนอื่นต่อไป
ตอนนี้หนี้สิน 6 หลักนี่หมดหรือยัง ?
                                ยังครับ แต่ลดเยอะ ตั้งใจว่าอีกไม่เกิน 3 ปีก็หมด ที่ผ่านมาก็บริหารรายได้เป็น 3 ส่วน ใช้หนี้  เอามาพัฒนาอาชีพการงาน ส่งลูกเรียนและตัวเองเรียนด้วย ที่ทำได้เพราะผมเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนชีวิตตัวเองได้ เลิกเหล้า เลิกเที่ยว หันหน้าเข้ามาทำมาหากิน ดูแลครอบครัว สนใจใฝ่รู้ มีอะไรให้เรียนผมจะไปหมด
รายได้ได้มาอย่างไร มีการจัดการอย่างไรบ้าง ?
                                ผมวางแผนไว้หมดว่าต้องอยู่บน 3 ขา ดูว่าอะไรได้มาเป็นรายปี รายเดือน รายวัน อย่างปลากดหลวงผมเลี้ยงไว้บ่อหนึ่ง ปีหนึ่งปีครึ่งก็ขายได้ที่หนึ่ง อีกบ่อหนึ่งเป็นปลานิล ยี่สกเทศ นวลจันทร์ออกเป็นรายเดือน เพราะลงเป็นรุ่น ๆ  กบก็เป็นรายเดือน ผักก็เช่นกัน เดือนหนึ่งก็ขายได้ แต่ก็เก็บได้ทุกวันเพราะมีหลายรุ่น เห็ดนี่ออกทุกวัน ผมทำอยู่ 2-3 พันก้อน ถั่วก็เก็บทุกวัน เมื่อก่อนนี้ทำพืชเดี่ยว 3-4 เดือนได้เงินครั้ง แต่กินใช้ทุกวัน มันก็อยู่ไม่ได้ตอนนี้ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องจ่าย มีรายได้ทุกวัน
มีของมากมายอย่างนี้เอาไปขายที่ไหน ?
                                ภรรยาผมเอาไปขายเอง ตลาดใหญ่ที่สุดคือตลาดหมู่บ้าน ตลาดตำบล ไปขายเช้ากับเย็น บางวันก็ไปขายแค่ครั้งเดียวเพราะต้องดูแลลูก ก่อนนี้ต้องไปตลาดเมืองใหม่ ที่เชียงใหม่ หรือไม่ก็รอพ่อค้ามาซื้อ วันนี้เราไปขายเอง ไม่พอขาย ชาวบ้านก็เหมือนผมเมื่อก่อน ไม่ปลูกไม่เลี้ยงอะไรไว้กิน ไปทำงาน กลับบ้านตอนเย็นก็แวะซื้อจากตลาดเข้าบ้านนอกนั้น ใคร ๆ  ก็รู้ว่าของผมไม่ใช้สารเคมี อันนี้เป็นคุณค่าที่มองไม่เห็น เป็นอะไรที่ผมพอใจมาก

ได้ยินมาว่าที่นี่มีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ?
                                ครับ เป็นที่พบปะเครือข่ายหมอดิน เกษตรอินทรีย์ ประชาคม ป่าชุมชน อนุรักษ์ทรัพยากร หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ มีคนมาดูงานจากทั่วประเทศและต่างประเทศ ปี 2550 มีประมาณ 5000 คน ผมมีสมุดบันทึก บางวันมาหลายกลุ่ม ไม่ได้บันทึกก็มี ฝรั่งก็มา จากแอฟริกาก็มา จากเอเชียก็มามาก ก็ดีครับไม่ได้ทำให้ผมเสียเวลา ผมก็ได้แลกเปลี่ยนความรู้ บางทีคนที่มาก็มีอะไรดี ๆ  แนะนำผมด้วย
ตอนนี้มีความมั่นใจในชีวิตมากเลยใช่หรือเปล่า ?
                                ครับ มั่นใจมาก กล้าพูดได้เลยว่า 7 ปีที่ทำมาคิดไม่ผิด แนวทางของพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางที่มั่นคง ยั่งยืน ทำให้คนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีปัญญาใช้หนี้สิน ส่งลูกเรียน ส่งตัวเองเรียน สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้สังคม ผมเหมือนได้เกิดใหม่เลยครับ
ตอนนี้ได้รับรางวัลอะไรบ้าง ?
                                ตอนนี้คาดว่าจะได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขาเกษตรทฤษฎีใหม่ ระดับจังหวัดครับ

12. โครงการพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
12.1 โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ
ความเป็นมาของโครงการ
ตามที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยได้มีการชะลอตัวตั้งแต่ปี 2539 และส่งผลกระทบต่อภาวะว่างงานในประเทศไทย ทำให้มีการคาดหมายว่าปัญหาการว่างงานจากการเลิกจ้างจะรุนแรงมากขึ้น ภาคเกษตรเป็นภาคหนึ่งที่มีศักยภาพในการรองรับปัญหาการว่างงานได้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2540 เห็นชอบแผนปฏิบัติการบรรเทาปัญหาการว่างงาน ตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเสนอ โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการพัฒนาการเกษตร เพื่อรองรับแรงงานที่กลับสู่ชนบทภายใต้ โครงการ "เกษตรทฤษฎีใหม่" ตามแนวพระราชดำริ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
                               เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ การค้า และเพื่อลดการเคลื่อนย้ายการใช้แรงงาน
ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ
                                ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ เกษตรกรจะสามารถประกอบอาชีพการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองด้วยวิธีง่ายๆ ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลัง และสามารถรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมแรงในการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา รวมทั้งการร่วมมือกับแหล่งเงิน และแหล่งพลังงาน ตั้งและบริการโรงสี ตั้งและบริการร้านสหกรณ์ ช่วยกันลงทุนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนต่อไป 

