เรา บรรดาประชาชนของรัฐสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(อาเซียน) โดยมีประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของบรูไนดารุสซาลาม
ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย
สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย
และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นผู้แทน
รับทราบด้วยความพึงพอใจในความสำเร็จอย่างสูงและการขยายตัวของอาเซียนนับตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพมหานครด้วยการประกาศใช้ปฏิญญาอาเซียน
ระลึกถึงการตัดสินใจจัดทำกฎบัตรอาเซียน
ตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดทำกฎบัตรอาเซียน
และปฏิญญาเซบูว่าด้วยแผนแม่บทของกฎบัตรอาเซียน
ตระหนักถึงการมีผลประโยชน์ร่วมกันและการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างประชาชนและรัฐสมาชิกอาเซียนซึ่งมีความผูกพันกันทางภูมิศาสตร์
ตลอดจนมีวัตถุประสงค์เดียวกันและชะตาร่วมกัน
ได้รับแรงบันดาลใจและรวมกันภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกัน
อัตลักษณ์เดียวกัน และประชาคมที่มีความเอื้ออาทรเดียวกัน
รวมกันด้วยความปรารถนาเดียวกันและเจตจำนงร่วมกันที่จะดำรงอยู่ในภูมิภาคแห่งสันติภาพ
ความมั่นคงและเสถียรภาพที่ถาวร มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มีความมั่งคั่งและความก้าวหน้าทางสังคมร่วมกัน
และที่จะส่งเสริมผลประโยชน์ อุดมการณ์ และความมุ่งมาดปรารถนาที่สำคัญของเรา
เคารพความสำคัญพื้นฐานของมิตรภาพและความร่วมมือ
และหลักการแห่งอธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซงกัน
ฉันทามติและเอกภาพในความหลากหลาย
ยึดมั่นในหลักการแห่งประชาธิปไตย
หลักนิติธรรม และธรรมาภิบาล การเคารพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
ตกลงใจที่จะทำให้แน่ใจถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต
และ ตั้งมั่นให้ความเป็นอยู่ที่ดี การดำรงชีวิตและสวัสดิการของประชาชนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน
เชื่อมั่นในความจำเป็นที่จะกระชับสายสัมพันธ์ที่มีอยู่ของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระดับภูมิภาค
เพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่มีความเหนียวแน่นทางการเมือง การรวมตัวทางเศรษฐกิจ
และมีความรับผิดชอบทางสังคม
เพื่อที่จะตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อความท้าทายและโอกาสในปัจจุบันและอนาคต
ผูกพันที่จะเร่งสร้างประชาคมโดยผ่านความร่วมมือและการรวมตัวในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน
ซึ่งประกอบด้วยประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาบาหลีว่าด้วยข้อตกลงอาเซียนฉบับที่ 2
ในการนี้ จึงตกลงที่จะจัดทำกรอบทางกฎหมายและทางสถาบันของอาเซียนโดยกฎบัตรนี้
และเพื่อการนี้ ประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิกอาเซียน ซึ่งมาประชุมกันที่สิงคโปร์ ในวาระประวัติศาสตร์ครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ได้เห็นชอบกับกฎบัตรอาเซียนนี้
และเพื่อการนี้ ประมุขรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิกอาเซียน ซึ่งมาประชุมกันที่สิงคโปร์ ในวาระประวัติศาสตร์ครบรอบ 40 ปีของการก่อตั้งอาเซียน ได้เห็นชอบกับกฎบัตรอาเซียนนี้
หมวดที่ 1
ความมุ่งประสงค์และหลักการ
ข้อ 1 ความมุ่งประสงค์
ความมุ่งประสงค์ของอาเซียนคือ
1. เพื่อธำรงรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ
ความมั่นคง และเสถียรภาพ กับทั้งเสริมสร้างคุณค่าทางสันติภาพในภูมิภาคให้มากขึ้น
2. เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวยืดหยุ่นสู่สภาวะปกติของภูมิภาคโดยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง
ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
3. เพื่อธำรงรักษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และปราศจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอื่นๆ
ทุกชนิด
4. เพื่อทำให้แน่ใจว่าประชาชนและรัฐสมาชิกของอาเซียนอยู่ร่วมกับประชาคมโลกได้โดยสันติในสภาวะที่เป็นธรรม
มีประชาธิปไตยและและมีความปรองดองกัน
5. เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีเสถียรภาพ
มั่งคั่ง มีความสามารถในการแข่งขันสูง
และมีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจซึ่งมีการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุน การเคลื่อนย้ายที่ได้รับความสะดวกของนักธุรกิจ
ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษและแรงงาน และการเคลื่อนย้ายอย่างเสรียิ่งขึ้นของเงินทุน
6. เพื่อบรรเทาความยากจนและลดช่องว่างการพัฒนาภายในอาเซียนโดยผ่านความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความร่วมมือ
7. เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาล
และหลักนิติธรรม ตลอดจนส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิกของอาเซียน
8. เพื่อตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ
ต่อสิ่งท้าทายทุกรูปแบบ อาชญากรรมข้ามชาติ และสิ่งท้าทายข้ามพรมแดนอื่นๆ
9. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เพื่อทำให้แน่ใจว่า ในภูมิภาคมีการคุ้มครองสภาพแวดล้อม
ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
10. เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เพื่อเสริมสร้างพลังประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งประชาคมอาเซียน
11. เพื่อเพิ่มพูนความเป็นอยู่ที่ดีและการดำรงชีวิตของประชาชนอาเซียนด้วยการให้ประชาชนมีโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์
สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม
12. เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย
มั่นคง และปราศจากยาเสพติด สำหรับประชาชนของอาเซียน
13. เพื่อส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการรวมตัวและการสร้างประชาคมของอาเซียน
14. เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนโดยผ่านการส่งเสริมความสำนึกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกของภูมิภาคยิ่งขึ้น
และ
15. เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมและบทบาทเชิงรุกของอาเซียนในฐานะพลังขับเคลื่อนหลักในความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค
ในภาพแบบของภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใส และไม่ปิดกั้น
ข้อ
2
หลักการ
1. ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์ตามข้อ
1 อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนยืนยันและยึดมั่นในหลักการพื้นฐานที่ปรากฏในปฏิญญา
ความตกลง อนุสัญญา ข้อตกลง สนธิสัญญา และตราสารอื่นๆ ของอาเซียน
2. ให้อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนปฏิบัติตามหลักการดังต่อไปนี้
(ก) การเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค
บูรณภาพแห่งดินแดน และอัตลักษณ์แห่งชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
(ข) ความผูกพันและความรับผิดชอบร่วมกันในการเพิ่มพูนสันติภาพ
ความมั่นคงและความ มั่งคั่งของภูมิภาค
(ค) การไม่ใช้การรุกราน และการข่มขู่ว่าจะใช้หรือการใช้กำลังหรือการกระทำอื่นใดในลักษณะที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ
(ง) การอาศัยการระงับข้อพิพาทโดยสันติ
(จ) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน
(ฉ) การเคารพสิทธิของรัฐสมาชิกทุกรัฐในการธำรงประชาชาติของตนโดยปราศจากการแทรกแซง
การบ่อนทำลาย และการบังคับ จากภายนอก
(ช) การปรึกษาหารือที่เพิ่มพูนขึ้นในเรื่องที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียน
(ซ) การยึดมั่นต่อหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล
หลักการประชาธิปไตยและรัฐบาลตาม รัฐธรรมนูญ
(ฌ) การเคารพเสรีภาพพื้นฐาน
การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมความ ยุติธรรมทางสังคม
(ญ)
การยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ
รวมถึงกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่รัฐสมาชิกอาเซียนยอมรับ
(ฎ)
การละเว้นจากการมีส่วนร่วมในนโยบายหรือกิจกรรมใดๆ รวมถึงการใช้ดินแดนของตน ซึ่งดำเนินการโดยรัฐสมาชิกอาเซียนหรือรัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียนหรือผู้กระทำที่ไม่ใช่รัฐใดๆ
ซึ่งคุกคามอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน หรือเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐสมาชิกอาเซียน
(ฏ) การเคารพในวัฒนธรรม ภาษาและศาสนาที่แตกต่างของประชาชนอาเซียน
โดยเน้น คุณค่าร่วมกันของประชาชนอาเซียนด้วยจิตวิญญาณของเอกภาพในความหลากหลาย
(ฐ) ความเป็นศูนย์รวมของอาเซียนในความสัมพันธ์ภายนอกทางการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยคงไว้ซึ่งความมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน การมองไปภายนอก
การไม่ ปิดกั้นและการไม่เลือกปฏิบัติ
และ
(ฑ) การยึดมั่นในกฎการค้าพหุภาคีและระบอบของอาเซียนซึ่งมีกฎเป็นพื้นฐาน
สำหรับการปฏิบัติตามข้อผูกพันทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
และการลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไปสู่การขจัดอุปสรรคทั้งปวงต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
ในระบบเศรษฐกิจซึ่งขับเคลื่อนโดยตลาด
หมวดที่ 2
สภาพบุคคลตามกฎหมาย
ข้อ 3 สภาพบุคคลตามกฎหมายของอาเซียน
อาเซียน
ในฐานะองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาล ได้รับสภาพบุคคลตามกฎหมายโดยกฎบัตรนี้
หมวดที่ 3
สมาชิกภาพ
ข้อ 4 รัฐสมาชิก
1. รัฐสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม
ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย
สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย
และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ข้อ 5 สิทธิและพันธกรณี
1. ให้รัฐสมาชิกมีสิทธิและพันธกรณีที่เท่าเทียมกันภายใต้กฎบัตรนี้
2. ให้รัฐสมาชิกมีมาตรการที่จำเป็นทุกประการอันรวมถึงการออกกฎหมายภายในที่เหมาะสม
เพื่ออนุวัติบทบัญญัติของกฎบัตรนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีทั้งหมดของรัฐสมาชิก
3. ในกรณีการละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง
หรือการไม่ปฏิบัติตาม ให้การดำเนินการตามข้อ 20
ข้อ 6 การรับสมาชิกใหม่
1. กระบวนการในการสมัครและการรับสมาชิกของอาเซียนให้กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
2. การรับสมาชิกให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
(ก) ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(ข) การยอมรับโดยรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งปวง
(ค) การตกลงที่จะผูกพันและเคารพกฎบัตรนี้ และ
(ง) ความสามารถและความเต็มใจที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีของสมาชิกภาพ
3. การรับสมาชิกให้ตัดสินโดยฉันทามติโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
ตามข้อเสนอแนะของ คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
4. รัฐผู้สมัครจะได้รับเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อได้ลงนามภาคยานุวัติสารกฎบัตรนี้
หมวดที่ 4
องค์กร
ข้อ 7 ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
1. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนประกอบด้วยประมุขของรัฐ
หรือหัวหน้ารัฐบาลของรัฐสมาชิก
2. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน:
(ก) เป็นองค์กรสูงสุดในการกำหนดนโยบายของอาเซียน
(ข) พิจารณาหารือ ให้แนวนโยบาย และตัดสินใจในประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของอาเซียน
ในเรื่องสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของรัฐสมาชิก และในทุกประเด็นที่ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
คณะมนตรีประชาคมอาเซียน และองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขา
(ค) สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในแต่ละคณะมนตรีที่เกี่ยวข้องให้จัดการประชุมเฉพาะกิจระหว่างรัฐมนตรี
และหารือประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับอาเซียน ซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ
ทั้งนี้ ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนรับกฎการดำเนินการประชุมดังกล่าว
(ง) สนองตอบสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทบต่ออาเซียนโดยดำเนินมาตรการที่เหมาะสม
(จ) ตัดสินใจในเรื่องที่มีการนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนภายใต้หมวดที่
7 และ 8
(ฉ) อนุมัติการจัดตั้งและการยุบองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขาและสถาบันอื่นๆ
ของอาเซียน และ
(ช) แต่งตั้งเลขาธิการอาเซียน
ที่มีชั้นและสถานะเทียบเท่ารัฐมนตรีซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับความไว้วางใจและตามความพอใจของประมุขของรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล
ตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
3. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
(ก) จัดประชุมสองครั้งต่อปี และให้รัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพ
และ
(ข) เรียกประชุม
เมื่อมีความจำเป็น ในฐานะการประชุมพิเศษหรือเฉพาะกิจ โดยมีประธานการประชุมเป็นรัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียน
โดยจัดในสถานที่ที่รัฐสมาชิกอาเซียนจะตกลงกัน
ข้อ 8 คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
1. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
และประชุมกันอย่างน้อยสองครั้งต่อปี
2. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
(ก) เตรียมการประชุมของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
(ข) ประสานการอนุวัติความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
(ค)
ประสานงานกับคณะมนตรีประชาคมอาเซียนต่างๆ เพื่อเพิ่มความสอดคล้องกันของ นโยบาย ประสิทธิภาพ และความร่วมมือระหว่างกัน
(ง)
ประสานการเสนอรายงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียน ต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
(จ) พิจารณารายงานประจำปีของเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับงานของอาเซียน
(ฉ) พิจารณารายงานของเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับหน้าที่และการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและองค์กรอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้อง
(ช) เห็นชอบการแต่งตั้งและการพ้นจากหน้าที่ของรองเลขาธิการอาเซียน
ตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการอาเซียน และ
(ซ)
ปฏิบัติภารกิจอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรนี้ หรือหน้าที่อื่นที่อาจได้รับมอบหมายจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
3.
ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนได้รับการสนับสนุนโดยเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 9 คณะมนตรีประชาคมอาเซียน
1. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียน ประกอบด้วยคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
2. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะมีองค์กรระดับรัฐมนตรีเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องในขอบข่ายการดำเนินงานของตน
3. ให้รัฐสมาชิกแต่ละรัฐแต่งตั้งผู้แทนของรัฐตนสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะ
4. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของแต่ละเสาหลักของเสาหลักทั้งสามของประชาคมอาเซียน
ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะ
(ก) ทำให้แน่ใจว่ามีการอนุวัติการข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
(ข) ประสานการปฏิบัติงานของสาขาต่างๆ
ที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของตน และในประเด็นซึ่งคาบเกี่ยวกับคณะมนตรีประชาคมอื่นๆ
และ
(ค) เสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของตน
5. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะประชุมกันอย่างน้อยสองครั้งต่อปี
และมีประธานการประชุมเป็นรัฐมนตรีที่เหมาะสมจากรัฐสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียน
6. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่อาวุโสที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 10 องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
1. ให้องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
(ก) ดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรที่มีอยู่
(ข) อนุวัติการความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของแต่ละองค์กร
(ค)
เสริมสร้างความร่วมมือในสาขาของแต่ละองค์กรให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียนและการสร้างประชาคมอาเซียน
และ
(ง)
เสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีประชาคมอาเซียนของแต่ละองค์กร
2. องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาแต่ละองค์กรอาจมีเจ้าหน้าที่อาวุโสและองค์กรย่อยที่เกี่ยวข้องในขอบข่ายการดำเนินงานของตนตามที่ระบุในภาคผนวก
1 เพื่อดำเนินหน้าที่ของตน ภาคผนวกดังกล่าวอาจได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย โดยเลขาธิการอาเซียนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการของผู้แทนถาวร
โดยไม่ต้องใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขภายใต้กฎบัตรนี้
ข้อ 11 เลขาธิการอาเซียนและสำนักงานเลขาธิการอาเซียน
1. ให้เลขาธิการอาเซียนได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปีที่ไม่สามารถต่ออายุได้ และให้ได้รับการเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียน
บนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร โดยคำนึงตามสมควรถึงความซื่อสัตย์สุจริต
ความสามารถ รวมถึงประสบการณ์ทางวิชาชีพ และความเท่าเทียมกันทางเพศ
2. ให้เลขาธิการอาเซียน
(ก) ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่งระดับสูงนี้
โดยเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎบัตรฉบับนี้และตราสาร พิธีสาร และแนวปฏิบัติที่มีอยู่ของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
(ข) อำนวยความสะดวกและสอดส่องดูแลความคืบหน้าในการอนุวัติการความตกลงและ
ข้อตัดสินใจของอาเซียน และเสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับงานของอาเซียนต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
(ค) เข้าร่วมในการประชุมต่างๆ ของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
คณะมนตรีประชาคมอาเซียน คณะมนตรีประสานงานอาเซียน และองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
และการประชุมอาเซียนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
(ง) เสนอข้อคิดเห็นของอาเซียนและเข้าร่วมการประชุมกับภาคีภายนอกตามแนวนโยบายที่
ได้รับความเห็นชอบและตามอำนาจหน้าที่ ที่เลขาธิการอาเซียนได้รับมอบหมาย
และ
(จ) เสนอแนะการแต่งตั้งและการพ้นจากหน้าที่ของรองเลขาธิการอาเซียนต่อคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
เพื่อให้ความเห็นชอบ
3. ให้เลขาธิการอาเซียนเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของอาเซียนด้วย
4. ให้เลขาธิการอาเซียนได้รับการสนับสนุนจากรองเลขาธิการอาเซียนสี่คน
ซึ่งมีชั้นและสถานะของรัฐมนตรีช่วยว่าการ โดยให้รองเลขาธิการอาเซียนรับผิดชอบต่อเลขาธิการอาเซียนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
5. รองเลขาธิการอาเซียนทั้งสี่คนต้องมีสัญชาติที่แตกต่างจากเลขาธิการอาเซียนและมาจากรัฐสมาชิกที่แตกต่างกันสี่รัฐสมาชิกอาเซียน
6. ให้รองเลขาธิการอาเซียนสี่คน ประกอบด้วย
(ก) รองเลขาธิการอาเซียนสองคน
ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปีที่ไม่สามารถต่ออายุได้ ซึ่งได้รับเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิกอาเซียน
บนพื้นฐานของการหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร โดยคำนึงตามสมควรถึงความซื่อสัตย์สุจริต
คุณสมบัติ ความสามารถ ประสบการณ์ และความเท่าเทียมกันทางเพศ และ
(ข) รองเลขาธิการอาเซียนสองคน
ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี และอาจต่ออายุได้อีกสามปี ให้รองเลขาธิการอาเซียนสองคนนี้ได้รับการคัดเลือกโดยเปิดกว้างบนพื้นฐานของความรู้ความสามารถ
7. ให้สำนักเลขาธิการอาเซียนประกอบด้วยเลขาธิการอาเซียนและพนักงานตามที่จำเป็น
8. ให้เลขาธิการอาเซียนและพนักงาน
(ก) ยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดของความซื่อสัตย์สุจริต
ความมีประสิทธิภาพ และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
(ข) ไม่ขอหรือรับคำสั่งจากรัฐบาลหรือภาคีภายนอกอาเซียนใดๆ
และ
(ค) ละเว้นจากการดำเนินการใด
ซึ่งอาจมีผลสะท้อนถึงตำแหน่งหน้าที่ของตนในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักเลขาธิการอาเซียน
ซึ่งรับผิดชอบต่ออาเซียนเท่านั้น
9. รัฐสมาชิกอาเซียนแต่ละรัฐรับที่จะเคารพต่อความรับผิดชอบของเลขาธิการและพนักงาน
อันมีลักษณะเฉพาะของอาเซียน และจะไม่แสวงหาที่จะมีอิทธิพลต่อเลขาธิการอาเซียนและพนักงาน
ในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบของบุคคลเหล่านั้น
ข้อ12 คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน
1. ให้รัฐสมาชิกอาเซียนแต่ละรัฐแต่งตั้งผู้แทนถาวรประจำอาเซียนหนึ่งคน
ในชั้นเอกอัครราชทูตที่มีถิ่นพำนัก ณ กรุงจาการ์ตา
2. ผู้แทนถาวรประกอบรวมกันเป็นคณะกรรมการผู้แทนถาวร
ซึ่งต้อง
(ก) สนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
(ข) ประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ
และองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาอื่นๆ
(ค) ติดต่อประสานงานกับเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับงานของตน
(ง) อำนวยความสะดวกความร่วมมือของอาเซียนกับหุ้นส่วนภายนอก
และ