การเข้าร่วมโครงการ
                        เกษตรกรในพื้นที่ที่คัดเลือกไว้ที่มีความสนใจ แสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมโครงการตามจำนวนเป้าหมายที่ได้รับจัดสรรตามหลักเกณฑ์ดังนี้
1.  มีพื้นที่น้อยประมาณ 15 ไร่ (พื้นที่ต้องติดต่อกัน)
2.  มีฐานะค่อนข้างยากจน 
3.  มีสมาชิกครอบครัวปานกลาง (ประมาณ 5-6 คน) 
4.  ไม่มีอาชีพหรือแหล่งรายได้อื่นที่ดีกว่าในบริเวณใกล้เคียง 
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
                                สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมป่าไม้ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 
12.2โครงการพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่การพัฒนาแหล่งทำกินพื้นที่เชิงเขา ปราจีนบุรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้หน่วยทหารพัฒนา กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ เข้ามาจัดทำ โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา-ปราจีนบุรี ตามแนวพระราชดำริ บริเวณตำบลท่ากระบาก อ. เมือง จ.สระแก้ว ช่วงรอยต่อ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งพื้นที่นี้แห่งช่วงหนึ่งผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ใช้เป็นที่ตั้งฐานปฏิบัติการที่จะแยกประเทศไทย ประกอบกับมีประชาชนบางส่วนเข้ามาบุกรุก แผ้วถางพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นที่ทำกิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้หน่วยทหารฯ เข้ามาดำเนินโครงการฯ พร้อมทั้งพระราชทานแนวทางคือ พัฒนาทางด้านจิตใจ ให้ความรู้ในการประกอบอาชีพ การจัดสรรที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้เกษตรกรในช่วงแรกหน่วยทหารพัฒนาฯได้จัดทำ โครงการเกษตรกรรมตามแนวทฤษฎีใหม่ ภายในพื้นที่ 17 ไร่ เพื่อใช้กระตุ้นให้ราษฎรได้เรียนรู้ และ มีโอกาส ปฏิบัติจริง ทั้งปลูกผัก เลี้ยงปลา ทำนา ทำไร่ ปลูกไม้ 3 อย่าง การผสมปุ๋ยใช้เอง ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้ ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงโคเนื้อ-โคนม ทอผ้าไหมไทย เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมบอกว่า ก่อนหน้านี้มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัว ต้องขึ้นเขาไปหาไม้หอมซึ่งผิดกฎหมายมาขาย เมื่อทางทหารพัฒนาพร้อมด้วยกรมปศุสัตว์ เข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงวัวนม ซึ่งครั้งแรกจะให้วัวสาวตั้งท้อง 5 ตัว พร้อมกับสร้างคอก อุปกรณ์การรีดนม ขุดสระน้ำ หลังเลี้ยงอยู่ช่วงหนึ่ง เริ่มมีรายได้ที่มั่นคง ทำให้ไม่ต้องแอบขึ้นเขาไปเก็บไม้หอม ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายเหมือนที่ผ่านมา วันนี้จึงบอกกับสมาชิกในครอบครัวว่า "นี่คืออาชีพของเรา" ที่จะต้องส่งต่อให้ลูกหลาน ปัจจุบันมีวัวทั้งหมด 24 ตัว และสามารถรีดน้ำนมได้ 14 ตัว หลังหักต้นทุนจะเหลือเงินแต่ละเดือนนับหมื่นบาท
13. งานวิจัยด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริในประเทศไทย
13.1การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจของระบบการเกษตรยั่งยืน: กรณีศึกษาการ เกษตรทฤษฎีใหม่ของโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดศรีสะเกษ 
                                การวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ของระบบการเกษตรยั่งยืนกรณี ศึกษาการเกษตรทฤษฎีใหม่ของโครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นการศึกษาเพื่อให้ทราบถึงแนวคิดและข้อเท็จจริง ของการเกษตรวิถีชาวบ้านและการเกษตรยั่งยืนในรูปแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับสภาพทั่วไปทางกายภาพและเศรษฐกิจของครัวเรือนเกษตรกร ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและความเป็นไปได้ ในการลงทุนของโครงการเพื่อนำผลการวิเคราะห์ที่ได้จากการ ศึกษามาเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับส่งเสริมการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเหมาะสมต่อไปผลการศึกษาพบว่าการที่ภาครัฐได้เข้ามาให้การส่งเสริม และสนับสนุนพัฒนาด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ซึ่งเป็นแผนงานส่วนหนึ่งภายใต้โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ โดยมีสำนักงาน กปร. เป็นหน่วยงานประสานนั้น ในเบื้องต้นปี พ.ศ. 2541 มีครัวเรือนเกษตรกรที่เดิมเคยทำการเกษตรวิถีชาวบ้านได้มาเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่จำนวน 15 ครัวเรือนเกษตรกรมีการปรับตัวและเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับอันเกิดจากการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ พิจารณาได้จากการที่เกษตรกรพยายามจัดสรรที่ดินให้ใกล้เคียงกับแบบจำลองการ เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีการขุดสระน้ำเพิ่มขึ้น เพิ่มกิจกรรมการเกษตรของระบบพืชและระบบสัตว์ให้มีจำนวนชนิดมากขึ้นและมีการเกื้อกูลซึ่งกันและกันส่งผลให้ผลผลิตโดยรวม เพิ่มขึ้นจากผลการวิเคราะห์กิจกรรมการผลิตระยะสั้นในรอบระยะเวลาการผลิต 1 ปี ซึ่งได้จากการวิเคราะห์ต้นทุนและรายได้และการจัดทำงบประมาณบางส่วนสรุปได้ว่า การดำเนินงานของครัว เรือนเกษตรกรในช่วงทำการเกษตรวิถีชาวบ้านมีผลขาดทุน ส่วนช่วงทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ รายได้สุทธิ และผลกำไนสุทธิเพิ่มขึ้นจากช่วงทำการเกษตรวิถีชาวบ้าน และจากผลการวิเคราะห์กิจกรรมการผลิตระยะยาวในช่วงเวลา 25 ปี ซึ่งเป็นการวิเคราะห์โครงการโดยปรับค่าเวลาและใช้อัตราคิดลดที่ร้อยละ 12 ต่อปี ด้วยการวิเคราะห์โครงการทางการเงิน พบว่า โครงการเกษตรวิถีชาวบ้านไม่มีความเป็นไปได้ที่จะลงทุนในระยะยาว ขณะที่โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่มีความเป็นไปได้ที่จะลงทุนในระยะยาว จะเห็นได้จากค่า NPV BCR และ IRR ที่ยอมรับได้มากกว่าโครงการเกษตรวิถีชาวบ้านสรุปได้ว่า โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่มีความน่าลงทุนมากกว่าโครงการเกษตรวิถีชาวบ้าน และการวิเคราะห์โครงการทางเศรษฐกิจ พบว่า แม้ว่าทั้งสองโครงการมีความเป็นไปได้ที่จะลงทุนในระยะยาวเช่นเดียวกัน แต่โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ให้ค่า NPV BCR และ IRR มากกว่าโครงการเกษตรวิถีชาวบ้าน สรุปได้ว่า โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่มีความน่าลงทุนมากกว่าโครงการเกษตรวิถีชาวบ้าน ดังนั้น จากผลการวิเคราะห์กิจกรรมการผลิตทั้งระยะสั้นและระยะยาว สามารถสรุปโดยรวมได้ว่าโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ มีความเหมาะสมและคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่าโครงการเกษตรวิถีชาวบ้าน จากผลการศึกษาที่ได้รับ จึงน่าที่จะนำมาเป็นข้อเสนแนะเพื่อเป็นประโยชน์ในแง่ข้อมูลต่อการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรทฤษฎีใหม่สำหรับศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ เอง เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างความสำเร็จสำหรับเกษตรกรหรือหน่วยงานอื่น ที่น่าสนใจได้เข้าไปศึกษาและนำไปดำเนินการต่อไป ให้มีการขยายผลมากขึ้น ซึ่งจะครอบคลุมในประเด็นการส่งเสริมและสนับสนุนเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมให้เกิดการขยายผล ของระบบการเกษตรทฤษฎีใหม่แทนการเกษตรวิถีชาวบ้าน นโยบายสนับสนุนด้านการเงินของภาครัฐนโยบายการปรับกระบวนการทำงานของภาครัฐ นโยบายส่งเสริมความรู้และเทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม นโยบายการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในระดับเยาวชน และนโยบายสนับสนุนกิจกรรมต่อ เนื่องเพื่อพัฒนาให้เกิดการเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 ต่อไป 
13.2ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการวางแผนในการจัดการฟาร์มของเกษตรกรในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
 การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ
1.) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายใน ได้แก่ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่ทำการเกษตร ความพร้อมด้านครอบครัว และปัจจัยภายนอกกับการวางแผนในการจักการฟาร์มของเกษตรกรในโครงเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และ
2.) เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการวางแผนในการจัดการฟาร์มของเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่จำแนกตามกลุ่มชาติพันธุ์ เก็บข้อมูลเชิงปริมาณและความคิดเห็นของเกษตรกรในโครง การประชากรและกลุ่มตัวอย่างตามแบบสำรวจ เพื่อจัดทำทะเบียนเกษตรกรที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดบุรีรัมย์ ในปี พ.ศ. 2548 จำนวน 274 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์ทางสถิติ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ค่า t-test และ ค่าความแปรปรวนทางเดียว
ผลการวิจัย พบว่า 1. เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 46 ปีขึ้นไป ร้อยละ 82.8 จบการศึกษาระดับประถม ศึกษา ร้อยละ 71.5 เกษตรกรเป็นกลุ่มชาติพันธ์ไทยลาว ร้อยละ 50.7 รองลงมาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโคราช ร้อยละ 31.0 และ17.5 และเกษตรกรกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรและกลุ่มชาติพันธ์ไทยกูยน้อยที่สุดร้อยละ 0.7 มีแรงงานที่ช่วยในภาคการเกษตร จำนวน 1 ถึง 2 คน ร้อยละ 57.7 มีพื้นที่ถือครองทำการเกษตรแบ่งเป็นพื้นที่สระน้ำต่ำกว่า 2 ไร่ ร้อยละ 72.6 พื้นที่สวนผสมต่ำกว่า 5 ไร่ ร้อยละ 59.1 พื้นที่อยู่อาศัยละคอกสัตว์ต่ำกว่า 2 ไร่ ร้อยละ 69.7 พื้นที่นาต่ำกว่า 10 ไร่ ร้อยละ 43.1 ขนาดของสระน้ำมีความจุระหว่าง 1,260 ลูกบาศก์เมตร ถึง 6,000 ลูกบาศก์เมตร ร้อยละ 65.0 เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยต่อปีมากกว่า 40,001 บาท ร้อยละ 60.2 เกษตรกรที่เป็นเครือข่ายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 67.2 และเป็นสมาชิกนอกเครือข่ายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 27.4 2. เกษตรกรในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่มีการวางแผนจัดการฟาร์มด้านเงินทุน ด้านการตลาดสินค้าเกษตร และด้านแรงงาน มีระดับการปฏิบัติอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ส่วนด้านการผลิตและการลดต้นทุนการผลิตและด้านการใช้ที่ดินมีระดับการปฏิบัติอยู่ในเกณฑ์มาก 3. ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกกับการวางแผนในการจัดการฟาร์มของเกษตรกรโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจัยภายในด้านความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่ทำการเกษตรพบว่าพื้นที่สวนผสมความสัมพันธ์กันน้อย กับการวางแผนด้านการตลาดสินค้าเกษตรและด้านแรงงานที่ระดับนัยสำคัญ .05 และมีความสัมพันธ์กันน้อยในทางตรงกันข้ามกับการวางแผนด้านการใช้ที่ดิน พื้นที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์มีความสัมพันธ์กันน้อยกับการวางแผนด้านเงินทุนการวางแผนด้านการตลาดสินค้าเกษตร และการวางแผนด้านแรงงาน และด้านความพร้อมของครอบครัว พบว่าอายุของเกษตรกรมีความสัมพันธ์กันน้อยในทางตรงข้ามกับการวางแผนด้านการตลาดสินค้าเกษตรและด้านแรงงานที่ระดับนัยสำคัญ .01 ปัจจัยภายนอกด้านสภาพการเป็นเครือข่ายของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์หรือสภาพการเป็นสมาชิกนอกเครือ ข่ายที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับการวางแผนในการจัดการฟาร์มด้านเงินทุน ด้านการผลิตและการลดต้นทุนการผลิต ด้านการตลาดสินค้าเกษตร ด้านการใช้ที่ดิน และด้านแรงงาน 4. เปรียบ เทียบความแตกต่างระหว่างการวางแผนในการจัดการฟาร์มของเกษตรกร โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงพอเพียงกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 5 ด้านพบว่าด้านการผลิตและการวดต้นทุนการผลิต ด้านการตลาดสินค้าเกษตร และด้านแรงงาน ทั้ง 4 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก้ ไทยเขมร ไทยลาว ไทยโคราช และไทยกูย มีความแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .01 ส่วนด้านเงินทุนและด้านการใช้ที่ดินไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มชาติพันธ์ 5. โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามทัศนะของเกษตรกรที่ร่วมโครงการพบว่าโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมด้านดิน น้ำ อากาศ พืช และสัตว์ดีขึ้นทุกครอบครัว ด้านเศรษฐกิจก็ส่งผลในทำนองเดียวกัน ด้านสังคมครอบครัวมีสภาพดีขึ้น  
13.3 โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ : กรณีศึกษาจังหวัดชัยภูมิ 
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของรายได้ที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่.และประสิทธิภาพการผลิตที่เกิดขึ้นจาการเปลี่ยนแปลงแนวทางการผลิตเชิงเดี่ยว ที่ไม่มีรูปแบบแน่นอน มาเป็นการผลิตภายใต้ความหลากหลายทางการผลิต โดยพิจารณาเฉพาะประสิทธิภาพการผลิตที่ไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิตของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะหรือข้อสรุปสำหรับการดำเนินโครงการโดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดชัยภูมิและศึกษาในรูป แบบการวิเคราะห์เชิงปริมาณและเชิงพรรณนา ผลการศึกษาสรุปได้ว่าภายหลังเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรมีการดำเนินกิจกรรมทางการผลิตเพิ่มขึ้นในทุกกิจกรรม มีรายได้รวมจากผลการผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการผลิตตามรูปแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่.ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในแปลงอย่างเต็มประสิทธิภาพ และในภาพรวมภายหลังเข้าร่วมโครงการเกษตรกรมีรายได้และรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน จากการดำเนินกิจกรรมทางการผลิตในพื้นที่โครงการเพิ่มสูงขึ้น อัตราการเปลี่ยน แปลงรายได้ของเกษตรกรส่วนมากมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นในกิจกรรมการปลูกข้าว เนื่อง จากเกษตรกรลดการปลูกข้าวลงเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตในแปลงของเกษตรกร กิจกรรมที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากที่สุด เรียงตามลำดับได้แก่ ประมง และปศุสัตว์ สำหรับอัตราการเปลี่ยนแปลงรายจ่ายหลังร่วมโครงการส่วนใหญ่ จะมีอัตราการเปลี่ยนแปลงรายจ่ายด้านพืชที่ลดลงจากการเพิ่มความหลากหลายทางการผลิต นอกจากนี้เกษตรกรยังมีการกู้เงินเพิ่มเติมภายหลังร่วมโครง การเพื่อนำมาขยายกำลังผลิตของตนเอง ภายหลังเข้าร่วมโครงการเกษตรกรมีความหลากหลายทางการผลิตเพิ่ม ขึ้นร้อยละ 62.22 และในด้านประสิทธิภาพทางการผลิตที่ไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิต (Total Factor Productivity : TFP) มีเกษตรกรร้อยละ 30 ที่มี TFP เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม โดยมีเกษตรที่มีทั้งความหลากหลายทางการผลิตและรายได้เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 37.78 มีทั้งความหลากหลายทางการผลิตและ TFP เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 15.56 มีทั้งรายได้ และ TFP เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 13.33 และมีเกษตรกรที่มีทั้งความหลากหลายทางการผลิต รายได้ และ TFP เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 11.11 โดยจะมีเกษตรที่ไม่มีการเพิ่มสูงขึ้นทั้งความหลากหลายทางการผลิตรายได้และ TFP ร้อยละ 17.78 

14. แนวทางการพัฒนาชีวิตและอาชีพตามแนวทฤษฎีใหม่
ประเทศไทย  เป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้นฝนตกค่อนข้างชุก  มีค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ประมาณ  1,500  มิลลิเมตร  และมีฤดูฝนนานประมาณ  5 - 6  เดือน  ในอดีตเมื่อป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่  น้ำฝนส่วนหนึ่งจะถูกดูด ซับไว้ในป่า  ส่วนหนึ่งจะไหลลงสู่ใต้ดินอีกส่วนหนึ่งจะถูกเก็บกักไว้ตามที่ลุ่ม  เช่น  ห้วย  หนอง  คลอง  บึง  ตามธรรมชาติ  ส่วนที่เหลือจะระเหยสู่บรรยากาศและไหลลงสู่ลำห้วย  ลำธาร  แม่น้ำ  และออกสู่ทะเล  น้ำที่ถูกเก็บกักไว้ในป่า และในแหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้จะค่อยๆ ไหลซึมซับออกมาทีละน้อยตลอดปี  ส่วนที่ขังอยู่ในหนอง  คลอง บึง  และแอ่งน้ำต่างๆ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในช่วงฤดูแล้ง ต่อมาระบบนิเวศน์เปลี่ยนไปป่าไม้ถูกทำลายถูกถากถางเพื่อการเกษตรและกิจกรรมต่างๆ ห้วย  หนอง  คลอง บึงสาธารณะจะตื้นเขิน  และถูกบุกรุกเข้าถือครองกรรมสิทธิ์  บริเวณทางระบายน้ำออกสู่ทะเลตามธรรมชาติถูกใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคาร  ถนน  ทางรถไฟ  บ่อเลี้ยงกุ้ง  เลี้ยงปลา  และอื่น ๆ  เมื่อฝนตกลงมาน้ำไหลสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีที่เก็บกัก  แต่เมื่อกระทบสิ่งกีดขวางก็ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรง  เมื่อน้ำท่าไหลลงทะเลหมดและไม่มีน้ำจากป่ามาเติม  แหล่งน้ำตามธรรมชาติก็เหือดแห้ง จึงทำให้เกิดแห้งแล้งและขาดน้ำอุปโภคบริโภคอยู่เสมอ เกษตรกรที่อยู่ในสภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะชาวนาที่อยู่ในเขตใช้น้ำฝนจึงได้รับความเดือดร้อน  ผลิตผลเสียหายเป็นประจำและไม่พอเลี้ยงชีพ  ต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานไปหารายได้ในเมืองใหญ่ ๆ  และเกิดปัญหาด้านสังคมตามมา
                             นับตั้งแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อปีพุทธศักราช  2489  เป็นต้นมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จแปรพระราชฐานและเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกรทั่วราชอาณาจักรเรื่อยมา  พระองค์ได้ประสบกับสภาพดิน  ฟ้า  อากาศและภูมิประเทศในภูมิภาคต่างๆ  และทอดพระเนตรความทุกข์ยากแร้นแค้น  ตลอดจนปัญหาอุปสรรคในการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วประเทศด้วยพระองค์เอง ทรงตระหนักถึงปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้อย่างถ่องแท้ และได้ทรงมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไข เพื่อบรรเทาปัญหาเหล่านี้โดยเฉพาะ โครงการอนุรักษ์ ป่าไม้ต้นน้ำลำธาร  และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดต่างๆ  จำนวนมากสำหรับในด้านการพัฒนาอาชีพของประชาชนในชนบท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ได้พระราชทานแนวทางครั้งสำคัญเมื่อปี  พ.ศ.2532  ซึ่งต่อมาประชาราษฎร์ได้รู้จักกันอย่างดีในนามเกษตร  "ทฤษฎีใหม่"  แนวทางการพัฒนาชีวิตและอาชีพตามแนวทฤษฎีใหม่นี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทาน พระราชดำริไว้  3  ขั้นคือ  ขั้นที่  1  การผลิต  ขั้นที่  2  การรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์  และขั้นที่  3 การร่วมมือกับแหล่งเงิน  (ธนาคาร)  และกับแหล่งพลังงานอีกด้วย 

15. การบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรตามพระราชดำริตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่
ในทุกคราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้น ได้ทรงถามเกษตรกรและทอดพระเนตรพบสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการปลูกข้าวและเกิดแรงดลพระราชหฤทัย อันเป็นแนวคิดขึ้นว่า
1.)ข้าวเป็นพืชที่แข็งแกร่งมากหากได้น้ำเพียงพอจะสามารถเพิ่มปริมาณเม็ดข้าวได้มากยิ่งขึ้น
2.)หากเก็บน้ำฝนที่ตกลงมาไว้ได้แล้ว นำมาใช้ในการเพาะปลูกก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้มากขึ้นเช่นกัน
                             3.การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่นับวันแต่จะยากที่จะดำเนินการได้เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนและข้อจำกัด ของปริมาณที่ดิน เป็นอุปสรรคสำคัญ
                             4.หากแต่ละครัวเรือนมีสระน้ำประจำไร่นาทุกครัวเรือนแล้วเมื่อรวมปริมาณกันก็ย่อมเท่ากับปริมาณในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่สิ้นค่าใช่จ่ายน้อยและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยตรงมากกว่า
                             ในเวลาต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริให้ทำการทดลอง "ทฤษฎีใหม่" เกี่ยวกับการจัดการที่ดินและแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรขึ้น ณ วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี แนวทฤษฎีใหม่กำหนดขึ้นดังนี้ ให้แบ่งพื้นที่ถือครองทางการเกษตร ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเกษตรกรไทย มีเนื้อที่ดินประมาณ 10-15 ไร่ต่อครอบครัว แบ่งออกเป็นสัดส่วน 30-30-30-10 คือ ส่วนแรก : ร้อยละ 30 เนื้อที่เฉลี่ย 3 ไร่ ให้ทำการขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก โดยมีความลึกประมาณ 4 เมตร ซึ่งจะสามารถรับน้ำได้จุถึง 19,000 ลูกบาศก์เมตร โดยการรองรับจากน้ำฝน ราษฎรจะสามารถนำน้ำนี้ไปใช้ในการเกษตรได้ตลอดปีและยังสามารถเลี้ยงปลาและปลูกพืชน้ำ พืชริมสระ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนที่สอง : ร้อยละ 60 เนื้อที่เฉลี่ย ประมาณ 10 ไร่ เป็นพื้นที่ทำการเกษตรปลูกพืชผลต่าง ๆ โดยแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ร้อยละ 30 ในส่วนที่หนึ่ง : ทำนาข้าว ประมาณ 5 ไร่ ร้อยละ 30 ในส่วนที่สอง : ปลูกพืชไร่หรือพืชสวนตามแต่สภาพของพื้นที่และ ภาวะตลาด ประมาณ 5 ไร่
                             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคำนวณโดยใช้หลักเกณฑ์ว่า ในพื้นที่ทำการเกษตรนี้ต้องมีน้ำใช้ใน ช่วงฤดูแล้ง ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ถ้าหากแบ่งแต่ละแปลงเกษตรให้มีเนื้อที่ 5 ไร่ ทั้ง 2 แห่งแล้ว ความต้องการน้ำจะต้อง ใช้ประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะต้องเป็นน้ำสำรองไว้ใช้ในยามฤดูแล้ง ส่วนที่สาม : ร้อยละ 10 เป็นพื้นที่ที่เหลือ มีเนื้อที่เฉลี่ยประมาณ 2 ไร่ จัดเป็นที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง คันคูดินหรือคูคลอง ตลอดจนปลูกพืชสวนครัวและเลี้ยงสัตว์
                             พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริอันเป็นหลักปฏิบัติสำคัญยิ่งในการดำเนินการ คือ
                             1.วิธีการนี้สามารถใช้ปฏิบัติได้กับเกษตรกรผู้เป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีพื้นที่ดินจำนวนน้อย แปลงเล็ก ๆ ประมาณ 15 ไร่ (ซึ่งเป็นอัตราถือครองเนื้อที่การเกษตรโดยเฉลี่ยของเกษตรกรไทย)
                             2.มุ่งให้เกษตรกรมีความพอเพียงในการเลี้ยงตัวเองได้ (Self Sufficiency) ในระดับชีวิตที่ประหยัดก่อน โดยมุ่งเน้นให้เห็นความสำคัญของความสามัคคีกันในท้องถิ่น
                             3. กำหนดจุดมุ่งหมายให้สามารถผลิตข้าวบริโภคได้เพียงพอทั้งปี โดยยึดหลักว่าการทำนา 5 ไร่ของครอบครัวหนึ่งนั้น จะมีข้าวพอกินตลอดปีซึ่งเป็นหลักสำคัญของทฤษฎีใหม่นี้ นอกจากนี้ยังทรงคำนึงถึงการระเหยของน้ำในสระหรืออ่างเก็บน้ำลึก 4 เมตร ของเกษตรกรด้วยว่า ในแต่ละวันที่ไม่มีฝนตกคาดว่าน้ำระเหยวันละ 1 ซม. ดังนั้น เมื่อเฉลี่ยว่าฝนไม่ตกปีละ 300 วันนั้น ระดับน้ำในสระจะลดลง 3 เมตร จึงควรมี การเติมน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากน้ำเหลือก้นสระเพียง 1 เมตร เท่านั้น ดังนั้น การมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อคอยเติมน้ำในสระเล็ก จึงเปรียบเสมือนมีแท้งค์น้ำใหญ่ ๆ ที่มีน้ำสำรองที่จะเติมน้ำอ่างเล็กให้เต็มอยู่เสมอ จะทำให้แนวทางปฏิบัติสมบูรณ์ขึ้น กรณีของการทดลองที่วัดมงคลชัยพัฒนา ทรงเสนอวิธีการดังนี้ จากภาพตุ่มน้ำเล็กคือสระน้ำที่ราษฎรขุดขึ้นตามทฤษฎีใหม่นี้ เมื่อเกิดช่วงขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ราษฎรก็สามารถ สูบน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ และหากน้ำในสระไม่เพียงพอก็ขอรับน้ำจากอ่างห้วยหินขาว ซึ่งได้ทำระบบส่งน้ำเชื่อมต่อลงมายังสระน้ำที่ได้ขุดไว้ในแต่ละแปลงซึ่งจะช่วยให้สามารถมีน้ำใช้ตลอดปี ในกรณีราษฎรใช้น้ำกันมากอ่างห้วยหินขาวก็อาจมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ หากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักสมบูรณ์แล้ว ก็ใช้วิธีการสูบน้ำจากป่าสักมาพักในหนองน้ำใดหนองน้ำหนึ่ง แล้วสูบต่อลงมาในอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว ก็จะช่วยให้มี ปริมาณน้ำใช้มากพอตลอดปี
                             ทฤษฎีใหม่จึงเป็นแนวพระราชดำริใหม่ ที่ได้รับการพิสูจน์และยอมรับกันอย่างกว้างขวางในหมู่เกษตรกรไทยแล้วว่าพระราชดำริของพระองค์เกิดขึ้นด้วยพระอัจฉริยภาพสูงส่ง ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริงความสมบูรณ์พูนสุขแห่งราชอาณาจักรไทยอุบัติขึ้นในครั้งนี้ ด้วยพระปรีชาสามารถอันเฉียบแหลมของพระ มหากษัตริย์ไทยผู้มิเคยทรงหยุดนิ่งที่จะระดมสรรพกำลังทั้งปวงเพื่อความผาสุขของชาวไทย 

16. ข้อสรุปและภาพรวมของเกษตรทฤษฎีใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำการศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มาเป็นเวลา นานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ในพื้นที่ส่วนพระองค์ขนาด 16 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวาใกล้วัดมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี และทรงมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาที่ทรงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมโครงการของรัฐ ทั้งนี้ก่อนที่จะทรงนำเอกสารออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2537 นั้น ทรงให้จัดตั้ง "ศูนย์บริหารพัฒนา" ตามแนวพระราชดำริ อยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเป็นต้นแบบสาธิตการพัฒนาด้านการ เกษตรโดยประสานความร่วมมือระหว่าง วัด ราษฎรและรัฐ ทำการเผยแพร่อาชีพการเกษตรและจริยธรรมแก่ประชาชนในชนบท โดยทรงหวังว่าหากประสบความสำเร็จก็จะใช้เป็นแนวทางสาธิตในท้องที่อื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาด้านการเกษตรนั้น ก็คือแนวคิดและมรรควิธีที่รู้จักกันในนาม "เกษตรทฤษฎีใหม่" พระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาคือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการดำเนินการทฤษฎีใหม่ ได้พระราชทานขั้นตอนดำเนินงาน ดังนี้
                             ขั้นที่ 1 ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น สถานะพื้นฐานของเกษตรกร คือ มีพื้นที่น้อย ค่อนข้างยากจน อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก โดยในขั้นที่ 1 นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต เสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท เป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ซึ่งหมายถึง พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ 30% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯ ได้ด้วย) พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย และพื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนเป็นระยะเวลาพอสมควรจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็จะพัฒนาตนเองจากขั้น "พออยู่พอกิน" ไปสู่ขั้น "พอมีอันจะกิน" เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไปตามลำดับ
                             ขั้นที่  2 ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกันดำเนินการในด้าน
                                            (1) การผลิต เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การหาน้ำ และอื่น ๆ เพื่อการเพาะปลูก
                                            (2) การตลาด เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดี และลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
                                            (3)ความเป็นอยู่ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควรโดยมี ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
                                            (4) สวัสดิการ แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิการและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้ให้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ
                                            (5) การศึกษา มีโรงเรียนและชุมชนมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง
                                            (6) สังคมและศาสนา ชุมชนควรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ
                             ขั้นที่ 3 ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้น ฐานะมั่นคงขึ้น เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้านเอกชน มาช่วยในการทำธุรกิจ การลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน  