(จ) ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ที่อาจกำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
ข้อ 13 สำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ
ให้รัฐสมาชิกแต่ละรัฐจัดตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติ
ซึ่งต้อง
(ก) ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลางแห่งชาติ
(ข) เป็นหน่วยงานระดับชาติ
ซึ่งเก็บรักษาข้อสนเทศในเรื่องทั้งปวงเกี่ยวกับอาเซียน
(ค) ประสานงานระดับชาติเกี่ยวกับการอนุวัติการข้อตัดสินใจของอาเซียน
(ง) ประสานงานและสนับสนุนการเตรียมการระดับชาติของการประชุมอาเซียน
(จ) ส่งเสริมอัตลักษณ์และความสำนึกเกี่ยวกับอาเซียนในระดับชาติ
และ
(ฉ) มีส่วนร่วมสร้างประชาคมอาเซียน
ข้อ 14 องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน
1. โดยสอดคล้องกับความมุ่งประสงค์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
ให้อาเซียนจัดตั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้น
2. องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนนี้ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ซึ่งจะกำหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
ข้อ 15 มูลนิธิอาเซียน
1. ให้มูลนิธิอาเซียนสนับสนุนเลขาธิการอาเซียนและดำเนินการร่วมกับองค์กรของอาเซียนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน
โดยการส่งเสริมความสำนึกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของอาเซียน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน
และการดำเนินการร่วมกันที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ
และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในอาเซียน
2. ให้มูลนิธิอาเซียนรับผิดชอบต่อเลขาธิการอาเซียน
ผู้ซึ่งต้องเสนอรายงานของมูลนิธิฯ ต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนผ่านคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
หมวดที่ 5
องคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
ข้อ 16 องคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
1. อาเซียนอาจมีความสัมพันธ์กับองคภาวะซึ่งสนับสนุนกฎบัตรอาเซียน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความมุ่งประสงค์และหลักการของอาเซียน
องคภาวะที่มีความสัมพันธ์เหล่านี้ระบุอยู่ในภาคผนวก 2
2. ให้คณะกรรมการผู้แทนถาวรบัญญัติกฎการดำเนินงานและหลักเกณฑ์สำหรับการมีความสัมพันธ์ตามข้อเสนอแนะของเลขาธิการอาเซียน
3. ภาคผนวก 2 อาจได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยโดยเลขาธิการอาเซียนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
โดยไม่ต้องใช้บทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขภายใต้กฎบัตรนี้
หมวด 6
ความคุ้มกันและเอกสิทธิ
ข้อ 17
ความคุ้มกันและเอกสิทธิของอาเซียน
1. ให้อาเซียนได้รับความคุ้มกันและเอกสิทธิในดินแดนของรัฐสมาชิกที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุความมุ่งประสงค์ของอาเซียน
2. ความคุ้มกันและเอกสิทธิจะถูกกำหนดไว้ในความตกลงต่างหากระหว่างอาเซียนและรัฐสมาชิกเจ้าภาพ
ข้อ 18 ความคุ้มกันและเอกสิทธิของเลขาธิการอาเซียนและพนักงานของ
สำนักเลขาธิการอาเซียน
1. ให้เลขาธิการอาเซียนและพนักงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนที่เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ
อันเป็นทางการของอาเซียนหรือทำการแทนอาเซียนในรัฐสมาชิก
ได้รับความคุ้มกันและเอกสิทธิที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระของตน
2. ความคุ้มกันและเอกสิทธิภายใต้ข้อนี้จะถูกกำหนดไว้ในความตกลงต่างหากของอาเซียน
ข้อ 19 ความคุ้มกันและเอกสิทธิของผู้แทนถาวร
และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของอาเซียน
1. ให้ผู้แทนถาวรของรัฐสมาชิกประจำอาเซียนและเจ้าหน้าที่ของรัฐสมาชิกที่เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ
อันเป็นทางการของอาเซียนหรือทำการแทนอาเซียนในรัฐสมาชิก ได้รับความคุ้มกันและเอกสิทธิที่จำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
2. ให้ความคุ้มกันและเอกสิทธของผู้แทนถาวรและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของอาเซียนอยู่ภายใต้บังคับของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต
ค.ศ. 1961 หรือเป็นไปตามกฎหมายภายในของรัฐสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
หมวด 7
การตัดสินใจ
ข้อ 20 การปรึกษาหารือและฉันทามติ
1. โดยหลักการพื้นฐาน
ให้การตัดสินใจของอาเซียนอยู่บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือและ ฉันทามติ
2. หากไม่สามารถหาฉันทามติได้ ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนอาจตัดสินว่า
จะทำการตัดสินใจเฉพาะเรื่องนั้นอย่างไร
3. ไม่มีความใดในวรรค 1
และ 2 ของข้อนี้กระทบถึงวิธีการตัดสินใจที่ระบุอยู่ในตราสารทาง กฎหมายของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
4. ในกรณีที่มีการละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง
หรือการไม่ปฏิบัติตาม ให้เสนอเรื่องดังกล่าวไปยัง ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อการตัดสินใจ
ข้อ 21 การอนุวัติการและขั้นตอนการดำเนินงาน
1. ให้คณะมนตรีประชาคมอาเซียนแต่ละคณะบัญญัติกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานของตนเอง
2. ในการอนุวัติการตามข้อผูกพันด้านเศรษฐกิจ
อาจนำรูปแบบการเข้าร่วมแบบยืดหยุ่นรวมถึงรูปแบบอาเซียนที่ไม่รวมสมาชิกบางรัฐมาใช้ หากมีฉันทามติ
หมวด 8
การระงับข้อพิพาท
ข้อ 22 หลักการทั่วไป
1. รัฐสมาชิกต้องพยายามที่จะระงับข้อพิพาททั้งปวงอย่างสันติให้ทันท่วงที
โดยผ่านการสนทนา การปรึกษาหารือ และการเจรจา
2. ให้อาเซียนจัดตั้งและธำรงไว้ซึ่งกลไกการระงับข้อพิพาทในทุกสาขาความร่วมมือของอาเซียน
ข้อ 23 คนกลางที่น่าเชื่อถือ การประนีประนอม
และการไกล่เกลี่ย
1. รัฐสมาชิกที่เป็นคู่กรณีในข้อพิพาทอาจจะตกลงกันเมื่อใดก็ได้ที่จะใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ
การประนีประนอม หรือการไกล่เกลี่ย เพื่อระงับข้อพิพาทภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน
2. คู่กรณีในข้อพิพาทอาจร้องขอให้ประธานอาเซียน
หรือเลขาธิการอาเซียน ทำหน้าที่โดยตำแหน่งเป็นคนกลางที่น่าเชื่อถือ ประนีประนอม
หรือไกล่เกลี่ย
ข้อ 24 กลไกระงับข้อพิพาทตามตราสารเฉพาะ
1. ให้ระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับตราสารเฉพาะของอาเซียนโดยกลไกและขั้นตอนการดำเนินการที่กำหนดไว้ในตราสารนั้นๆ
2. ให้ระงับข้อพิพาทที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้ตราสารอาเซียนใดๆ
โดยสันติตามสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตามกฎการดำเนินงานของสนธิสัญญาดังกล่าว
3. ในกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะ
ให้ระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้ความตกลงทางเศรษฐกิจของอาเซียนตามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน
ข้อ 25 การจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาท
ในกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะ
ให้มีการจัดตั้งกลไกระงับข้อพิพาทที่เหมาะสม รวมถึงการอนุญาโตตุลาการ สำหรับข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการตีความหรือการใช้กฎบัตรนี้
และตราสารอาเซียนอื่นๆ
ข้อ 26 ข้อพิพาทที่มิอาจระงับได้
ในกรณีที่ยังคงระงับข้อพิพาทมิได้
ภายหลังการใช้บทบัญญัติก่อนหน้านี้ในหมวดนี้แล้ว
ให้เสนอข้อพิพาทนั้นไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียน เพื่อตัดสิน
ข้อ 27 การปฏิบัติตาม
1. เลขาธิการอาเซียนโดยการช่วยเหลือจากสำนักเลขาธิการอาเซียน
หรือ องค์กรอาเซียนอื่นๆ ที่ได้รับแต่งตั้ง ต้องสอดส่องดูแลการปฏิบัติตามผลการวินิจฉัย
ข้อเสนอแนะ หรือข้อตัดสินใจ ซึ่งเป็นผลจากกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน และเสนอรายงานไปยังที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
2. รัฐสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามผลการวินิจฉัย
ข้อเสนอแนะ หรือข้อตัดสินใจ ซึ่งเป็นผลจากกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียน
อาจส่งเรื่องให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อตัดสิน
ข้อ 28 บทบัญญัติของกฎบัตรสหประชาชาติ
และกระบวนการระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
หากมิได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่นในกฎบัตรนี้
รัฐสมาชิกยังคงไว้ซึ่งสิทธิที่จะใช้วิธีการระงับข้อพิพาทอย่างสันติที่ระบุไว้ในข้อ
33(1)
ของกฎบัตรสหประชาชาติ หรือตราสารกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ที่รัฐสมาชิกคู่พิพาทเป็นภาคี
หมวด 9
งบประมาณและการเงิน
ข้อ 29
หลักการทั่วไป
1. อาเซียนต้องกำหนดกฎและขั้นตอนการดำเนินงานทางการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
2. อาเซียนต้องปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการทางการเงินที่ดีและระเบียบวินัยด้านงบประมาณ
3. บัญชีการเงินต้องได้รับการตรวจสอบภายในและภายนอก
ข้อ 30 งบประมาณสำหรับการดำเนินงานและการเงินของสำนักเลขาธิการอาเซียน
1. สำนักเลขาธิการอาเซียนต้องได้รับเงินที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ
2. งบประมาณสำหรับการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียนต้องมาจากรัฐสมาชิกอาเซียนโดยค่าบำรุงประจำปีรัฐละเท่าๆ
กัน ซึ่งจะต้องส่งให้ทันตามกำหนด
3. เลขาธิการต้องเตรียมงบประมาณสำหรับการดำเนินงานประจำปีของสำนักเลขาธิกาอาเซียนเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
4. สำนักเลขาธิการอาเซียนต้องปฏิบัติตามกฎและขั้นตอนการดำเนินงานทางการเงินที่กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
หมวด 10
การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน
ข้อ 31
ประธานอาเซียน
1. ให้หมุนเวียนตำแหน่งประธานอาเซียนทุกปี บนพื้นฐานของลำดับอักษรของชื่อภาษาอังกฤษของรัฐสมาชิก
2. ในหนึ่งปีปฏิทิน อาเซียนจะมีตำแหน่งประธานเดียว
โดยรัฐสมาชิกที่รับตำแหน่งประธานนั้นจะทำหน้าที่เป็นประธานของ
(ก) การประชุมสุดยอดอาเซียน
และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
(ข) คณะมนตรีประสานงานอาเซียน
(ค) คณะมนตรีประชาคมอาเซียนทั้งสามคณะ
(ง)
องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขาและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เกี่ยวข้อง ตามที่
เหมาะสม และ
(จ)
คณะกรรมการผู้แทนถาวร
ข้อ 32 บทบาทของประธานอาเซียน
รัฐสมาชิกที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนต้อง
(ก)
ส่งเสริมและเพิ่มพูนผลประโยชน์ และความเป็นอยู่ที่ดีของอาเซียนอย่างแข็งขัน รวมถึง
ความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการริเริ่มทางนโยบาย การประสานงาน ฉันทามติ
และความร่วมมือ
(ข) ทำให้แน่ใจถึงความเป็นศูนย์รวมของอาเซียน
(ค) ทำให้แน่ใจถึงการตอบสนองต่อประเด็นเร่งด่วนหรือสถานการณ์วิกฤติที่มีผลกระทบต่ออาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
รวมถึงเป็นคนกลางที่น่าเชื่อถือและจัดให้มีการจัดการอื่นเช่นว่า เพื่อสนองตอบข้อกังวลเหล่านี้โดยทันที
(ง) เป็นผู้แทนของอาเซียนในการเสริมสร้างและส่งเสริมความสัมพันธ์กับหุ้นส่วน
ภายนอกภูมิภาคให้ใกล้ชิดขึ้น และ
(จ)
ปฏิบัติภารกิจและหน้าที่อื่นที่อาจได้รับมอบหมาย
ข้อ 33 พิธีการและแนวปฏิบัติทางการทูต
อาเซียนและรัฐสมาชิกต้องยึดมั่นในพิธีการและแนวปฏิบัติทางการทูตที่มีอยู่ในการดำเนินกิจกรรมทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน
การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผู้แทนถาวร
ข้อ 34 ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน
ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน
คือ ภาษาอังกฤษ
หมวด 11
อัตลักษณ์และสัญลักษณ์
ข้อ 35 อัตลักษณ์ของอาเซียน
อาเซียนต้องส่งเสริมอัตลักษณ์ร่วมกันของตนและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในหมู่ประชาชนของตน
เพื่อให้บรรลุชะตา เป้าหมาย และคุณค่าร่วมกันของอาเซียน
ข้อ 36 คำขวัญของอาเซียน
คำขวัญของอาเซียน
คือ “วิสัยทัศน์เดียว อัตลักษณ์เดียว ประชาคมเดียว”
ข้อ 37 ธงอาเซียน
ให้ธงอาเซียนเป็นไปตามที่แสดงไว้ในภาคผนวก
3
ข้อ 38 ดวงตราอาเซียน
ให้ดวงตราอาเซียนเป็นไปตามที่แสดงไว้ในภาคผนวก
4
ข้อ 39 วันอาเซียน
ให้วันที่
8 สิงหาคม เป็นวันอาเซียน
ข้อ 40 เพลงประจำอาเซียน
ให้อาเซียนมีเพลงประจำอาเซียน
หมวด 12
ความสัมพันธ์ภายนอก
ข้อ
41:
การดำเนินความสัมพันธ์ภายนอก
1. อาเซียนต้องพัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตร และช่องทางเจรจา
ความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน กับนานาประเทศ
องค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
2. ความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียนต้องยึดมั่นในความมุ่งประสงค์และหลักการที่วางไว้ในกฎบัตรนี้
3. อาเซียนจะเป็นพลังขับเคลื่อนหลักในการจัดการภูมิภาคที่อาเซียนได้ริเริ่มขึ้น
และธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมของอาเซียนในความร่วมมือระดับภูมิภาคและการสร้างประชาคม
4. ในการดำเนินความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน
รัฐสมาชิกต้องประสานงานและพยายามพัฒนาท่าทีร่วมและดำเนินการร่วมกัน บนพื้นฐานของเอกภาพและความสามัคคี
5. ให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนกำหนดแนวนโยบายยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียนโดยการเสนอแนะของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
6. ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต้องทำให้แน่ใจว่าความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียนดำเนินไปอย่างเสมอต้นเสมอปลายและเป็นไปในทางที่สอดคล้องกัน
7. อาเซียนอาจสามารถทำความตกลงกับนานาประเทศ หรือองค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค
ระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ กระบวนการทำความตกลงดังกล่าวให้กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียนโดยการหารือกับคณะมนตรีประชาคมอาเซียน
ข้อ 42: ผู้ประสานงานกับคู่เจรจา
1. ในฐานะผู้ประสานงานประเทศ ให้รัฐสมาชิกผลัดกันรับผิดชอบในภาพรวมสำหรับการประสานงานและส่งเสริมผลประโยชน์ของอาเซียนในความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา
องค์การและสถาบันระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
2. ในความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนภายนอก นอกจากหน้าที่อื่นแล้ว
ให้ผู้ประสานงานประเทศ
(ก) เป็นผู้แทนอาเซียน
และเพิ่มพูนความสัมพันธ์ บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกันและความเสมอภาค
โดยสอดคล้องกับหลักการของอาเซียน
(ข)
เป็นประธานร่วมในการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างอาเซียนและหุ้นส่วนภายนอก และ
(ค)
รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามและองค์การระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 43: คณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามและองค์การระหว่างประเทศ
1. คณะกรรมการอาเซียนในประเทศที่สามอาจจัดตั้งขึ้นในประเทศที่มิใช่สมาชิกอาเซียน
ประกอบด้วยหัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตของรัฐสมาชิกอาเซียน
คณะกรรมการในลักษณะเดียวกันอาจจัดตั้งขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์การระหว่างประเทศต่างๆ
คณะกรรมการ เช่นว่าต้องส่งเสริมผลประโยชน์และอัตลักษณ์ของอาเซียนในประเทศเจ้าภาพและองค์การระหว่างประเทศ
2. ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกำหนดกฎการดำเนินงานของคณะกรรมการเช่นว่า
ข้อ 44: สถานภาพของภาคีภายนอก
1. ในการดำเนินความสัมพันธ์ภายนอกของอาเซียน
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอาจมอบสถานภาพอย่างเป็นทางการให้แก่ภาคีภายนอกในฐานะประเทศคู่เจรจา
ประเทศคู่เจรจาเฉพาะสาขา หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ผู้สังเกตการณ์พิเศษ ผู้ได้รับเชิญ
หรือสถานภาพอื่นที่อาจจัดตั้งขึ้นต่อไป
2. ภาคีภายนอกอาจได้รับการเชิญให้เข้าร่วมการประชุมหรือกิจกรรมความร่วมมือโดยมิต้องกำหนดให้สถานภาพอย่างเป็นทางการใดๆ
ตามกฎการดำเนินงาน
ข้อ 45: ความสัมพันธ์กับระบบสหประชาชาติ
และองค์การและสถาบันระหว่างประเทศอื่น
1. อาเซียนอาจขอสถานภาพที่เหมาะสมกับระบบสหประชาชาติ
รวมทั้งกับองค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศอื่น
2. ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของอาเซียนในองค์การและสถาบันระดับอนุภูมิภาค
ระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศอื่น
ข้อ 46: การรับผู้แทนของรัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียนประจำอาเซียน
รัฐที่มิใช่สมาชิกอาเซียนและองค์การระหว่างประเทศในระดับรัฐบาลที่เกี่ยวข้องอาจแต่งตั้งและส่งเอกอัครราชทูตเป็นผู้แทนประจำอาเซียน
ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการรับผู้แทนเช่นว่า
หมวด 13
บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย
ข้อ 47: การลงนาม การให้สัตยาบัน
การเก็บรักษา และการมีผลใช้บังคับ
1. กฎบัตรนี้ต้องได้รับการลงนามโดยรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งหมด
2. กฎบัตรนี้ต้องได้รับการสัตยาบันจากรัฐสมาชิกอาเซียนทั้งหมดตามกระบวนการภายในของแต่ละรัฐ
3. ให้เก็บรักษาสัตยาบันสารไว้กับเลขาธิการอาเซียน
ซึ่งจะแจ้งให้รัฐสมาชิกทั้งหมดทราบถึงการมอบแต่ละฉบับโดยพลัน
4. กฎบัตรนี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบต่อจากวันที่มีการส่งมอบสัตยาบันสารฉบับที่สิบให้แก่เลขาธิการอาเซียน
ข้อ 48 การแก้ไข
1. รัฐสมาชิกใดๆ อาจเสนอข้อแก้ไขกฎบัตร
2. ข้อเสนอแก้ไขกฎบัตรต้องยื่นโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียนโดยฉันทามติต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อตัดสินใจ
3. ข้อแก้ไขกฎบัตรที่ได้ตกลงกันโดยฉันทามติโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียนต้องได้รับการสัตยาบันจากรัฐสมาชิกทั้งหมด
ตามข้อ 47
4. ข้อแก้ไขใดๆ จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบต่อจากวันที่มีการส่งมอบสัตยาบันสารฉบับสุดท้ายต่อเลขาธิการอาเซียน
ข้อ 49 อำนาจและหน้าที่และกฎการดำเนินงาน
นอกจากจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในกฎบัตรนี้
ให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียนกำหนดอำนาจหน้าที่และกฎการดำเนินงานและต้องทำให้แน่ใจว่าอำนาจหน้าที่และกฎว่าด้วยขั้นตอนการดำเนินงานมีความสอดคล้องกัน
ข้อ
50 การทบทวน
กฎบัตรนี้อาจได้รับการทบทวนห้าปีหลังจากที่มีผลใช้บังคับหรือตามที่ได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน
ข้อ
51 การตีความกฎบัตร
1. เมื่อรัฐสมาชิกใดๆ ร้องขอ
ให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนตีความกฎบัตรตามกฎการดำเนินงานที่กำหนดโดยคณะมนตรีประสานงานอาเซียน
2. ให้ระงับข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดจากการตีความกฎบัตรเป็นไปตามตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในหมวด
8
3. หัวข้อและชื่อที่ใช้ในกฎบัตรมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์สำหรับการอ้างอิงเท่านั้น
ข้อ
52 ความต่อเนื่องทางกฎหมาย
1. สนธิสัญญา อนุสัญญา ความตกลง ข้อตกลง ปฏิญญา พิธีสาร
และตราสารอาเซียนอื่นๆ ทั้งหมด ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วก่อนการมีผลใช้บังคับของกฎบัตรนี้
ให้มีผลใช้ต่อไป
2. ในกรณีที่เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างสิทธิและพันธกรณีของรัฐสมาชิกอาเซียนภายใต้ ตราสารดังกล่าวและกฎบัตรนี้
ให้ถือกฎบัตรเป็นสำคัญ
ข้อ
53 ต้นฉบับ
ให้เก็บรักษาต้นฉบับภาษาอังกฤษของกฎบัตรนี้ที่ลงนามแล้วแก่เลขาธิการอาเซียน
ซึ่งจะจัดทำสำเนาที่ได้รับการรับรองให้แก่รัฐสมาชิกแต่ละรัฐ
ข้อ
54 การจดทะเบียนกฎบัตรอาเซียน
ให้เลขาธิการอาเซียนจดทะเบียนกฎบัตรอาเซียนนี้กับสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ
ตามข้อ 102 วรรค 1 ของกฎบัตรสหประชาชาติ
ข้อ
55 สินทรัพย์ของอาเซียน
ให้บรรดาสินทรัพย์และกองทุนต่างๆ ขององค์การระบุไว้ในนามของอาเซียน
ทำ ณ สิงคโปร์ วันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007
ภาคผนวก 1
องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
1. ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน
-
คณะกรรมการประจำอาเซียน
-
เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการวางแผนการพัฒนา
2. คณะกรรมการเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
-
คณะกรรมการบริหารงานเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3. ที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียน
4. ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านกฎหมาย
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย
5. ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ
- ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยเอาชญากรรมข้ามชาติ
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยเรื่องยาเสพติด
- ที่ประชุมผู้อำนวยการ
กรมการตรวจคนเข้าเมือง และหัวหน้ากองการกงสุล ของกระทรวงต่างประเทศ
6. ที่ประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-
แปซิฟิก
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
II.