17. ข้อเสนอแนะตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่
17.1 ทฤษฎีใหม่ : ขั้นที่หนึ่ง
พื้นฐานที่สำคัญของเกษตรกรที่จะปฏิบัติทฤษฎีใหม่ขั้นที่หนึ่ง ได้แก่ มีพื้นที่ค่อนข้างน้อย ประมาณ 15 ไร่ ค่อนข้างยากจน จำนวนสมาชิกปานกลาง (ไม่เกิน 6 คน) อยู่ในเขตใช้น้ำฝนธรรมชาติ ฝนไม่ชุกมากนัก ดินมีสภาพขุดสระเก็บกักน้ำได้ ในระยะแรกจะผลิตพอเพียงเลี้ยงตัวได้ แต่จะต้องกินอยู่อย่างประหยัด มีความขยันหมั่นเพียร มีความสามัคคี และช่วยเหลือเกื้อกูลกันกับเพื่อบ้าน หลักการที่สำคัญของการปฏิบัติคือรู้จักการบริหารและจัดการดินและน้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับการบริหารเวลา บริหารเงินทุน และกำลังคนเพื่อให้บังเกิดผลผลิตเป็นอาหารและรายได้ตลอดปี และผลจากการที่ได้ทรงคิดและคำนวณ พระองค์ได้ทรงแนะนำให้แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 : 30 : 30 : 10 และทำกิจกรรมดังนี้
                             1. ร้อยละ 30 ส่วนแรก ให้ขุดสระประมาณ 4-5 ไร่ สำหรับเก็บน้ำฝนธรรมชาติที่มีอย่างเหลือเฟือในฤดูฝนปกติ เพื่อใช้สำหรับรดน้ำพืชที่ปลูกในฤดูฝนยามเมื่อฝนทิ้งช่วงแห้งแล้ง การใช้น้ำจะต้องเป็นไปอย่างประหยัด โดยใช้วิธีการและเลือกพืชกับวิธีปลูกพืชแต่ละชนิดที่เหมาะสม วิธีการให้น้ำโดยประหยัด เช่น การตักรด การสูบส่งตามท่อยาง หรือการใช้ระบบน้ำหยดแบบพื้นบ้าน เป็นต้น ส่วนพืชและวิธีปลูกที่เหมาะสม เช่น เลือกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชยืนต้นหรือพืชอายุสั้น โดยปลูกผสมผสานกันหลายๆ ชนิด ระหว่างพืชต้นใหญ่และพืชล้มลุก เพื่อการใช้พื้นที่และน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีเสถียรภาพ น้ำที่เก็บในสระหากเหลือไปถึงฤดูแล้งให้ใช้ปลูกพืชอายุสั้นและราคาดี เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และผักต่างๆ ไม่ควรนำไปใช้ปลูกข้าวนาปรังเป็นอันขาด นอกจากปีใดน้ำท่วมแปลงข้าวเสียหายหมด จึงจะพิจารณาปลูกข้าวนาปรังได้เพื่อให้มีข้าวบริโภค แต่ต้องประมาณพื้นที่ปลูกข้าวให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในสระ รูปร่างและขนาดของสระอาจยืดหยุ่นได้บ้าง เช่น ในพื้นที่ที่ฝนมีปริมาณทั้งปีมาก หรือมีน้ำชลประทานมาเติมได้ ขนาดสระอาจจะน้อยกว่าร้อยละ 30 และถ้าพื้นที่บังคับหรือต้องการเลี้ยงสัตว์อาจขุดสระและบ่อหลายๆ บ่อก็ได้ แต่เมื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดแล้วจะต้องใกล้เคียงร้อยละ 30 นอกจากนี้อาจจะรวมนับพื้นที่ร่องน้ำที่ยกคันขึ้น เพื่อปลูกไม้ยืนต้นด้วยหากสามารถเก็บน้ำในร่องได้ตลอดปี ในกรณีที่สามารถส่งน้ำมาจากแหล่งชลประทานได้ ต้องส่งมาในระบบท่อปิดเพื่อลดการสูญเสีย และส่งมาเติมในสระตามช่วงเวลาที่จำเป็นเท่านั้น การใช้น้ำจากสระต้องเป็นไปตามหลักประหยัดและพึ่งตนเองให้มากที่สุด หากไม่ได้รับความช่วยเหลือการขุดสระจากราชการ หรือ แหล่งเงินทุนอื่น และต้องการขุดเอง ควรทยอยขุดสระแต่ละปีตามกำลังเงินและกำลังกายจนกว่าจะครบพื้นที่ร้อยละ 30 รูปร่างของสระคาดว่ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวๆ น่าจะลดการระเหยของน้ำได้ดีกว่าบ่อกว้าง ดินที่ขุดมาจากสระใช้ถมเป็นพื้นดินรอบพื้นที่เพื่อกันน้ำท่วม หากไม่ใช้ทำคันดินจะต้องแยกดินส่วนบนไว้ส่วนหนึ่ง สำหรับนำมาเกลี่ยทับดินชั้นล่าง
                             2. ร้อยละ 30 ส่วนที่สอง ใช้ปลูกข้าวเนื้อที่ประมาณ 4.5 ไร่ เนื่องจากทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ข้าวเป็นอาหารหลักและอาหาร  ประจำวันของคนไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์ และเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงและมั่นใจในการดำรงชีวิต เกษตรกรไทยไม่ว่าจะโยกย้ายไปอยู่ที่ใดหรือเปลี่ยนอาชีพไปอย่างใด อย่างน้อยจะต้องมั่นใจว่ามีข้าวกิน และพยายามปลูกข้าวให้พอกินตลอดปี เพื่อให้มีเสถียรภาพด้านอาหาร ครอบครัวที่มีสมาชิก 6 คน ถ้าบริโภคข้าวเฉลี่ยประมาณคนละ 200 กิโลกรัมต่อปี จะต้องบริโภคข้าวไม่ต่ำกว่าปีละ 1,200 กิโลกรัม และถ้าทำนาปีในสภาพที่ควบคุมน้ำไม่ให้ขาดช่วงได้เมื่อฝนแล้ง ก็จะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่าปีละ 4.5 x 325 = 1,462.5 กิโลกรัม แต่ถ้าบำรุงรักษาดีอาจจะมีผลผลิตเพิ่มมากกว่านี้ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วหากยังมีฝนและน้ำในสระเหลือ ควรเลือกปลูกพืชอายุสั้นและราคาดีในสภาพนาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
                             3. ร้อยละ 30 ส่วนที่ 3 เนื้อที่ 4.5 ไร่ ให้ปลูกพืชสวน ไม้ยืนต้น และพืชไร่อย่างผสมผสาน โดยมีวิธีการและชนิดของพืชที่แตกต่างกันหลากหลายกันไปแต่ละพื้นที่ และขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ภูมิภาค ฤดูกาล ตลาด และเส้นทางคมนาคม ตลอดจนประสบการณ์และภูมิปัญญาของเกษตรกร เป็นต้น ไม่มีสูตรตายตัว ยืดหยุ่นได้ การปลูกพืชให้หลากหลายเช่นนี้จะเป็นการช่วยการกระจายเงินทุน แรงงาน น้ำ และปัจจัยการผลิตต่างๆ กระจายความเสียหายจากศัตรูพืช และความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ตลอดจนกระจายรายได้ด้วยพืชที่ควรปลูกระยะแรกควรเป็นกล้วย เพื่อบังร่มและเก็บความชื้นในดิน ต่อไปควรเป็นผลไม้และไม้ยืนต้น ระหว่างที่ไม้ยืนต้นยังไม่โตก็ปลูกพืชล้มลุกอายุสั้นระหว่างแถว เช่น พริก มะเขือ ถั่วต่างๆ จนกว่าจะปลูกไม่ได้ จึงเปลี่ยนไปปลูกไม้ทนร่ม เช่น ขิง ข่า และพืชหัว เป็นต้น พื้นที่ปลูกพืชผสมผสานเหล่านี้มีพื้นที่รวมกันประมาณ 4.5 ไร่ แต่ในบางท้องที่ขนาดของสระและพื้นที่ปลูกข้าวรวมกันอาจน้อยกว่า 9 ไร่ พื้นที่ที่ลดลงอาจใช้ปลูกพืชผสมได้ รวมทั้งบริเวณรอบที่อยู่อาศัย คันดิน ทางเดิน และขอบสระ อาจใช้ปลูกพืชต่าง ๆ ได้ นับพื้นที่รวมกันเป็นพื้นที่ปลูกพืชผสม พืชผสมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้เป็นอาหารประจำวัน ได้แก่ ผัก ผลไม้ สมุนไพร และเครื่องเทศ ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทยที่กินกับข้าวมาเป็นเวลาช้านาน เช่นเดียวกับข้าวและปลา โดยเฉพาะพืชผักพื้นเมือง ปัจจุบันมีมากกว่า 160 ชนิด บางชนิดมีพบทั่วทุกภาค บางชนิดมีเฉพาะภาค ส่วนที่เหลือก็สามารถจำหน่ายเป็นรายได้ ตัวอย่างของพืชที่ควรเลือกปลูก ได้แก่
                                            1.  พืชสวน (ไม้ผล) เช่น มะม่วง มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน มะพร้าวน้ำหอม มะขาม ขนุน ละมุด ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ส้มโชกุน ฝรั่ง น้อยหน่า กระท้อน มะละกอ ชมพู่ และกล้วย เป็นต้น
                                            2.  พืชสวน (ผักยืนต้น) เช่น แคบ้าน มะรุม สะเดา ชะอม ขี้เหล็ก ผักหวาน กระถิน เหลียง เนียง สะตอ ทำมัง ชะมวง มันปู มะอึก มะกอก ย่านาง ถั่วมะแอะ ตำลึง ถั่วพู และมะเขือเครือ เป็นต้น
                                            3.  พืชสวน (ผักล้มลุก) เช่น พริก กระเพรา โหระพา ตะไคร้ ขิง ข่า กระชาย ชะพลู แมงลัก สะระแหน่ บัวบก มันเทศ มันสำปะหลัง เผือก บุก ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม มะเขือ ฟักเขียว ฟักทอง ผักบุ้งไทย บักบุ้งจีน ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักไผ่ หอม กระเทียม และมะละกอ เป็นต้น
                                            4.  พืชสวน (ไม้ดอกและไม้ประดับ) เช่น มะลิ ดาวเรือง บานไม่รู้โรย กุหลาบ รัก ซ่อนกลิ่น ปทุมมา กระเจียว และดอกไม้เพื่อทำดอกไม้แห้ง เป็นต้น
                                            5.  เห็ด เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ เป็นต้น
                                            6. สมุนไพรและเครื่องเทศ บางชนิดจัดอยู่ในกลุ่มพืชผักแล้ว เช่น พริก พริกไทย กระเพรา สะระแหน่ แมงลัก และตะไคร้ เป็นต้น แต่ยังมีบางประเภทที่ใช้เป็นยารักษาโรคและน้ำมันหอม เช่น ขมิ้นชัน (โรคกระเพาะ) พญายอหรือเสลดพังพอน (โรคเริม) ไพล (ปวดเมื่อย) ฟ้าทะลายโจร (แก้ไข้) มะแว้ง (แก้ไข้และแก้ไอ) ชุมเห็ดและมะขามแขก (ยาระบายอ่อนๆ) ทองพันชั่ง (ความดันสูง) กระเทียม (ความดันสูง) ตะไคร้หอม (ยากันยุง) และแฝกหอม เป็นต้น