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
1. ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
-
คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
- ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน
2. คณะกรรมการเขตการค้าเสรีอาเซียน
3. คณะกรรมาธิการเขตการลงทุนอาเซียน
4. ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านการคลังอาเซียน
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารกลางและกระทรวงการคลังอาเซียน
- ที่ประชุมอธิบดีศุลกากรอาเซียน
5. ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านการเกษตรและป่าไม้อาเซียน
-ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐมนตรีด้านการเกษตรและป่าไม้อาเซียน
-เจ้าหน้าที่อาวุโ
สด้านป่าไม้อาเซียน
6. ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานอาเซียน
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านพลังงาน
7. ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านแร่ธาตุอาเซียน
- ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแร่ธาตุอาเซียน
8. ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
-
คณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน
9. ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศอาเซียน
- ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านโทรคมนาคมและสารสนเทศอาเซียน
- คณะกรรมการผู้ตรวจด้านโทรคมนาคมอาเซียน
10. ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านการขนส่งอาเซียน
-การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการขนส่ง
11. การประชุมรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวอาเซียน
- การประชุมองค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติอาเซียน
12. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอาเซียน-ลุ่มแม่น้ำโขง
- คณะกรรมการเตรียมการประชุมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอาเซียน-ลุ่มแม่น้ำโขง
- คณะกรรมการระดับสูงการคลัง
13. ศูนย์พลังงานอาเซียน
14. ศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว
III. ประชาคม
สังคม-วัฒนธรรมอาเซียน
1. ที่ประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสารนิเทศอาเซียน
2. ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ
-ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ
3. ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการศึกษา
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษา
4. ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านภัยพิบัติอาเซียน
-คณะกรรมการด้านภัยพิบัติอาเซียน
5. ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม
-เจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม
6. สมัชชารัฐภาคีต่อความตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน
-
คณะกรรมการของสมัชชารัฐภาคีต่อความตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษหมอกควันข้ามแดน
7. ที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาสาธารณสุข
8. ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านแรงงานอาเซียน
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงานอาเซียน
-
คณะกรรมการการปฏิบัติตามปฏิญญาอาเซียนเกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานอาเซียน
9. ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน
- ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจน
10. ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา
-
ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา
11. ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเยาวชน
- ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านเยาวชน
12. กรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยเรื่องข้าราชการพลเรือน
13. ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความความหลากหลายทางชีวภาพ
14. ศูนย์ประสานงาน
การจัดการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยพิบัติ
15. ศูนย์ประชาสัมพันธ์ด้านแผ่นดินไหวอาเซียน
16. ศูนย์พยากรณ์อากาศอาเซียน
17. เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน
ภาคผนวก
2
องคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
1. รัฐสภา
สมัชชารัฐสภาอาเซียน
2. องค์กรภาคธุรกิจ
ที่ประชุมสายการบินอาเซียน
สมาคมส่งเสริมสุขภาพประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมาคมยานยนต์แห่งอาเซียน
สมาคมธนาคารอาเซียน
สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน
ที่ประชุมทางด้านธุรกิจของอาเซียน
สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอาเซียน
สภาผู้ประกอบการธุรกิจเคมีอาเซียน
สมาพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งอาเซียน
สภาการอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อาเซียน
สภาการประกันภัยอาเซียน
สมาคมทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน
สมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศแห่งอาเซียน
สมาพันธ์อุตสาหกรรมเหล็กและแร่เหล็ก
ชมรมเภสัชแห่งอาเซียน
สมาคมการท่องเที่ยวประจำอาเซียน
สมาพันธ์แห่งสมาคมเศรษฐกิจอาเซียน
สมาพันธ์สภาผู้ส่งสินค้าทางเรืออาเซียน
สภาธุรกิจระหว่างสหรัฐ-อาเซียน
3. สถาบันวิชาการ
เครือข่ายสถาบันศึกษายุทธศาสตร์และนานาชาติระหว่างประเทศของอาเซียน
4. องค์กรภาคประชาสังคม
สถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์
วิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งอาเซียน
สถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีของอาเซียน
สมาคมห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์แห่งอาเซียน
สมาคมวางแผนและการเคหะแห่งอาเซียน
สมาคมนักรังสีวิทยาอาเซียน
สมาพันธ์หมากรุกอาเซียน
สมาพันธ์นายจ้างอาเซียน
สมาพันธ์องค์กรสตรีอาเซียน
สมาพันธ์ผู้ก่อสร้างอาเซียน
สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางอาเซียน
สภานิสิตเก่าญี่ปุ่นแห่งอาเซียน