17.2 ทฤษฎีใหม่ : ขั้นที่สอง
เมื่อเกษตรกรดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นต้น หรือขั้นที่ 1 คือการผลิตอาหารเพื่อบริโภคจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เกษตรกรมีอาหารไว้บริโภคในครอบครัวอย่างเพียงพอ และสามารถช่วยตัวเองได้แล้ว ขั้นต่อไปที่จะต้องดำเนินการต่อก็คือ การรวมพลังกันในรูปของกลุ่มหรือสหกรณ์ เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
                             1.การผลิต ในกระบวนการผลิตทางการเกษตรนั้นเกษตรกรสามารถที่จะดำเนินการร่วมกันในหลายๆ ด้าน ดังนี้
1.1 การร่วมมือกันในด้านพันธุ์พืช พันธุ์พืชเป็นปัจจัยปลักอย่างหนึ่งในการประกอบอาชีพการเกษตร หากมีการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันภายในชุมชนแล้ว จะทำให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนในการประกอบอาชีพ และจะทำให้การประกอบอาชีพนั้นประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
                                            1.2 การร่วมมือกันในการเตรียมดิน การเตรียมดินก่อนการปลูกพืชเป็นงานที่สำคัญอย่างหนึ่ง หากเกษตรกรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนเครื่องมืออุปกรณ์และแรงงานกัน ดังที่เกษตรกรทั่วไปเรียกว่า เอาแรงกัน จะทำให้ประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่าย
                                            1.3 การร่วมมือกันทำงาน เช่น การดำนา การหว่านเมล็ด หรือการปลูกพืช การกำจัดวัชพืช การเก็บเกี่ยวผลิตผล กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ควรช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมมือร่วมแรงกัน ดังกรณีประเพณี การลงแขก ของชาวนาไทยในอดีต    
                                1.4 การช่วยเหลือกันในการจัดการแหล่งน้ำ หากมีการช่วยเหลือกันในการขุดสระน้ำ หรือในกรณีที่ขาดน้ำ มีการแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะเป็นการแก้ปัญหาหรือลดปัญหาในการขาดแคลนน้ำได้
                              2. การตลาด ทฤษฎีใหม่ในขั้นนี้เป็นขั้นที่มีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเกษตรกรสามารถผลิตได้มากกว่าปริมาณที่ใช้ในการบริโภค ส่วนที่เหลือก็สามารถนำไปจำหน่ายได้ดังนั้นเกษตรกรควรมีการร่วม มือร่วมใจกันในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
2.1 ลานตากข้าว ลานตากข้าวเป็นเรื่องจำเป็น เพราะถ้าหากหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้วไม่ตากให้แห้งจะทำให้ข้าวมีความชื้นสูง ทำให้ขายได้ในราคาต่ำ แต่การที่จะทำลานตากข้าวนั้น เกษตรกรมักประสบกับปัญหาอยู่เสมอ เช่น มีปัญหาเรื่องเงิน แรงงาน หรือแม้แต่พื้นที่ที่จะใช้ทำลานตากข้าว เนื่องจากเกษตรกรมีพื้นที่จำกัด ดังนั้นเกษตรกรควรร่วมมือกันในการจัดทำและใช้ลานตากข้าวร่วมกัน โดยกำหนดระยะเวลาการใช้ให้เหมาะสม เช่น กำหนดระยะเวลาเก็บเกี่ยวและตากข้าวไม่พร้อมกัน ถ้าหากทำเช่นนี้จะทำให้เกษตรกรประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่าย จะทำให้มีรายได้สูงขึ้น
2.2 ยุ้งข้าวหรือยุ้งฉางเก็บรักษาเมล็ดพืชไร่ ยุ้งฉางมีไว้เพื่อเก็บรักษาผลิตผลในกรณีที่ยังไม่พร้อมที่จะขาย หรือในช่วงที่มีราคาตกต่ำ เกษตรกรในชุมชนควรร่วมมือร่วมใจกัน ช่วยเหลือและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันเช่นเดียวกับกรณีของลานตากข้าว
                                            2.3 เครื่องสีข้าว เกษตรกรควรรวมกลุ่มกันเพื่อจัดหาหรือจัดตั้งเครื่องสีข้าว สำหรับใช้ในชุมชนของตนเอง จะทำให้ขายข้าวได้ในราคาสูง เพราะเป็นการขายให้โรงสีของตนเอง ไม่ต้องขายให้พ่อค้าคนกลาง และยังสามารถสีข้าวไว้บริโภคเอง เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย
                                            2.4 การจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรร่วมกัน หลังจากที่เกษตรกรผลิตสินค้าทางการเกษตรได้แล้ว หากเกษตรกรนำมาจำหน่ายร่วมกันในรูปของกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ เกษตรกรก็จะสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง เนื่องจากการจำหน่ายในลักษณะเช่นนี้ เป็นการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้การรวมกลุ่มกันจะทำให้มีพลังในการต่อรอง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดราคาจากผู้ซื้อ      
                3. ความเป็นอยู่ ในด้านสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนนั้น เกษตรกรควรพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐาน จำพวกอาหารการกิน เช่น พริก เกลือ น้ำปลา กะปิ น้ำมันพืช หรือแม้แต่เสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มก็สามารถแลกเปลี่ยนหรือแบ่งปันกันได้
                             4. สวัสดิการ ในแต่ละชุมชนควรจัดตั้ง จัดหาสวัสดิการต่างๆ สำหรับชุมชน เช่น กองทุนเงินกู้ยืมสำหรับสมาชิก รวมทั้งการบริการในด้านสุขอนามัยในชุมชน สวัสดิการต่างๆ เหล่านี้เกษตรกรจะต้องร่วมมือร่วมใจกันจัดตั้งขึ้น เพื่อให้เป็นสวัสดิการภายในชุมชน
                             5. การศึกษา การศึกษาจะเป็นส่วนช่วยให้สังคมและชุมชนอยู่อย่างมั่นคงและมีความสุข ดังนั้นเกษตรกรที่ร่วมดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ควรมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา เช่น จัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา จัดหาวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่จำเป็นไว้บริการภายในชุมชน เพื่อประโยชน์ในการเล่าเรียนของบุตรหลานเกษตรกรเอง
                             6. สังคมและศาสนา ชุมชนจะอยู่อย่างสงบสุขได้จะต้องมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เช่น การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสมบัติ เช่น วัด โรงเรียน ตลาด ตลอดจนแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง สิ่งอำนวยประโยชน์เหล่านี้ หากเกษตรกรในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาให้มีสภาพดีแล้ว ชุมชนก็สามารถใช้ร่วมกันและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
                             กล่าวโดยสรุป ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สองก็คือ การเกษตรก้าวหน้า หรือเกษตรออมทรัพย์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ครอบครัวเกษตรกร ชุมชนเกษตรกรทุกระดับร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการบริหารและจัดการพื้นที่ทำการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเกษตรกร บุคลากร ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม ร่วมคิด ร่วมทำ และประสานงาน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการเกษตรยั่งยืน 
17.3 ทฤษฎีใหม่ : ขั้นที่สาม
                               หลังจากที่ชุมชนรวมพลัง ร่วมแรง ร่วมใจกัน ดำเนินงานจนเกิดประสิทธิผล และสังคมอยู่อย่างอบอุ่น มั่นคง และมีความสุขไปแล้ว ในขั้นที่ 3 ของทฤษฎีใหม่นี้จะเป็นขั้นที่นำไปสู่ธุรกิจชุมชน เพื่อให้สภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชุมชนดียิ่งขึ้น ขั้นนี้จึงเป็นขั้นตอนของการติดต่อประสานงานกับแหล่งเงินทุน เพื่อนำเงินมาใช้กับกิจกรรมต่างๆ ของเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาให้การดำเนินงานก้าวหน้ายิ่งขึ้น แหล่งเงินทุนที่สามารถติดต่อได้ เช่น ธนาคาร บริษัท ห้างร้านเอกชน รวมทั้งองค์กรและมูลนิธิต่างๆ ในการติดต่อประสานงานระหว่างเกษตรกรและแหล่งเงินทุนนี้ จะเป็นการเอื้อและประสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน คือ
                             ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ ได้แก่
1. สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาสูง เนื่องจากไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เพราะเป็นการจำหน่ายแก่ผู้ซื้อโดยตรง
                                            2. ซื้อวัสดุอุปกรณ์การเกษตรได้ในราคาถูก เนื่องจากเป็นการซื้อในราคาขายส่ง เพราะซื้อผ่านกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์
ประโยชน์ที่แหล่งเงินทุนจะได้รับ ได้แก่
                                            1. ซื้อผลผลิตการเกษตรได้ในราคาต่ำ เนื่องจากเป็นการรับซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องซื้อผ่านพ่อค้าคนกลาง
2. สามารถกระจายบุคลากรได้มากขึ้นเนื่องจากในแหล่งชุมชนนั้นมีกิจการของแหล่งเงินทุนดำเนินปการอยู่ จึงทำให้สามารถ ขยายกิจการ เพิ่มงานและเพิ่มบุคลากรได้มากยิ่งขึ้น
                              หากกล่าวโดยสรุป ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 คือการดำเนินการ เพื่อให้เกษตรกรมั่งคั่ง มั่นคงและสามารถบริหารจัดการการประกอบอาชีพ ทั้งภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีการ เกษตรระดับนานาชาติอย่างเท่าเทียมกับภูมิภาคต่างๆ ของโลก พระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นนักปราชญ์ในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มิใช่แต่เพียงทรงมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเชิงทฤษฎี แต่ทรงเป็นนักปฏิบัติซึ่งทำให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยในหลักการและความมุ่งหมายอย่างลึกซึ้ง จึงทรงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาที่เป็นผลดีทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน แนวพระราชดำริและโครงการต่างๆ เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงมีพระราชปณิธานให้ประชาชนรู้จักการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่าง "เกื้อกูล" เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยา กรธรรมชาติอย่างมีคุณค่าทรงมุ่งหวังให้คนไทยมีฐานะพอมีพอกินบนฐานเศรษฐกิจพอเพียง แม้ทำได้เพียงบางส่วนก็มีประ โยชน์มาก ให้ "รู้รักสามัคคี" แบ่งปันและร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อความเจริญของส่วนรวม และให้บูรณาการวิชาการด้านต่างๆ ในการพัฒนาชีวิตของตนเองครอบครัวชุมชน และประเทศตามลำดับพื้นฐานของการศึกษาการค้นคว้าการทดลอง การวิจัยและพัฒนาด้วยหลักวิชาการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
                                แนวพระราชดำริที่แปรเป็นโครงการที่เป็นรูปธรรมต่างๆ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยตื่นตัวในการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างคนไทยกับธรรมชาติอย่างสอดคล้องกันการเกษตรกรรมของไทยในอดีต เป็นกิจกรรมที่ต้องพึ่งพาสมดุลของทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้ระบบการเกษตรของไทย เปลี่ยนจากการผลิตที่หลากหลายเพื่อยังชีพ มาเป็นการผลิตเพื่อการค้ามากขึ้น  เกิดการค้นพบพืชพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง มีการนำเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาใช้แทนแรงงานคนและสัตว์ มีการใช้ปุ๋ย และสารเคมีต่างๆ  เพื่อความสะดวกสบายและตอบสนองต่อความต้องการของตลาดส่งออก อย่างไรก็ตามการที่มุ่งผลิตพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง เป็นจำนวนมากทำให้เกิดรูปแบบทางการเกษตรที่ไม่หลากหลาย และไม่ยั่งยืนทางการผลิต เกิดการขาดแคลน และไม่สามารถควบคุมปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานต่างๆได้ เช่น เรื่องน้ำและปุ๋ย การขาดการจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสม สะท้อนให้เห็นถึงการขาดสมดุลของระบบนิเวศ ทั้งยังส่งผลกระทบด้านสุขภาพแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติจากการทำการเกษตรในปัจจุบัน พบว่ามีการพังทะลายของดินและดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ เกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อมจากการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลา นานมีการแพร่ระบาดของโรคแมลงจากการปรับตัวต้านทานสารเคมี และทำลายแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อไร่นานอกจากนี้ยังพบปัญหาการทำลายแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ จากการบุกรุกเพื่อขยายพื้นที่ ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ สัตว์ป่า และพืชสมุนไพร เป็นต้น
                                การนำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ  มาใช้จึงหมายถึง หลักการและแนวทางปฏิบัติในการใช้ที่ดิน และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินถือครองขนาดเล็ก ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยระบบการเกษตรยั่งยืน อันจะทำให้เกษตรกรรายย่อยดังกล่าว "มีพออยู่ พอกิน ถึงแม้ไม่รวยมาก แต่ก็มีพออยู่พอกิน ไม่อดอยาก" โดยการแบ่งที่ดินถือครองออกเป็นส่วนต่างๆอย่างเหมาะสม กล่าวคือ ส่วนที่ใช้สำหรับขุดสระน้ำสำหรับเลี้ยงปลาและเก็บกักน้ำที่เพียงพอใช้ในการเกษตรของพื้นที่ส่วนที่เหลือ ซึ่งใช้เป็นพื้นที่ทำนาข้าว ปลูกพืชไร่และไม้ผลยืนต้น รวมทั้งการปลูกพืชผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์บริเวณขอบสระน้ำด้วย 
 18. เอกสารอ้างอิง
18.1 ไม่ระบุชื่อผู้เขียน 2552.  เกษตรทฤษฎีใหม่.   ระบบออนไลน์: http://www.doae.go.th.
สืบค้นวันที่ 15 มกราคม 2553 เวลา 21.00 น. 5 หน้า
18.2 ไม่ระบุชื่อผู้เขียน 2552. เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ. ระบบออนไลน์ :
                http://www.panyathai.or.th. สืบค้นวันที่ 16 มกราคม 2553 เวลา 16.30 น. 2 หน้า
18.3 ไม่ระบุชื่อผู้เขียน 2551. เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ. ระบบออนไลน์ :
                http://www.northernstudy.org. สืบค้นวันที่ 16 มกราคม 2553 เวลา 17.45 น. 11 หน้า
18.4 กรมวิชาการเกษตร 2552. การเกษตรยั่งยืน. กรมวิชาการเกษตร (เอกสารโรเนียว) 5 หน้า
18.5 ไม่ระบุชื่อผู้เขียน 2551. เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง. ระบบออนไลน์ :
                http://www.kasetporpeang.com. สืบค้นวันที่ 18 มกราคม 2553 เวลา 19.30 น. 4 หน้า
18.6 ไม่ระบุชื่อผู้เขียน 2551. เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพ่อหลวง. ระบบออนไลน์ :
                http://www.swu.ac.th. สืบค้นวันที่ 18 มกราคม 2553 เวลา 20.10 น. 8 หน้า
18.7 ไม่ระบุชื่อผู้เขียน 2551. แนวคิดของเกษตรทฤษฎีใหม่. ระบบออนไลน์ http://www.bpp.go.th:
                สืบค้นวันที่ 18 มกราคม 2553 เวลา 20.10 น. 8 หน้า
18.8 ไม่ระบุชื่อผู้เขียน 2552. เกษตรทฤษฎีใหม่สำนักฟาร์มแม่โจ้. ระบบออนไลน์:
                http://www.fm100cmu.com. สืบค้นวันที่ 20 มกราคม 2553 เวลา 21.00 น. 3 หน้า
18.9 ลุงพรหม ใจเมคา 2552. เกษตรทฤษฎีใหม่บ้านเจดีย์แม่ครัว. ระบบออนไลน์:
                 http://www.rakbankerd.com. สืบค้นวันที่ 22 มกราคม 2553 เวลา 13.00 น. 5 หน้า
18.10 สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือก2551. เกษตรกรรมยั่งยืนวิถีเกษตรเพื่อความเป็นไท. มหกรรม
                เกษตรกรรมยั่งยืน: ฟื้นฟูวิถีชีวิตไท เพื่ออธิปไตยของชาติ (เอกสารโรเนียว) 3หน้า
18.11 สมพจน์ กรรณนุช 2551. เศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การ
                พัฒนา. ทุนสนับสนุนงานเขียนตำรา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร
                ศาสตร์ กรุงเทพ98 หน้า
18.12 ไม่ระบุชื่อผู้เขียน 2550. การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
                พอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 32 หน้า
18.13 ไม่ระบุชื่อผู้เขียน 2551. รายงานจาการดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจาก
                พระราชดำริ. (เอกสารโรเนียว) 13 หน้า
19. ภาคผนวก          
6.1 การแบ่งพื้นที่การเกษตร
ภาพ 6.1 การแบ่งพื้นที่การเกษตร