สภาอาจารย์แห่งอาเซียน
สหพันธ์จิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตแห่งอาเซียน
สหพันธ์นักบัญชีอาเซียน
สหพันธ์ผู้รับเหมาวิศวกรรมไฟฟ้าแห่งกลุ่มประเทศอาเซียน
สหพันธ์องค์กรวิศวกรรมแห่งอาเซียน
สหพันธ์สโมสรการบินแห่งอาเซียน
สมาพันธ์สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าอาเซียน
สหพันธ์มูลนิธิโรคหัวใจแห่งอาเซียน
สหพันธ์รางวัดและสำรวจที่ดินแห่งอาเซียน
สหพันธ์สมาคมเหมืองแร่แห่งอาเซียน
สหพันธ์การประมงแห่งอาเซียน
สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน
สมาคมผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมป่าไม้แห่งอาเซียน
สมาคมนักศึกษาวนศาสตร์แห่งอาเซียน
สมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมแห่งอาเซียน
สภาว่าวแห่งอาเซียน
สมาคมกฎหมายแห่งอาเซียน
สมาคมนักศึกษากฎหมายแห่งอาเซียน
สมาคมอุตสาหกรรมดนตรีแห่งอาเซียน
สมาคมศัลยกรรมทางประสาทแห่งอาเซียน
สมาพันธ์องค์กรเอกชนว่าด้วยผู้สูงอายุแห่งอาเซียน
องค์กรเอกชนเพื่อการป้องกันการใช้ยาเสพติดและสารเสพติดแห่งอาเซียน
กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันแห่งอาเซียน
สมาคมศัลยกรรมกระดูกแห่งอาเซียน
สหพันธ์กุมารแพทย์แห่งอาเซียน
สหพันธ์กีฬาคนพิการแห่งอาเซียน
สมาคมท่าเรืออาเซียน
สมาคมโรคธาลัสซีเมีย
สมาคมผู้ประเมินราคาแห่งอาเซียน
สมาคมผู้ผลิตน้ำมันพืชแห่งอาเซียน
หุ้นส่วนเอเชียเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชนบทเอเชีย
คณะกรรมการความร่วมมือด้านเยาวชนอาเซียน
สหพันธ์ที่ปรึกษาด้านวิศวกรแห่งอาเซียน
สหพันธ์องค์กรประชาสัมพันธ์แห่งอาเซียน
สหพันธ์สมาคมเจ้าของเรืออาเซียน
คณะกรรมการสมาคมแพทย์แห่งชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สมาคมโรคไขข้ออักเสบแห่งอาเซียน
สถาบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการศึกษาและชุมชน
มูลนิธิโครงการแลกเปลี่ยนระดับภูมิภาคว่าด้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
สมาพันธ์ทหารผ่านศึกของประเทศอาเซียน
5. กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ
ในอาเซียน
ที่ประชุมอธิบดีกรมตำรวจอาเซียน
สหพันธ์สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอาหารแห่งอาเซียน
ศูนย์การพัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะทำงานว่าด้วยกลไกสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียน
__________
ภาคผนวก
3
ธงอาเซียน
ธงอาเซียนแสดงถึงเสถียรภาพ สันติภาพ ความสามัคคีและพลวัตของอาเซียน สีของธง ได้แก่ น้ำเงิน แดง ขาว และเหลือง ซึ่งแสดงถึงสีหลักในธงชาติของบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด
น้ำเงิน แสดงถึง
สันติภาพและเสถียรภาพ
แดง บ่งชี้
ความกล้าหาญและความก้าวหน้า
ขาว แสดง
ความบริสุทธ์
เหลือง เป็นสัญลักษณ์ของ ความเจริญรุ่งเรือง
รวงข้าวแสดงถึง
ความใฝ่ฝันของบรรดาผู้ก่อตั้งอาเซียนให้มีอาเซียนที่ประกอบด้วยบรรดาประเทศทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผูกพันกันอย่างมีมิตรภาพและเป็นหนึ่งเดียว
วงกลม แสดงถึง
เอกภาพของอาเซียน
รายละเอียดของแถบสีที่ได้รับการรับรองสำหรับสีของธงอาเซียน
ได้แก่
น้ำเงิน: แถบสี 19-4053 TC
แดง: แถบสี 18-1655 TC
ขาว: แถบสี 11-4202 TC
เหลือง: แถบสี 13-0758 TC
สำหรับสีที่ใช้ในการพิมพ์
รายละเอียดของแถบสี (ยกเว้นสีขาว) ให้เป็นไปตามสีของดวงตราอาเซียน ได้แก่
น้ำเงิน: แถบสี 258 หรือสีชุด 100C 60M 0Y 6K
แดง: แถบสี แดง 032 หรือสีชุด0C 91M 87Y 0K
เหลือง: แถบสีชุดสีเหลืองหรือสีชุด
0C 0M 100Y 0K
สัดส่วนของความกว้างต่อความยาวของธงคือสองต่อสาม
และรายละเอียดของขนาดของธงมีดังนี้
ธงตั้งโต๊ะ: 10
ซม. x 15 ซม.
ธงประดับห้อง: 100
ซม. x 150 ซม.
ธงประจำรถ: 10
ซม. x 30 ซม.
ธงภาคสนาม: 200 ซม.
x ซม.
ภาคผนวก
4
ดวงตราอาเซียน
ดวงตราอาเซียนแสดงถึงเสถียรภาพ สันติภาพ ความสามัคคีและพลวัตของอาเซียน สีของธง ได้แก่ น้ำเงิน แดง ขาว และเหลือง ซึ่งแสดงถึงสีหลักในตราประจำชาติของบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด
น้ำเงิน แสดงถึง
สันติภาพและเสถียรภาพ
แดง บ่งชี้ ความกล้าหาญและความก้าวหน้า
ขาว แสดง
ความบริสุทธ์
เหลือง เป็นสัญลักษณ์ของ ความเจริญรุ่งเรือง
รวงข้าวแสดงถึง ความใฝ่ฝันของบรรดาผู้ก่อตั้งอาเซียนให้มีอาเซียนที่ประกอบด้วยบรรดาประเทศทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผูกพันกันอย่างมีมิตรภาพและเป็นหนึ่งเดียว
วงกลม แสดงถึง
เอกภาพของอาเซียน
รายละเอียดของแถบสีที่ได้รับการรับรองสำหรับสีของดวงตราอาเซียน
ได้แก่
น้ำเงิน: แถบสี 258
แดง: แถบสีแดง 032
เหลือง: แถบสีผสมแล้วสีเหลือง
สำหรับกระบวนการพิมพ์แบบสี่สี
รายละเอียดของสีจะเป็น
น้ำเงิน: 100C 60M 0Y 6K (100C 60M 0Y 10K)
แดง: 0C
91M 87Y 0K (0C
90M 90Y 0K)
เหลือง: 0C
0M 100Y 0K
ให้ใช้รายละเอียดที่อยู่ในวงเล็บเมื่อการวัดใดๆ
ของสีชุดนั้น ไม่สามารถทำได้
ในตัวจำลองแถบสีชุด ให้รายละเอียดเท่ากับ
น้ำเงิน: แถบสี
204-1
แดง: แถบสี 60-1
เหลือง: แถบสี
1-3
รูปแบบตัวอักษรที่ใช้สำหรับคำว่า “อาเซียน” ในดวงตราอาเซียนคือ Helvetica ตัวเล็ก หนา
- หน้าแรก
- ประเทศไทยของเรา รู้จักแล้วหรือยัง
- สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
- หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- เกษตรทฤษฎีใหม่(New Theory Farming)
- เกษตรธรรมชาติ
- แมลงหรือมนุษย์ที่จะครองโลก
- ลองจัดสวนแบบญี่ปุ่นดูสิ
- รูปจัดสวนให้บ้านสวยด้วยมือของเรา
- ความรู้เรื่องการจัดสวนให้บ้านสวยด้วยมือเรา
- ต้นไม้มงคลประจำวันเกิด เลือกปลูกให้เหมาะสมเป็นสิริมงคลต่อตนเอง
- โลกร้อนเกิดจากฝีมือของใคร
- แบบทดสอบ pre o-net วิชาการงานอาชีพ ม.3 ปี 54
- รวมข้อสอบGAT-PAT;O-NET ม.3-ม.6
- รวมภาพกิจกรรมโรงเรียนวังบ่อวิทยา
- ค่ายเยาวชนโตโยต้าลดเมืองร้อนด้วยมือเรา ปีที่8
- คำแปลกฏบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
- CARTOON ASEAN VIDEO
- Asean musicroom
- enjoy the videos
- ความรู้เรื่องข้าว
- ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น
- plant diseases(โรคพืช)
- Bio glossary(อภิธานศัพท์ชีวภาพ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น