                                จากภาพ 6.1.1 จะเห็นว่าเป็นการแบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งขุดสระกักเก็บน้ำ จำนวน 30% ของพื้นที่ ส่วนที่สอง ปลูกข้าว จำนวน 30% ของพื้นที่ ส่วนที่สาม ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น และส่วนที่สี่ เป็น พื้นที่ที่ใช้สร้างสิ่งปลูกสร้างเช่น ที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ฉาง จำนวน 10% ของพื้นที่ จำนวนสัดส่วนของพื้นที่นี้ทั้งหมดสามารถปรับเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง
ภาพ 6.1.2 พื้นที่ส่วนที่หนึ่ง จำนวน 3.6 ไร่ (30%)


                                จาก ภาพ 6.1.2 ขุดสระกักเก็บน้ำจำนวน 2 สระ สามารถกักเก็บน้ำ ได้รวม 10,455 ลูกบาศก์เมตร เพียงพอ ต่อการนำน้ำมาใช้ ในการทำการเกษตรได้ทั้งปี

ภาพ 6.1.3 พื้นที่ส่วนที่สอง 3.6 ไร่ (30%)


                               จาก ภาพ 6.1.3 ปลูกข้าวเตรียมดิน หว่านกล้าและปักดำโดยใช้ข้าวจ้าวหอมมะลิ 105 ทำการกำจัดวัชพืชในนาข้าว โดยการถอน ใส่ปุ๋ยเคมี

ภาพ 6.1.4 พื้นที่ส่วนที่สาม 3.6 ไร่ (30%)


                                จาก ภาพ 6.1.4 ปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยแบ่งพื้นที่ปลูกดังนี้จำนวน 2 ไร่ ปลูกมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ จำนวน 50 ต้น พื้นที่จำนวน 0.5 ไร่ ปลูกกล้วยน้ำหว้า จำนวน 60 ต้น พื้นที่จำนวน 0.5 ไร่ ปลูกพืชผัก จำนวน 20 แปลง พื้นที่จำนวน 0.6 ไร่ ปลูกไม้ใช้สอย

 ภาพ 6.1.5 พื้นที่ส่วนที่สี่ 1.2 ไร่ (10%)


                                จาก ภาพ 6.1.5 พื้นที่ส่วนที่สี่ 1.2 ไร่ (10%) เป็นพื้นที่สร้างที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์ สร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ สร้างโรงเรือนเลี้ยงเป็ด สร้างโรงเรือนสุกร สร้างศาลาถ่ายทอดเทคโนโลยี

ภาพ 10.1 พื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน อันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านแดนสามัคคี อ.เขาวง
จ.กาฬสินธุ์







                                  จาก ภาพ 10.1 คือโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแดนสามัคคี อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์

ภาพที่ 18.1.1 ไร่นาสวนผสมรุ่งพิทักษ์เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริพระเจ้าอยู่หัว

              
                 จาก ภาพ 18.1.1  คือ ไร่นาสวนผสมรุ่งพิทักษ์เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริพระเจ้าอยู่หัว เป็นการทำการเกษตร กรรมแบบยั่งยืนและดำรงชีวิต โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ภาพ 18.1.2 กิจกรรมบางส่วน ของไร่นาสวนผสมรุ่งพิทักษ์




                                ภาพ 18.1.2 กิจกรรมประเพณีและวัฒนธรรมบรรยากาศยามเช้าที่เย็นสบาย กับทุ่งนาสีเขียวแหล่งท่องเที่ยวขจีของต้นไม้ใบหญ้า ณ สวนแห่งนี้ปลอดภัยจากสารเคมี   เพราะที่นี่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ คือไม่ใช้สารเคมีขับ เคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงแต่ใช้วัสดุธรรมชาติที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านเศรษฐกิจพอเพียง

ภาพ 18.2.2 โครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน ปี 2551




                                จาก ภาพ 18.2.2 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านเจดีย์แม่ครัว ม.3 ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เลขที่ 102 ม.3 ต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ คุณลุงพรหม ใจเมคา ประธานกลุ่มเกษตรทฤษฏีใหม่ฯ

ภาพ 18.3.3 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ชุมชนบ้านเจดีย์แม่ครัว ผู้นำชุมชน  นายพรหม ใจเมคา


จาก ภาพ 18.3.3 นายพรหม ใจเมคาประธานกลุ่มเกษตรทฤษฏีใหม่ บ้านเจดีย์แม่ครัว ม.3 ต.แม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่

ภาพ 18.5.5 บริเวณฟาร์มลุงชม ตามแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ ชุมชนบ้านเจดีย์แม่ครัว


                จาก ภาพ 18.5.5 พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ในบริเวณสวนลุงพรหม พื้นที่สระน้ำขนาด 1,260 ลบ.เมตร ที่มีการเลี้ยงปลา ต่างๆ คือปลานิล ปลาดุก และปลาตะเพียน ซึ่งมีการดูแลและให้อาหารโดยใช้วัตถุดิบ ในชุมชนเป็นการลดต้นทุนรวมถึงปลูกผักในบ่อปลาด้วย คือผักกะเฉดและผักบุ้ง เป็นการเพิ่มรายได้และใช้เนื้อที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

ภาพ 18.5.6 แหล่งเรียนรู้ที่ผู้สนใจด้านการเกษตรพอเพียงภายในสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้

                จาก ภาพ 18.5.6 แหล่งเรียนรู้ที่ผู้สนใจด้านการเกษตรพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่โดยเริ่มต้นมาจากโครงการพัฒนาบ้านโปงอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีงานวิจัยทางด้านงานเกษตรต่าง ๆ มาก มายและมี กิจกรรมหลากหลายทางด้านเกษตรกรรม






5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ28 ตุลาคม 2558 เวลา 01:01

    ครูธีรชลครับ ข้อมูลรูปภาพ 6.1 การแบ่งที่ดินทำกิน น่าจะตรวจเช็คหน่อยนะครับ

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  3. อยากแชร์ความรู้
    https://l.facebook.com/l.php?u=https%3A%2F%2Fyoutu.be%2F50s-9KFhWVA&h=ATPjWAdYgHUIv3zjKajey7HWUWZpVrN5UnesNjYp8vfY95RnapOzrVOruMuzkCTpBf6wDCncQEA6g5jvURtDVt51-mx1dR9vhaeu46bqI_PxLkKDpaT6O0NpFHWWuA6A187c&s=1

    ตอบลบ
  4. Jili Slot เป็นผู้ให้บริการเกมคาสิโนออนไลน์และก็สล็อตออนไลน์ มีเกมสนุกสนานๆให้เลือกเล่นมาก สามารถเข้าไปเล่น jili slot เล่นผ่านเว็บไซต์ของพวกเราได้เลย ที่เว็บไซต์ pgslot

    ตอบลบ
  5. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